โหมไฟ "โกง" "หมัดเด็ด" พิชิต "ปู" จับตา ! รัฐบาลสวนกลับ

มติชน 21 ตุลาคม 2555 >>>




กระแสโหม โกงŽ ถูกปล่อยออกมาเป็นระยะในห้วงเวลานี้ กระแสหนึ่งโหมเข้าใส่กระทรวงพาณิชย์ที่มี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบในนโยบายจำนำข้าว
อีกกระแสหนึ่งโหมใส่นักการเมืองไม่ทราบฝ่าย โดยถูกจับผูกโยงกับเงินจำนวน 1.6 หมื่นล้านบาทที่ผ่านการไซฟ่อน
และหลังจากการประมูลระบบ 3 จี ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ไฟเขียวให้ 3 บริษัทยักษ์การสื่อสารผ่านการประมูลคลื่นไปได้โดยมีจำนวนเงินประมูลไม่แตกต่างจากราคาตั้งต้น 4,500 ล้านบาทเท่าใดนัก
กรณีดังกล่าวก็กำลังถูกดึงมาเป็นเรื่องการเมือง เป็นการเมืองที่จุดกระแสเพื่อโหมข่าวคราวการทุจริตคอร์รัปชั่น และสร้างความกังวลในนโยบายของรัฐบาล โดยเกรงว่า จะผิดพลาด
กระแสโกง ที่ถูกจุดชนวนขึ้นครั้งนี้มีส่วนเกี่ยวพันกับองค์กร หรือกลุ่มบุคคลซ้ำๆ กันจนน่ามองว่าเป็นกระแสทางการเมือง
ทั้งนี้ เพราะกระแสโหมโกงดังกล่าวมีผู้จุดประเด็นเป็นฝ่ายวิชาการ ผ่านทางทีดีอาร์ไอ นักวิชาการนิด้า กระแสโหมโกงมีผู้จุดประเด็นผ่านทางภาคีเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชั่น
กระแสโหมโกงถูกพรรคประชาธิปัตย์นำมาขยายผล และพัดพากระแสไปพาดพิงกับรัฐบาล หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล หากฝ่ายค้านพลาดเป้า จะมีสมาชิกวุฒิสภาออกมาเคลื่อนไหว
กรณีจำนำข้าวนั้น ไม่ต้องผูกโยงเรื่องราวมากนัก เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องตอบคำถามและชี้แจงว่านโยบายที่กำหนดขึ้นนั้นไม่ใช่นโยบายที่เอื้อต่อการโกงกิน
หลังจากมีการจุดกระแส มีนักวิชาการเคลื่อนไหวโดยยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่รับ ก็จะมีสมาชิกวุฒิสภาเคลื่อนไหวคัดค้านอีก
กรณีเงินไซฟ่อนนั้น มีความพยายามผูกโยงกับนักการเมืองที่เป็นกำลังสำคัญของฝ่ายรัฐบาล พยายามโยงใยกับ เจ๊ ด.Ž เพื่อปลุกให้สังคมเชื่อว่ามีการโกงกันขึ้น
รวมทั้งการใช้งบประมาณจำนวน 3.5 แสนล้านบาทในการป้องกันน้ำท่วม ซึ่งมี นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแลสำนักงบประมาณ เป็นแกนหลักในการดูแล ก็ถูกผูกโยงเข้าสู่กระแสโหมโกงด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คงรู้ว่ากระแสดังกล่าวหากจุดติด จะกลายเป็นหมัดเด็ดŽ ที่โค่นรัฐบาลลงได้
อย่าลืมว่า รัฐบาลไทยในระยะหลัง เหตุทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถล่มรัฐนาวาลงได้ ทั้งด้วยวิธีการยุบสภาและการรัฐประหาร ดังนั้น หากรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ ตกอยู่ในวังวนของกระแสโกง รัฐบาลก็ยากจะยืนหยัดอยู่ได้
อย่าลืมอีกว่า รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ในอดีต ก็มิอาจทานกระแสทุจริตคอร์รัปชั่นไปได้
ภาพลักษณ์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกโจมตีจนถึงปัจจุบันนี้ก็คือภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นจากกระแสโหมโกงเช่นนี้เหมือนกัน เพียงแต่ว่า กระแสโหมโกงในขณะนี้ยังจุดไม่ติด
เพราะข้อกล่าวหายังไม่มีข้อมูลพิสูจน์ ทั้งเรื่องการจำนำข้าว เรื่องการไซฟ่อนเงินจำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท รวมทั้งเรื่องการใช้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทในการป้องกันน้ำท่วม
เรื่องจำนำข้าวเพิ่งเริ่มต้น รัฐบาลยังมีโอกาสที่จะนำข้าวที่รับจำนำไปขายเพื่อนำเงินกลับคืนคลัง ขณะเดียวกัน รัฐบาลถูกโจมตีเรื่องการโกงการขายข้าวที่ได้รับจำนำ แต่ก็ถูกโจมตีว่าข้าวที่รับจำนำนั้นยังไม่มีการขาย ซึ่งเป็นการโจมตีในข้อมูลที่ตรงกันข้าม
ขณะเดียวกันข้อมูลที่กล่าวหาจากฝ่ายตรงกันข้ามก็แลดูเลื่อนลอย ไม่สามารถจับให้มั่นคั้นให้ตาย เรื่องจำนำข้าวจึงอยู่ในสถานการณ์ เวต แอนด์ ซี (wait and see)
เรื่องการไซฟ่อนเงินยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะเมื่อตรวจสอบข้อมูลที่มีการกล่าวอ้าง ทั้งจาก ป.ป.ช.ฮ่องกง ปปง.ฮ่องกง หรือแม้แต่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในไทย แต่ละหน่วยแต่ละฝ่ายล้วนออกมาปฏิเสธ ส่วนคนที่ออกมายืนยันก็ไม่มีข้อมูลยืนยัน
เช่นเดียวกับเรื่องการใช้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ที่ ณ ขณะนี้เงินยังไม่ได้ใช้จ่าย การประมูลยังไม่เริ่ม ความน่าเชื่อถือเรื่องโกงจึงไม่หนักแน่น
เวลานี้ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงยังไม่ซวนเซ เพราะประชาชนยังเชื่อมั่น ขณะที่ฝ่ายกล่าวหาอาจจะเพลี่ยงพล้ำ เพราะข้อมูลยังไม่น่าเชื่อ แต่เข้าใจว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งจะมาถึง กระแสที่โหมเอาไว้ จะถูกหยิบยกขึ้นไปกระหน่ำอีกครั้งในสภาผู้แทนราษฎรโดยเฉพาะกระแสที่โหมเรื่องโกง
อย่างไรก็ตาม จากการโหมกระแสนอกสภา น่าสังเกตว่า ชาวบ้านมีวิจารณญาณในการพิจารณาและตรึกตรองข่าวสารมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการพิจารณาว่าข่าวสารนั้นๆ สมควรเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด
ดังนั้น หากพรรคฝ่ายค้านมีหลักฐานเชื่อมโยงกระแสโกง หรือมี ข้อมูลŽ ชัดแจ้ง และชี้แจงกันในญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ประชาชนคล้อยตามได้ก็เท่ากับว่าพรรคฝ่ายค้านมี หมัดเด็ดŽ ต่อยใส่ฝ่ายรัฐบาล
แต่หากพรรคฝ่ายค้านไม่มี หมัดเด็ดŽ ไร้ข้อมูลยืนยันการทุจริตคอร์รัปชั่น พรรคฝ่ายค้านก็จะยืนอยู่บนจุดเสี่ยงทางการเมือง
บางที หมัดเด็ดŽที่เข้าใจว่าจะเป็นของฝ่ายค้าน อาจกลายเป็นของฝ่ายรัฐบาลที่จะน็อกเอาต์ฝ่ายค้านกลางสภาได้เช่นกัน