ศาล รธน. ยกคำร้องจำนำข้าว

ข่าวสด 12 ตุลาคม 2555 >>>


ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ (10 ต.ค.) ยกคำร้องคัดค้านโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจที่จะพิจารณา และผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ
คำร้องดังกล่าวยื่นโดย นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมด้วยคณาจารย์บางส่วนจากนิด้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักศึกษา ที่ร่วมลงชื่อ 146 คน ยื่นร้องไว้เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2555 ผ่านทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญขอให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตามกฎหมาย เพื่อยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลอันเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ
โดยเห็นว่าโครงการจำนำข้าวขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 และ 84 (1) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบพบว่าคำร้องยังไม่ครบถ้วน ต่อมานายอดิศร์ยื่นคำร้องเพิ่มเติมอีกครั้งระบุในคำร้องครั้งนี้ว่าเป็นการยื่นตามช่องทางมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ
ผู้ร้องเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจากเกษตรกรหรือผู้ที่มีสิทธิ์ ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้วและจะเริ่มรอบใหม่ ได้ใช้เงินไปแล้วจำนวนหลายแสนล้านบาทและมีต้นทุนอีกมากมาย
ปกติหลักของการจำนำ คือการให้ราคาจำนำที่ต่ำกว่าราคาตลาดในระดับที่เหมาะสม เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรมาไถ่ถอนเพื่อนำไปขายในตลาดเมื่อข้าวราคาสูงขึ้น
แต่โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจงใจตั้งราคารับจำนำให้สูงกว่าราคาตลาดอย่างชัดแจ้ง โดยมิได้มีเจตจำนงให้เกษตรกรไถ่ถอนคืนแต่อย่างใด
การกระทำของรัฐบาลจึงมิใช่การรับจำนำ แต่กลายเป็นพ่อค้าข้าวรายใหญ่ที่สุดรายเดียวของประเทศ อันเป็นการผูกขาดตัดตอน ทำลายระบบการค้าของไทย และส่งผลต่อระบบการผลิตข้าวที่บิดเบือนกลไกการตลาด ซึ่งประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับไม่คุ้มกับทรัพยากรส่วนรวมของชาติที่เสียไป
การกระทำของรัฐบาลในโครงการดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 (1)
มติของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาชัดเจนในข้อกฎหมาย คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องใดไว้พิจารณาวินิจฉัยต้องมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้อำนาจไว้
คำร้องดังกล่าวเป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
ประกอบกับผู้ร้องยังมิใช่เป็นบุคคล ซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันสืบเนื่องมาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และมิใช่เป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรม นูญ คำร้องจึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 212
พิจารณาทีละประเด็น ที่ศาลเห็นว่าคำร้องขอให้ยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนั้น
รัฐธรรมนูญ ส่วนที่ 7 แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ มาตรา 84 (1) กำหนดไว้ว่า รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
โดยต้องยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจซึ่งมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะแข่งขันกับเอกชน
เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ การรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดการสาธารณูปโภค
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 84 (1) ตามที่ผู้ร้องได้ร้องมานั้นเป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัย
ในประเด็น ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เป็นไปตามมาตรา 212 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเห็นว่า ผู้ร้องยังมิใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพอันสืบเนื่องมาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และมิใช่การขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
คำร้องนี้จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรม นูญ มาตรา 212
ทั้งนี้ มาตรา 212 กำหนดว่า บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้
แต่การใช้สิทธิต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
โดยที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ
ศาลรัฐธรรมนูญจึงใช้ระเบียบว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แบ่งเป็น 9 ข้อ
(1) การวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมาย และร่างข้อบังคับการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติก่อนที่จะประกาศใช้บังคับมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
(2) การวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ประกาศใช้บังคับแล้วมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
(3) การวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเงื่อนไขการตรา พ.ร.ก. มิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
(4) การวินิจฉัยว่า ส.ส. ส.ว. หรือกรรมาธิการ กระทำ การใดเพื่อให้ตนมีส่วนโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายหรือไม่
(5) การวินิจฉัยปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป
(6) การวินิจฉัยมติหรือข้อบังคับของพรรคการเมือง การพิจารณาอุทธรณ์ของ ส.ส. และการวินิจฉัยกรณีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
(7) การวินิจฉัยสมาชิกภาพหรือคุณสมบัติของสมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี และกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
(8) การวินิจฉัยหนังสือสนธิสัญญาใดต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่
(9) อำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญไม่ได้ปิดประตูสำหรับการยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติใดขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
แต่สามารถทำได้ 2 ทาง คือ ยื่นร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามมาตรา 245 และ 257 (2)
มาตรา 245 กำหนดว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้
ตาม (1) ที่ระบุ บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
อีกช่องทางคือ มาตรา 257 (2) กำหนดว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชน และมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ