เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลการสำรวจ หัวข้อ “ประเด็นสำคัญทางการเมืองในความรู้สึกนึกคิดของสาธารณชน” จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วไปใน 17 จังหวัดของประเทศ 2,171 ตัวอย่าง และกรุงเทพมหานคร 1,125 ตัวอย่าง
ประเด็นที่ 1 เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวและสิ่งที่อยากให้รัฐบาลดูแลเพิ่มเติม พบว่า ร้อยละ 87.6 ทราบว่ามีโครงการรับจำนำข้าว ร้อยละ 68.3 ระบุว่า ควรเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป ส่วนสิ่งที่อยากให้แก้ไขปรับปรุง และอยากให้รัฐบาลดูแลเพิ่มเติม ส่วนใหญ่ร้อยละ 91.9 ระบุว่า อยากให้รัฐบาลดูแลที่ดินทำกินของเกษตรกรให้ชาวนาเป็นผู้ถือครองมีกรรมสิทธิ์ เป็นของตนเอง รองลงมา ร้อยละ 90.3 ระบุให้หาทางป้องกันการหลอกลวงชาวนาและเกษตรกร ร้อยละ 90.1 ระบุว่า ให้หามาตรการดูแลรายได้ของเกษตรกรและชาวนาอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 89.0 ระบุหาช่องทางในการลดต้นทุนการผลิต การปลูกข้าว เช่น ราคาปุ๋ย ค่าขนส่ง เครื่องจักร และร้อยละ 84.3 ระบุว่า ทำด้วยความโปร่งใสในการรับจำนำข้าว ตามลำดับ
ประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ร้อยละ 54.2 ระบุว่า รับรู้ข่าวความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกรุงเทพมหานคร ในเรื่องการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ร้อยละ 89.5 อยากเห็นการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม ขณะที่ร้อยละ 64.4 กำลังกังวลกับปัญหาภัยน้ำท่วมในพื้นที่ที่พักอาศัยอยู่
ประเด็นที่ 3 เกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สอบถามปัญหาสำคัญมากที่สุดที่ต้องการให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ เร่งแก้ไขปัญหา พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 31.6 คือ ปัญหาน้ำท่วม รองลงมา ร้อยละ 27.3 ระบุว่า ปัญหาค่าครองชีพ ปากท้อง ร้อยละ 25.1 ระบุว่า ปัญหาจราจร ร้อยละ 13.4 ได้แก่ ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม
เมื่อถามความเห็นต่อกระแสข่าว พรรคเพื่อไทยอาจจะส่ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พบว่า ร้อยละ 63.6 เห็นด้วย ร้อยละ 59.2 ยังไม่ตัดสินใจ ว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนต่อไป แต่เมื่อถามว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ผู้ตอบแบบสอบถามจะเลือกใคร พบว่า ร้อยละ 41.5 จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในขณะที่ร้อยละ 30.2 จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ และร้อยละ 28.3 ไม่เลือกทั้งสองคนนี้
ประเด็นที่ 4 เกี่ยวกับความปรองดองของคนในชาติและเสถียรภาพของรัฐบาล ร้อยละ 96.7 ต้องการให้คณะกรรมการ คอป. ควรแจกแจงงบประมาณที่ใช้ในการทำรายงาน ให้สาธารณชนทราบอย่างโปร่งใส ร้อยละ 96.0 ระบุว่า ความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมืองจะเกิดขึ้น ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมืองและนายทุน
ร้อยละ 95.8 ยังเชื่อมั่นว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยจะนำไปสู่ความสงบสุขของบ้านเมืองได้ ถ้าฝ่ายการเมืองยึดหลักคุณธรรมและจริยธรรม ร้อยละ 87.2 ระบุความขัดแย้งของคนในชาติเกิดขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการแย่งชิงตำแหน่ง อำนาจ และผลประโยชน์ ขณะที่ร้อยละ 86.3 ระบุว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังรักกัน แต่ความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นเฉพาะกลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศ
นอกจากนี้ ผลสำรวจพบ 5 ปัจจัยสำคัญอันดับแรก ที่จะทำให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ได้ไม่นาน ได้แก่ ร้อยละ 88.3 ระบุปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น รองลงมาคือร้อยละ 85.2 ระบุว่า การไม่ใส่ใจต่อความเดือดร้อนและความรู้สึกของประชาชน ร้อยละ 80.6 ระบุว่า ความขัดแย้งรุนแรงของคนในชาติ ร้อยละ 76.9 ระบุความขัดแย้ง แย่งตำแหน่ง อำนาจและผลประโยชน์ภายในพรรคเพื่อไทยเอง และร้อยละ 74.2 ระบุการเลือกปฏิบัติของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ และผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 82.6 ยังให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป