ซักฟอกไม่ใช่แค่เวทีป้ายสี

คมชัดลึก 28 ตุลาคม 2555 >>>




จู่ๆ ก็มีข่าวครึกโครมขึ้นมาเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรีหลังจากเข้ามาบริหารประเทศเข้าสู่ปีที่ 2 โดยให้เหตุผลเนื่องจากมีตำแหน่งว่างจากการลาออกของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย และนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมกระแสข่าวการปรับ ครม. ปู 3 ครั้งนี้มีการสลับเก้าอี้กันถึง 22 ตำแหน่ง ถือว่าเยอะทีเดียว และรายชื่อที่ปรากฏตามหน้าสื่อมวลชนคละเคล้ากันไประหว่างคนเก่า คนนอก และคนที่เคยถูกเว้นวรรคทางการเมือง ซึ่งก็มิได้สร้างความแปลกใจให้แก่คอการเมืองมากนัก
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงท่าทีว่าต้องการปรับ ครม. หลังการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งจะตรงกับช่วงปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนพอดี แต่ผ่านไปแค่ 2 สัปดาห์ นายกรัฐมนตรีก็ตัดสินใจปรับ ครม. อย่างฉับพลัน เหตุผลหนึ่งก็คงยากจะปฏิเสธว่าเป็นผลมาจากการตัดสินใจที่จะยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เนื่องเพราะรัฐมนตรีบางคนเคยตกเป็นเป้าหมายใหญ่ของการซักฟอกของพรรคฝ่ายค้าน ก็ย่อมทำให้มีผลต่อการปรับกระบวนทัพของผู้ซักฟอกอย่างพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้คงหนีไม่พ้นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ของแพง และความผิดพลาดในการกำหนดนโยบายบริหารประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการรับจำนำข้าว ซึ่งถึงแม้การปรับคณะรัฐมนตรีเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ไม่ควรมีการปรับเปลี่ยนบ่อยๆ เพราะนโยบายของแต่ละกระทรวง ย่อมขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นสำคัญ มิฉะนั้นงานอาจไม่ต่อเนื่อง ยิ่งมาปรับเอาตอนหน้าสิ่วหน้าขวานรู้ถึงเจตนาได้แจ่มชัดเช่นนี้ ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงจนยากปฏิเสธ ซึ่งตามจริงแล้วแม้จะมีการปรับรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายออกไป ก็ไม่ได้ทำให้การอภิปรายเป็นอุปสรรค เพราะเนื้อหาอยู่ที่ความผิดพลาดของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องรับผิดชอบ
แต่ที่หลายฝ่ายหวั่นใจก็คือนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ อาจจะไม่ได้อยู่ในเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เพราะกำหนดการที่ต้องเดินทางไปราชการต่างประเทศตลอดเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้เกิดเสียงครหาในเรื่องของการหลบหลีกที่จะถูกตั้งคำถามการบริหารงานที่ผิดพลาดไปได้ โดยเป็นการชี้แจงการทำงานจากรัฐมนตรีอื่นที่เข้ามารับผิดชอบงานแทน เหมือนกับการชี้แจงในการตอบกระทู้หรือญัตติต่างๆ ในสภา ที่นายกรัฐมนตรีมักจะอยู่ในอาการลอยตัวกับงานของสภาดังที่ผ่านๆมา
อย่าลืมว่าการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านในเทศกาลกฐินที่ทำได้ปีละครั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งการยื่นญัตติซักฟอกเป็นเกมการเมืองสำคัญของ “ฝ่ายค้าน” ที่ต้องหยิบยกเรื่องที่ฝ่ายค้านเห็นว่ารัฐบาลบริหารงานผิดพลาดมาตีแผ่ให้ประชาชนได้รับรู้กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งรัฐบาลก็ต้องชี้แจงตามข้อเท็จจริง ถือเป็นเวทีเปิดต่อสาธารณชนของทั้งสองฝ่าย ที่สำคัญการซักฟอกจะต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่จะรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงในทุกด้าน มิใช่ประโยชน์ในการใส่สีตีไข่หรือเป็นเวทีป้ายสีเพียงแค่หวังผลทางการเมืองเท่านั้น