ศาลพิพากษายกฟ้อง "สุรภักดิ์ ภูไชยแสง"



ทีมข่าว นปช.
31 ตุลาคม 2555


วันนี้ (31 ต.ค. 55) ห้อง 804 ศาลอาญา (ถ.รัชดาภิเษก) ศาลนัดฟังคำพิพากษา สุรภักดิ์ ภูไชยแสง ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นเจ้าของ Facebook Page "เราจะครองแผ่นดินโดย....."
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่ปรากฎว่าจำเลยมีที่อยู่ E-Mail ของ Dorkao@hotmail.com และรหัส Facebook "เราจะครองแผ่นดินโดย....." แต่อย่างใด ส่วนรหัสผ่านที่โจทก์กล่าวอ้าง เป็นเพียงรหัสผ่านที่จำเลยเขียนให้เจ้าหน้าที่สำหรับเปิด Notebook ของจำเลยเท่านั้น นอกจากนี้รหัสผ่านของคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กของจำเลยยังเป็นรหัสผ่านเดียวกับ E-Mail และ Facebook ชื่อ surapach_phuchaisang@hotmail.com อีกด้วย
ตามปกติผู้เป็นเจ้าของ E-Mail และ Facebook  มักปกปิดรหัสผ่านเหล่านี้เป็นความลับ แต่ปรากฎว่า ภายหลังจำเลยถูกควบคุมตัว ยังมีบุคคลอื่นเข้าใช้งาน Dorkao@hotmail.com อยู่อีก การที่โจทก์นำสืบว่า E-Mail อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องใด และมีการใช้งาน จะสามารถบอกได้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นเจ้าของ Facebook นั้นๆก็เป็นเพียงความเข้าใจของพยานโจทก์เท่านั้น โดยไม่ปรากฎพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน
เมื่อตรวจแฟ้มข้อมูลบันทึกประวัติการใช้งาน E-Mail (InboxLight[2].htm) ซึ่งระบุถึงชื่อ Dorkao@hotmail.com และประวัติการใช้ Facebook (home[1].htm) ซึ่งระบุถึงชื่อ "เราจะครองแผ่นดินโดย....." แล้วนั้น พบว่า มีบันทึกอยู่ใน Notebook (จำนวน 2 เครื่อง) อย่างละ 1 รายการ โดยพบประวัติการใช้ E-Mail และ Facebook ในวันที่ 2 ม.ค. 54 และ 8 ม.ค. 54 ตามลำดับ ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนการเขียนข้อความหลายเดือน ซึ่งหากมีการใช้ Notebook เขียนข้อความดังกล่าวจริง ก็น่าจะตรวจพบประวัติการใช้งานในช่วงเวลาดังกล่าวบ้าง แต่กลับตรวจไม่พบประวัติการใช้งานแต่อย่างใด ทั้งยังไม่พบความเชื่อมโยงระหว่าง Dorkao@hotmail.com กับเจ้าของ Facebook "เราจะครองแผ่นดินโดย....." แต่อย่างใด
นอกจากนี้ข้อมูลที่แสดงรายละเอียดรหัสต้นฉบับนั้นยังสามารถคัดลอกจากคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นมาลงที่ Notebook ของจำเลยได้โดยง่าย โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 วินาที ซึ่งจำเลยสามารุนำสืบได้ว่า แฟ้มข้อมูล และรหัสต้นฉบับดังกล่าว เป็นแฟ้มข้อมูลที่ไม่อาจพบอยู่ในคอมพิวเตอร์ และไม่ได้เกิดจากการใช้อินเตอร์เน็ตแต่อย่างใด แต่เป็นแฟ้มข้อมูลที่ถูกทำขึ้นจากคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น แล้วนำมาวางไว้ในคอมพิวเตอร์ของจำเลย นอกจากนี้คุณสมบัติด้านเวลาของแฟ้มดังกล่าวยังมีความผิดปกติอีกด้วย
เมื่อพิจารณารายงานการตรวจพิสูจน์ Notebook ของจำเลยโดยละเอียดแล้วพบว่า มีความผิดปกติหลายประการดังที่จำเลยนำสืบจริง ข้อมูลดังกล่าวอาจถูกแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย ดังนั้นการวินิจฉัยพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นต้องพิจารณาถึงวิธีการใช้สร้าง, การเก็บรักษา และความครบถ้วนด้วย ซึ่งต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางการเก็บรักษาจะต้องพยายามรักษาข้อมูลต้นฉบับไว้ เพราะการเปิดคอมพิวเตอร์แต่ละครั้งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ข้อมูลอาจถูกเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย แต่ปรากฎว่าหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจยึด Notebook ของจำเลยไว้กลับมีผู้เปิดใช้งานในวันที่ 2 ก.ย. 54 เวลา 20.13.44 น. และวันที่ 7 ก.ย. 54 เวลา 21.12.07 น. ซึ่งเป็นวันก่อนที่จะถูกส่งไปตรวจพิสูจน์ จึงทำให้ข้อมูลที่ได้จากการตรวจพิสูจน์มีข้อบกพร่อง ทั้งยังไม่อาจรับฟังได้แน่ชัดว่า ข้อมูลใน Dorkao@hotmail.com และ Facebook Page "เราจะครองแผ่นดินโดย....." เกิดขึ้นจากการใช้งาน Notebook ของจำเลย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัย จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย

พิพากษายกฟ้อง