โลกวันนี้ 1 ตุลาคม 2555 >>>
ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) และกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลจัดเสวนา “รัฐประหาร 19 กันยากับอาชญากรรมโดยรัฐ กรณีการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53” เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีมุมมองรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) หลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกรณี “ชายชุดดำ” กับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และความรุนแรงต่างๆ ดังนี้
หลักฐาน-การให้น้ำหนัก-โครงเรื่อง
นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะตัวแทน ศปช. กล่าวว่า รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นสาเหตุที่นำมาสู่ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยรัฐประหารถูกให้ความชอบธรรมโดยนักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคมจำนวนมาก แม้ในช่วงที่เกิดเหตุจะไม่มีความรุนแรง แต่การต่อต้านหลังจากนั้นมีมาโดยตลอด เกิดกลุ่มอิสระต่างๆ และนำไปสู่การก่อตัวของกลุ่มเสื้อแดง ความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายนปี 2552 และเหตุการณ์ปี 2553 ก็เป็นการตอบโต้กับรัฐประหาร จึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นรัฐประหารที่สันติ
รายงานของ คอป. มีข้อมูลที่ดีและเป็นประโยชน์ไม่น้อย ข้อมูลเหล่านี้ควรถูกนำไปใช้ในชั้นศาล เพราะเป็นวิทยาศาสตร์ เช่น ข้อมูลแสดงวิถีกระสุนที่ทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตล้วนมาจากด้านที่ทหารตั้งอยู่ โดยเฉพาะกรณี 10 เมษายน 2553 ซึ่งพบว่าทหารตั้งอยู่บริเวณสะพานวันชาติ ยิงมายังถนนดินสอ พบรอยกระสุน 120 รอย โดยไม่พบกระสุนปืนที่ยิงไปในทิศทางสวนกัน หรือกรณีระบุว่าเวลาประมาณ 18.00 น. ยังพบทหารอยู่บนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมวนาราม ถือ M16 ใช้กระสุนจริงยิงเข้าไปที่วัด โดยพบรอยกระสุนบริเวณประตูทางออกและทางเข้าที่มีทิศทางการยิงจากรางรถไฟฟ้า ฯลฯ
นางพวงทองกล่าวว่า แต่น่าเสียดายที่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ ขณะเดียวกันในรายงานเน้นย้ำเรื่องชายชุดดำอย่างมาก ทั้งที่ คอป. ไม่สามารถอธิบายทุกเรื่องด้วยเรื่องชายชุดดำ ศปช. ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีชายชุดดำอยู่ โดยเฉพาะเหตุการณ์ 10 เมษายน แต่ ศปช. อธิบายความรุนแรงบริเวณนั้นแตกต่างจาก คอป. ขณะที่ คอป. สรุปว่าไม่มีหลักฐานว่าผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากชายชุดดำ ซึ่งเป็นการปฏิเสธข้อกล่าวหาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่ว่าชายชุดดำยิงใส่ผู้ชุมนุม เท่ากับข้อกล่าวหานี้ตกไปแล้ว คอป. ย้ำว่าชายชุดดำเป็นสาเหตุให้ทหารเสียชีวิต ขณะเดียวกันก็เห็นอกเห็นใจฝ่ายทหาร จากคำอธิบายที่ว่าการระดมยิงใส่ผู้ชุมนุมเพราะทหารระดับบังคับบัญชาเสียชีวิต ทำให้ทหารระดับล่างระดมยิงอย่างไร้การควบคุม
ในเหตุการณ์ 10 เมษายน ข้อสรุปสำคัญของ คอป. คือผู้ชุมนุมเสียชีวิตหลังชายชุดดำปรากฏกาย และชายชุดดำทำให้ทหารยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม แต่ ศปช. ยืนยันว่ามีผู้ชุมนุมเสียชีวิตก่อนชายชุดดำจะปรากฏตัว เช่น บุญจันทร์ ไหมประเสริฐ โดนกระสุนความเร็วสูงยิงที่ต้นขาเสียเลือดมากจนเสียชีวิตตั้งแต่ช่วงเย็น
“การปรากฏตัวของชายชุดดำเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องจับกุมดำเนินคดี ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ 10 เมษายนจำนวนมากอาจมองว่าชุดดำมาช่วย แต่จริงๆแล้วกลับสร้างปัญญาให้ขบวนการเสื้อแดงโดยรวม ทำให้สร้างความชอบธรรมว่าเสื้อแดงใช้ความรุนแรงและรัฐสามารถจัดการได้เต็มที่”
รายงาน คอป. อ้างชายชุดดำโดยอธิบายในทุกพื้นที่ที่เกิดเหตุ แต่เราเสนอว่ายกเว้น 10 เมษายนแล้ว ไม่มีหลักฐานภาพถ่ายหรือวิดีโอของชายชุดดำที่อื่นๆ จึงขอให้ คอป. เสนอหลักฐานเหล่านี้ให้ชัดเจน เพื่อให้ถูกตรวจสอบได้โดยประชาชนด้วย ที่สำคัญจะแยกแยะอย่างไร เพราะการ์ด นปช. หรือเจ้าหน้าที่จำนวนมากก็ใส่เสื้อดำ
แก้ตัวให้ ศอฉ.-อภิสิทธิ์
นางพวงทองกล่าวว่า ในขณะที่อ่านรายงาน คอป. พบว่ามีโครงเรื่องที่ชัดเจนเพื่ออธิบายว่ารัฐบาลและ ศอฉ. ห่วงใยผู้ชุมนุม โดยอ้างแถลงการณ์หรือคำให้สัมภาษณ์ของรัฐ ตามด้วยการเน้นย้ำเรื่องชายชุดดำประกอบการตายในทุกจุด การวางโครงแบบนี้ชี้ว่าชายชุดดำสร้างสถานการณ์ปั่นป่วนขึ้นจนเจ้าหน้าที่ต้องใช้กำลังอาวุธคุมสถานการณ์ การชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่ใช่สันติวิธี ขาดความชอบธรรม และเป็นสิทธิให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง เท่ากับ คอป. ไม่เห็นว่าความรุนแรงที่เกิดจากฝั่งผู้ชุมนุมเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ความรุนแรงของฝ่ายรัฐ แต่เห็นว่าความรุนแรงของฝ่ายรัฐเป็นการตอบโต้ผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น “นี่เป็นการเล่าเรื่องที่จะเป็นข้อแก้ตัวให้ ศอฉ. และรัฐบาลอภิสิทธิ์ในอนาคต”
นางพวงทองเสนอว่า คอป. ต้องคิดใหม่ว่าทำไมการปรากฏตัวของชายชุดดำทำให้เจ้าหน้าที่ยิงใส่ผู้ชุมนุมมือเปล่า อาสาสมัครกู้ชีพที่เสียชีวิต 6 คน มีความสัมพันธ์อย่างไรกับชายชุดดำ อาวุธของทหารมีกล้องส่องระยะไกลช่วยในการยิง ทำไมจึงเล็งไปที่ผู้ชุมนุม ต่อให้ผู้ชุมนุมบางคนมีอาวุธก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องติดตามจัดการกับผู้ชุมนุมรายนั้น ไม่ใช่นำมาเป็นข้ออ้างใช้ความรุนแรงจัดการกับคนทั้งหมด การมีอาวุธของบางคนไม่สามารถทำให้คนทั้งหมดเป็นผู้ก่อการร้ายไปด้วย แล้วสามารถใช้กระสุน 120,000 นัด ใช้กำลังพล 67,000 นาย เข้าจัดการ คอป. ต้องแสดงข้อมูล บทวิเคราะห์ที่ชัดเจนกว่านี้ เพื่อจะได้มีการพิสูจน์กันต่อไป
“คอป. อธิบายเรื่องนี้มาก แต่ไม่พยายามวิเคราะห์การตายของผู้ชุมนุมเป็นกรณี กลับสรุปความตายเป็นก้อน เป็นพื้นที่ ซึ่งเป็นวิธีการที่แตกต่างกับ ศปช. ที่มุ่งเน้นเป็นรายกรณีหากมีหลักฐาน เราไม่เหมารวมกันเป็นก้อน เราเชื่อว่าถ้า คอป. วิเคราะห์เป็นรายกรณีจะทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตอบโต้ชายชุดดำจนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตจำนวนมาก แต่เป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุตามอำเภอใจอย่างเข้าใจไม่ได้”
กรณีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ รายงาน คอป. ระบุว่าทหารเข้าถึงพื้นที่เวลาประมาณ 15.00 น. แล้วถอนกำลังเพราะมีการยิงเข้าใส่ทหาร แต่ภาพถ่ายปรากฏว่าทหารมาถึงสี่แยกราชประสงค์แล้ว มีนักข่าวติดตามด้วย เจอคุณผุสดี งามขำ (คนเสื้อแดงคนสุดท้าย) ซึ่งนั่งอยู่ไม่ไปไหน ทหารก็พาเดินออกจากพื้นที่ คุณผุสดีเคยให้สัมภาษณ์ว่าระหว่างที่ทหารเดินออกไปกับนักข่าว เห็นรถดับเพลิงจอดอยู่ไม่ไกล แต่กลับไม่เข้าไปดับเพลิงที่กำลังไหม้ ส่วนนี้ชี้ว่าทหารคุมพื้นที่หมดแล้ว เราไม่ได้บอกว่าทหารเผา แต่การบอกว่าทหารเข้าไม่ถึงนั้นมีการตรวจสอบหรือไม่
วิธีการนำเสนอของ คอป. ที่ว่า
1. ในรายงานมีการกล่าวถึงภาพถ่าย วิดีโอ แต่กลับไม่ปรากฏภาพถ่าย วิดีโอในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญ
2. การสัมภาษณ์จำนวนมากเพิ่งกระทำ 2-3 เดือนก่อน คอป. หมดอายุการทำงาน หรือทำในราวเดือนมิถุนายน ซึ่งในจำนวนนั้นมีรายสำคัญอยู่หลายราย เช่น ข้อมูลที่สัมภาษณ์ผู้ดูแลบ้านโบราณตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยาแล้วนำไปสู่ข้อสรุปว่าเชื่อว่าชายชุดดำโยนระเบิดเข้าใส่กองบัญชาการทหาร รายงานที่ซับซ้อนขนาดนี้ เพิ่งได้ข้อมูลสดๆร้อนๆ สามารถทำได้จริงหรือ หรือเอาข้อมูลมาใส่ในโครงเรื่องที่วางไว้แล้ว
ไม่ระบุทหารใช้กำลังเกินกว่าเหตุ
คอป. ชี้ว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง โดยอธิบายว่ารัฐบาล ศอฉ. พยายามระมัดระวัง ขณะที่ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง ต่อสู้ขัดขวาง ประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ ยึดอาวุธ ยึดรถสายพานลำเลียงถอดเป็นชิ้นๆ เข้าข่ายความรุนแรง แกนนำปลุกเร้าสร้างความเกลียดชัง มีสิ่งเทียมอาวุธ เช่น ท่อนไม้ ตะไล พลุ ระเบิดขวด การสร้างป้อมด้วยไม้ไผ่ ในทางกลับกันอธิบายว่าการตายของผู้ชุมนุมเกิดจากความผิดพลาดในการประเมินสถานการณ์ของทหาร เพราะเจ้าหน้าที่เชื่อว่าผู้ชุมนุมจะใช้ความรุนแรง ในแง่นี้ไม่ใช่เราไม่เสียใจกับเจ้าหน้าที่ที่บาดเจ็บเสียชีวิต แต่สมดุลในการอธิบายความรุนแรงหายไป
นอกจากนี้ คอป. ยังละเลยการตัดสินใจส่งกำลังจำนวนมากและอาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุม คอป. ไม่สนใจว่า 10 เมษายน แม้ท้องฟ้ามืด ทหารก็ไม่ถอนกำลัง คอป. รับฟัง ศอฉ. โดยไม่มีการตรวจสอบ ศอฉ. บอกว่าได้สั่งให้ถอนกำลังตั้งแต่ 16.15 น. แล้ว คอป. ก็เชื่อ แต่ถ้า คอป. สัมภาษณ์ผู้ชุมนุมจะพบว่าก่อน 18.00 น. เจ้าหน้าที่ยังพยายามเสริมกำลังจุดต่างๆรุกเข้าหาผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โยนแก๊สจากเฮลิคอปเตอร์ต่อเนื่อง
ขณะที่บทสรุปของรายงาน คอป. เสนอว่ารัฐบาลและเจ้าหน้าที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยต้องขอโทษต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นที่ใช้มาตรการรุนแรงเกินกว่าเหตุ แต่ในบทวิเคราะห์ทั้งเล่มกลับไม่ชี้เลยว่ากรณีใดบ้างที่ทหารใช้กำลังเกินกว่าเหตุ
นางพวงทองย้ำว่า คอป. เห็นว่ารัฐบาลและ ศอฉ. แค่ประมาทเลินเล่อ ไม่ตรวจสอบการใช้กำลังเคร่งครัด ซึ่งเท่ากับโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่ระดับล่าง แต่ปกป้องผู้สั่งการ ซึ่งหากผู้สั่งการไม่ไร้สติสัมปชัญญะย่อมเล็งเห็นผลเสียหายต่อชีวิตประชาชน นี่คือสงครามในเมืองและปราบปรามขบวนการเสื้อแดง
“การที่ คอป. สรุปว่าผิดทั้งคู่ การใช้คำพูดทำนองนี้ตั้งใจทำให้ความรุนแรงของรัฐพร่าเลือน ทั้งที่เห็นได้ชัดว่าขนาดกำลังและอาวุธ 2 ฝ่ายไม่มีทางเทียบกันได้เลย ศปช. อยากฝากให้ คอป. ทบทวนว่าการสรุปว่าผิดพอกัน คอป. อาจดูมีวุฒิภาวะเป็นกลางในสายตาคนต่อต้านคนเสื้อแดงและองค์กรระหว่างประเทศที่อ่านภาษาไทยไม่ได้ แต่ความเป็นกลางของ คอป. แลกมาด้วยการละเลยการปกป้องศักดิ์ศรี สิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้ชุมนุมอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น”
นางพวงทองกล่าวถึงสันติวิธีของคนเสื้อแดงว่า เราทราบกันดีว่าไม่ได้เป็นไปตามทฤษฎีคานธี สำหรับคนเสื้อแดงมองว่ามาเรียกร้องให้ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่มีอาวุธใดๆ แต่ถ้ามีใครมาทำร้ายาก็ต้องป้องกันตัวเอง จะให้นั่งเฉยๆให้ทหารยิงคงไม่อาจทำได้ แต่ปัญหาคือนักสันติวิธีในประเทศนี้เอาแต่นั่งดูและคอยจับผิดมากกว่าจะช่วยกำหนดยุทธวิธีในการต่อสู้ว่าต้องระวังอะไร ซึ่ง นปช. ถูกวิจารณ์อย่างมากตลอดมา ในการชุมนุมที่ยืดเยื้อยาวนานแกนนำ นปช. ก็ได้สรุปบทเรียนและทราบดีว่ามันยากในแง่ผู้ชุมนุมและแกนนำย่อยที่มีความหลากหลาย ส่วนนี้แม้เป็นข้อดี แต่ขณะเดียวกันก็ควบคุมไม่ได้ ไม่มีความเด็ดขาด
นางพวงทองกล่าวสรุปว่า มีหลายเรื่องที่เราน้อมรับคำแนะนำของ คอป. เช่น การเอาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีโดยเคร่งครัด กองทัพไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่กองทัพไม่ได้ยืนโดดๆในสังคม เราต้องพูดถึงพลังการเมืองต่างๆที่อยู่ข้างหลังและผลักให้กองทัพออกมาทำรัฐประหารด้วย
ความจริงจากคลิป
ผศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตัวแทน ศปช. กล่าวถึงเหตุการณ์บริเวณราชปรารภว่า ขณะที่รายงานของ คอป. ระบุว่าความรุนแรงเริ่มเมื่อมีเอ็ม 79 ยิงในคืนวันที่ 14 พฤษภาคม และจากรายงานข่าวของไทยพีบีเอสที่ระบุว่าเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม เวลา 18.30 น. มีผู้ชุมนุมทุบกระจกรถบรรทุกทหารขณะขับผ่านบริเวณแยกดินแดง พร้อมบรรยายว่าเมื่อเสียงปืนดังขึ้นทำให้ทหารล้มลง แต่จากการตรวจสอบของ ศปช. พบว่าเป็นการยิงขึ้นฟ้าและแย่งปืนจากทหารเพื่อมอบให้ตำรวจ แต่ไม่มีสื่อใดรายงานข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้เกิดการตีความว่าคนเสื้อแดงยิงทหารล้มลงบาดเจ็บ ทั้งนี้ จากคำให้การในศาลยืนยันตรงกันว่าทหารล้มเพราะถูกดึงลงมาและร่างกายไม่มีรอยกระสุน
นอกจากนี้จากการเก็บข้อมูลของ ศปช. พบว่าก่อนเหตุการณ์ความวุ่นวายดังกล่าวมีผู้โดยสารรถแท็กซี่ในบริเวณนั้นถูกยิงและได้รับบาดเจ็บ 1 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 รายคือ นายชัยยันต์ วรรณจักร อายุ 21 ปี ซึ่งทำงานในร้านอาหารญี่ปุ่นย่านสุขุมวิท ถูกยิงเสียชีวิตขณะขี่มอเตอร์ไซค์เพื่อกลับบ้านแถวอนุสาวรีย์ชัย นอกจากนี้ยังมีนายทิพเนตร เจียมพล ที่ใบมรณบัตรระบุเวลาเสียชีวิต 23.00 น. แต่คาดว่าเสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกันกับนายชัยยันต์
นอกจากนี้คืนวันที่ 14 พฤษภาคมยังมีอาสาสมัครกู้ภัยและผู้ไม่เกี่ยวข้องถูกยิงเสียชีวิต อาทิ นายบุญทิ้ง ปานศิลา อาสาสมัครกู้ภัยวชิรพยาบาล ซึ่งถูกยิงบริเวณปั๊มเชลล์จากการเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บ ทั้งที่มีป้ายวชิรพยาบาลชัดเจนและไม่มีอาวุธ ขณะที่บริเวณใกล้แอร์พอร์ตลิ้งค์ สื่อรายงานว่ามีรถตู้ นปช. ฝ่าด่านทหารเข้ามา ถูกยิงกระจกแตกรอบด้าน จากข้อมูลของ ศปช. พบว่านายสมร ไหมทอง ผู้ขับรถตู้ เพิ่งส่งผู้โดยสารต่างชาติที่โรงแรมแกรนด์เชอราตัน แต่ถูกทหารยิงกระหน่ำ อาจด้วยความเข้าใจว่าเป็น นปช. บุกและเพิ่งมีเอ็ม 79 ลงเมื่อ 2 ทุ่ม นอกจากนี้ยังมีนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ กับ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี ซึ่งออกมาดูเหตุการณ์และถูกลูกหลงจนเสียชีวิต โดยสรุปในวันที่ 14 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 17.30 น. มีผู้เสียชีวิต 11 ศพ ทั้งนี้ ไม่รวมผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก
เช้าวันที่ 15 พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตอีก 3 ราย เช่น กรณีเฌอ-สมาพันธ์ ศรีเทพ อายุ 17 ปี ซึ่งไม่มีอาวุธ มีพยานบอกว่าถูกยิงที่ศีรษะ ตัวหมุนและล้มลง เข้าใจว่าขณะเกิดเหตุสมาพันธ์ค่อยๆเข้าไปทางทหารเพื่อดูเหตุการณ์ ถาม คอป. ว่านี่คือการยั่วยุของคนเสื้อแดงหรือ
ตอนบ่ายมีอีก 3 ศพจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหาร เช่น กรณีชาญณรงค์ พลศรีลา ถูกยิงเสียชีวิต โดยในภาพมีเพียงยางรถยนต์กับหนังสติ๊ก ถามว่าในช่วงกลางวันแสกๆ ทหารที่มีกล้องติดปืนจะไม่เห็นหรือว่าเขาถืออะไร น่าประหลาดใจว่าผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่าทหารใช้อาวุธผลักดันผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าวออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย บ่ายวันเดียวกันยังมีนายธนากร ญาติของกำปั้น บาซู ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตขณะอยู่ในคอนโดฯเดอะคอมพลีท ชั้นที่ 24 เข้าใจว่ายื่นหน้าออกมาดูเหตุการณ์ วิถีกระสุนเข้าทางขวาออกทางซ้าย แปลว่ายิงมาจากทางทหาร ส่วนกำปั้นซึ่งจะเข้าไปช่วยเหลือก็ถูกกระสุนยิงเข้าที่แขน
ดังนั้น จะเห็นว่า ศอฉ. บิดเบือนความจริง สร้างข้อมูลเท็จ โดยอ้างว่ามีการยิงเอ็ม 79 ทหารจึงต้องใช้อาวุธ ทั้งที่ ศปช. พบว่ามีผู้เสียชีวิตก่อนหน้านั้น ขณะที่สื่อก็รายงานบิดเบือนหรือผิดพลาดโดยเจตนา โดยรายงานว่าเป็นการปะทะระหว่าง นปช. กับทหาร ทั้งที่อาวุธที่ นปช. ใช้คือหนังยาง ระเบิดเพลิง เมื่อทหารยิงมาก็ระบุว่า “กองกำลังไม่ทราบฝ่าย” มีคนใส่ชุดทหารก็รายงานว่า “แต่งกายคล้ายทหาร” ใช้คำว่า “ก่อความรุนแรง” “แดงเหิมบุกหนัก” และจากการที่ 19 คนที่เสียชีวิตบริเวณราชปรารภไม่มีอาวุธแม้แต่คนเดียว ยกเว้นชาญณรงค์ที่มีหนังสติ๊ก ถามว่าใครรับผิดชอบต่อการตายของคนไม่รู้อีโหน่อีเหน่เหล่านี้
อำนาจหว่านแห “จับ-ข่มขู่-ซ้อม”
เสาวลักษณ์ โพธิ์งาม ทีมงาน ศปช. กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมในการดำเนินคดีกับประชาชนว่า การจับกุมจำนวนมากเกิดขึ้นจากการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีเกือบ 2,000 คน เป็นผู้หญิงและเยาวชนอายุต่ำว่า 18 ปี อย่างละเกือบ 200 คน ในจำนวนนั้นมีเยาวชนที่ถูกข้อหารุนแรงมากคือวางเพลิงเผาเซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงคนต่างชาติ เช่น ลาว พม่า เขมร โดยมีชาวเขมรถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย แต่ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหาก่อการร้าย
ปัญหาการดำเนินคดีชั้นจับกุมและชั้นศาลพบว่าส่วนมากเกิดในกรุงเทพฯ โดยทหารจับกุมและแทรกแซงกระบวนการของพนักงานสอบสวนที่อยู่ประจำโรงพักในวันเกิดเหตุจำนวนมาก ส่วนในต่างจังหวัดมีการสนธิกำลังทหาร อส. ตำรวจ เกือบทั้งหมดถูกจับในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จากการเก็บข้อมูลพบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ทหารใช้วิธีซ้อมทรมาน บังคับข่มขู่ให้รับสารภาพ จำกัดสิทธิในการเจอทนาย
ดังนั้น จะเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างมาก ในขณะที่การส่งฟ้องนั้น อัยการดำเนินการรวดเร็ว จับเช้าฟ้องเย็น หรือฟ้องวันรุ่งขึ้นทันที โดยตำรวจใช้หลักฐานส่วนใหญ่เพียงบัตร นปช. สัญลักษณ์ นปช. หนังสติ๊ก ฯลฯ และอ้างว่าเปิดโอกาสเต็มที่ในการต่อสู้ชั้นศาล ขณะเดียวกันก็ไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหา ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการสู้คดี ส่วนในชั้นพิจารณาคดีของศาลพบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ยกฟ้อง โดยที่จำเลยติดคุกมาเกือบ 2 ปี หรือมีกรณีสั่งลงโทษโดยที่จำเลยติดคุกเกินกำหนดมานานนับปี
ข้อเสนอของ คอป. พูดถูกส่วนหนึ่งเกี่ยวกับระบบตุลาการ ระบบกฎหมายไทย ซึ่งมีปัญหาหมักหมมมานานและถูกนำมาใช้จนเกร่อในทางการเมือง จนประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ข้อเสนอคือให้ปรับปรุง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมซึ่งพูดลอยๆและผิวเผินโดยไม่มีความจริงใจ เพราะหากจริงใจในการเสนอจะต้องเชื่อมโยงกระบวนการยุติธรรมกับประชาชน เช่น มีสิทธิเลือกตั้งประธานศาลฎีกาและอัยการสูงสุด
เปิดเผยข้อมูลดิบทั้งหมด
นางสาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนจากคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า คอป. ถูกตั้งคำถามทั้งทัศนคติที่ปรากฏในรายงานและปัญหาเรื่องความมีส่วนได้เสีย เนื่องจากมีกรรมการในคณะอนุกรรมการชุดหาข้อเท็จจริงเคยอยู่ในกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งอาจส่งผลการเลือกเฟ้นประเด็นในการนำเสนอ และไม่ได้ข้อมูลจากผู้เสียหาย เพราะถือเป็นคู่ขัดแย้ง อาจจะในฐานะผู้สนับสนุน ตัวการร่วม หรือแม้แต่กองเชียร์
นอกจากนี้ยังพบว่า คอป. เทน้ำหนักให้กับข้อมูลจากภาครัฐ ทั้งระดับปฏิบัติการและสั่งการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องให้น้ำหนักพอๆกันกับข้อมูลฝั่งผู้เสียหายด้วย เพราะพบว่าข้อมูลฝ่ายประชาชนปรากฏน้อยมาก อีกทั้งข้อมูลจำนวนมากมาจากหนังสือพิมพ์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับงบประมาณจำนวนมากที่ได้ไป แต่มีข้อมูลบางส่วนที่ลึกซึ้งและเป็นประโยชน์ เช่น ข้อมูลจากตำรวจสหรัฐ
ส่วน ศปช. ทำรายงานออกมา 1,300 กว่าหน้า ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นข้อมูลดิบ แต่ในรายงานของ คอป. 300 กว่าหน้า มีการวิเคราะห์ ใส่ทัศนคติ ความคิดเห็น รวมถึงที่มาประมาณ 30 กว่าหน้า เหลือเนื้อหาจริงๆประมาณ 200 หน้า คำถามที่ต้องถามในฐานะประชาชนคือ ข้อมูลดิบที่นำมาวิเคราะห์อยู่ที่ไหน ส่วนนี้ไม่ปรากฏในรายงาน เป็นข้อมูลสาธารณะ และหลายส่วนมีความสำคัญมาก เช่น รายงานของตำรวจสหรัฐเกี่ยวกับการวิเคราะห์วิถีกระสุน ประชาชนควรเรียกร้องให้มีการเก็บข้อมูลหลักฐานเหล่านี้ไว้ในหอจดหมายเหตุ เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาและให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเปรียบเทียบ โดยหอจดหมายเหตุต้องมีการเก็บข้อมูลดิบ พยานหลักฐานของทุกฝ่าย ทุกคณะกรรมการ
การเลือกเน้นบางส่วนในรายงาน คอป. ช่วงแรกเกี่ยวกับรากเหง้าของปัญญาหาที่ระบุว่าเหตุการณ์ทั้งหลายเป็นวิวัฒนาการความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ ไล่ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ช่วงรัฐบาลทักษิณ เรื่อยมาจนปัจจุบัน จะเห็นได้ชัดเจนว่าจงใจให้น้ำหนักและให้รายละเอียดเฉพาะบางช่วงเวลาเท่านั้น เช่น ช่วงที่พูดเรื่องกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญไม่โปร่งใส่ก็อธิบายแต่คดีซุกหุ้น แต่หลังจากนั้นมีเหตุการณ์อื่นเรื่อยมาที่สะท้อนปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นคดียุบพรรค ปลดนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช กลับไม่มีการพูดถึง หรือกรณีการพูดเรื่องปิดสนามบินก็มีเพียงบรรทัดเดียว แต่กลับเน้นเรื่องการปิดการประชุมอาเซียนครึ่งค่อนหน้า หรือกรณี “ผังล้มเจ้า” ประมาณ 4-5 บรรทัด แต่ไม่สรุปว่าเป็น “กำมะลอ”
“ที่สำคัญ คอป. ไม่ได้พูดถึงวันบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ เป็นวันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการทำลายพยานหลักฐานสำคัญของคดี ในฐานะนักกฎหมาย การทำลายพยานหลักฐานเป็นเรื่องร้ายแรง และมีผลอย่างสำคัญในการเกิดข้อขัดแย้งเรื่องข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏ”
นางสาวตรีกล่าวว่า รายงานฉบับนี้ไม่พูดถึงจำนวนคดีตามมาตรา 112 ที่เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่คำเดียว และยังบอกว่าปัญหาหนึ่งที่เป็นรากเหง้าคือการยกสถาบันขึ้นอ้างเพื่อหาประโยชน์เข้าตัว แต่ คอป. ไม่เคยวิเคราะห์ถึงบทบาทและการแสดงออกของสถาบันแม้แต่คำเดียว ยกเรื่องความเข้าใจผิดต่อสถาบัน แต่ไม่เคยยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น กรณีการเสด็จฯไปงานศพเหยื่อเหตุการณ์ 7 ตุลาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
ประเด็นของชายชุดดำ มีข้อสังเกตว่าหลายท่านเชื่อว่าจากพยานหลักฐานมีชายชุดดำจริง แต่วันนี้เราไม่รู้ แม้แต่พนักงานสอบสวนก็ยังระบุไม่ได้ว่าชายชุดดำเป็นพวกไหน เป็นคนของใคร เพื่อความเป็นธรรม เราอาจบอกว่าพบชายชุดดำที่โน่นที่นี่ แต่การที่ คอป. เขียนว่ามีความสัมพันธ์กับผู้ชุมนุม แม้ คอป. จะไม่ฟันธงว่าเป็นพวกใคร แต่ลักษณะการเขียนแบบนั้นใครอ่านก็เห็น ส่งผลทางจิตวิทยาในการสืบคดีว่าคนเสื้อแดงอาจตายจากชายชุดดำก็ได้ คนชุดดำอาจมีความสัมพันธ์กับคนเสื้อแดง แม้ความตายของประชาชนจะเกิดจากเจ้าพนักงาน แต่มีความเป็นไปได้ว่าเจ้าพนักงานป้องกันตัว
“คอป. เต็มไปด้วยนักกฎหมาย ไม่รู้หรือว่าเขียนแบบนี้จะให้ผลอะไรในทางกฎหมาย เขารู้ นักกฎหมายอ่านแล้วบอกได้เลยว่าเขารู้ มันชัดเจนกับผล 3 ประการดังกล่าว หากเป็นคดีเจ้าพนักงานมีโอกาสหลุดสูงมาก เพราะมีชายชุดดำเต็มไปหมด”
นางสาวตรีกล่าวว่า การแสวงหาข้อเท็จจริงก็ดี การวิเคราะห์ปัญหารากเหง้าก็ดี เกี่ยวข้องกับทัศนคติ หากจะหาข้อเท็จจริงว่าทำไมเกิดเหตุการณ์ สิ่งหนึ่งที่ คอป. ต้องทำ และต้องทำอย่างกว้างขวางด้วยคือ พยายามสัมภาษณ์ทุกฝ่ายให้มากที่สุด เพื่อจับให้ได้ว่าพวกเขามีทัศนคติอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายประชาชน แต่ไม่มีบทสัมภาษณ์ลักษณะนั้นเลย แต่เต็มไปด้วยทัศนคติของ คอป. เองค่อนข้างชัดเจนว่าเทไปทางไหน
สำหรับข้อเสนอของ คอป. นั้นเน้นการบรรยายความสามัคคีและนำมาอยู่เหนือความจริง ข้อเท็จจริง พร้อมระบุให้ยุติกระบวนการต่างๆที่จะสร้างความขัดแย้ง แม้จะเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อความเป็นธรรม “ตัวเขาเองเกลียดกลัวความขัดแย้ง แต่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องความขัดแย้ง ต่อรอง เรียกร้องสิทธิต่างๆ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม”
“สิทธิมนุษยชน” ในรายงาน คอป.
นางกฤตยา อาชวนิจกุล ศูนย์สิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รายงานของ คอป. ระบุในกรอบการทำงานว่าจะยึดหลักสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย นิติรัฐ และความปรองดองแห่งชาติ โดยจะดูว่ามาตรฐานการสลายการชุมนุม การใช้อาวุธ เป็นไปตามสมควรแก่เหตุหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าในรายงานไม่ได้ตอบคำถามนี้
รายงานของ คอป. เอาคำสั่ง ศอฉ. รวมถึงคำพูดของผู้ชุมนุมมาใส่ไว้ แต่กลับไม่วิเคราะห์ว่าเรื่องการสลายการชุมนุมถูกต้องตามมาตรฐานสากลหรือไม่ นอกจากนี้ยังเขียนถึงเหตุการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่หน่วยรบพิเศษยิงปะทะกับคนชุดดำ 2 คน ในหน้า 149 ซึ่ง คอป. อ้างอิงจากเอกสารการบรรยายของ คอป. เองว่าตามหลักวิชาการแล้วเป็นเรื่องที่รับไม่ได้
สิ่งที่ คอป. ขาดคือไม่ได้ใช้หลักสิทธิมนุษยชนเป็นตัวตั้ง คอป. เริ่มรายงานจากเหตุการณ์บุกยึดสถานีดาวเทียมไทยคมเมื่อ 9 เมษายน 2553 เป็นตัวตั้ง แต่ไม่วิเคราะห์การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ว่าเหมาะสมได้สัดส่วนหรือไม่ ทั้งยังอ้างอิงคำสั่งศาลแพ่งว่าการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่คำสั่งนี้ขัดหลักสากลและสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ คอป. เลือกเล่าเรื่องที่คิดว่าชอบและเห็นว่าถูก แต่ไม่เล่าตามเนื้อผ้า ทั้งที่สิ่งที่เกิดขึ้นตามหลักสากลทหารไม่ควรถูกนำมาใช้ควบคุมฝูงชนแต่แรก ศอฉ. ไม่มีสิทธินำอาวุธสงครามเข้ามาในที่ชุมนุมที่ไม่มีความรุนแรงแต่แรก แทนการชี้ว่าการทำเช่นนี้ของ ศอฉ. อาจทำให้เกิดการต่อต้านของผู้ชุมนุม คอป. กลับระบุในโทนว่าผู้ชุมนุมทำให้ทหารสูญเสียเกียรติและศักดิ์ศรีจากเหตุการณ์ที่ไทยคม ทำให้ทหารมีความชอบธรรมในการใช้กำลังเอาคืนได้
คอป. มีนักกฎหมายจำนวนมาก แต่กลับหลีกเลี่ยงวิเคราะห์ความเหมาะสมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การเหวี่ยงแหปิดสื่อ การตัดสินของรัฐบาลและ ศอฉ. ในการขอคืนพื้นที่ ความได้สัดส่วนของอาวุธที่ใช้กับจำนวนผู้ชุมนุม ซึ่งราวกับเป็นการทำสงคราม
ประเด็นสิทธิการชุมนุม คอป. ผลักความรับผิดชอบให้แกนนำและผู้ชุมนุม ส่วนตัวมองว่าหากมีการพูดให้ใช้ความรุนแรงก็สามารถดำเนินคดีอาญาปรกติได้ แต่ไม่ควรเหมารวมว่าชุมนุมไม่สงบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ คอป. ยังพูดถึงการยิงสกัดเจ้าหน้าที่กู้ชีพจนบาดเจ็บและเสียชีวิตน้อยมาก
กรณีการติดป้ายใช้กระสุนจริง รายงาน คอป. ระบุว่า ศอฉ. ปฏิเสธการติดป้ายนี้ แต่ข้อมูลของ ศปช. พบว่านายอภิสิทธิ์เคยให้สัมภาษณ์สื่อหนังสือพิมพ์ว่าติดป้ายเพราะไม่ต้องการให้คนไม่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่ โดยมีคำสั่งลับที่ภายหลังมีการนำมาเผยแพร่ระบุว่าแนวห้ามผ่านเด็ดขาด ทำเครื่องหมายให้ผู้ชุมนุมรับทราบ หากขัดขืนให้ดำเนินการได้ทันที ซึ่งเป็นคำสั่งปลายเปิดที่นำไปสู่ความรุนแรง แต่รายงานของ คอป. สรุปว่าการกระทำทั้งหลายเป็นการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่เอง
นางกฤตยาย้ำว่า การปรองดองจะเกิดได้เมื่อชดเชยให้เหยื่อที่สูญเสียแล้วเท่านั้น การปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้หากเรียกร้องการให้อภัยโดยคนที่จะได้ประโยชน์จากการให้อภัยไม่เคยสำนึกหรือยอมรับผิดแม้แต่น้อย