กระทรวงการคลัง เตือน กสทช. ได้หรือไม่ ?‏

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
19 ตุลาคม 2555


จากกรณีที่กระทรวงการคลัง มีหนังสือเตือนว่าการจัดประมูล โดย กสทช. อาจมีลักษณะผิดกฎหมายนั้น ผมเห็นด้วยในหลักการว่า การตรวจสอบอย่างเข้มข้น ย่อมเป็นประโยชน์ต่อสังคมประชาธิปไตย หากการตรวจสอบนั้นอยู่ในกรอบของกฎหมาย
แต่การที่กระทรวงการคลังอ้าง "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549" นั้น มีปัญหาในทางกฎหมายว่า กสทช. ซึ่งเป็น "องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 จะต้องอยู่ภายใต้ "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี" หรือไม่ ?
แน่นอนว่า กสทช. ต้องอยู่ภายใต้ รัฐธรรมนูญ รวมทั้ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่หากพิจารณา "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี" ที่กระทรวงการคลังอ้างนั้นจะมีขอบเขตการใช้บังคับ ดังนี้
   "ข้อ 4  ...ให้การจัดหาพัสดุของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐที่อยู่ในสังกัด การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร*ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าว ที่กิจกรรม โครงการหรือการก่อสร้างมีมูลค่าตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไป ดำเนินการตามระเบียบนี้ ..."
ในความเห็นของผม นอกจากจะต้องดูว่าการประมูลคลื่นถือเป็น “การพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์” หรือไม่ ยังต้องพิจารณาอีกว่า กสทช. นั้นอยู่ภายใต้ "การกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร" หรือไม่
หาก กสทช. เป็น "องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ" ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 47 ซึ่งต้องอยู่ภายใต้ รัฐธรรมนูญ รวมทั้ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และไม่อยู่ภายใต้ "การกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร"  กสทช. ก็ย่อมไม่อยู่ภายใต้ "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี" ที่กระทรวงการคลังอ้าง
ส่วนหากการกระทำของ กสทช. จะผิดกฎหมายฉบับอื่นที่ใช้บังคับกับ กสทช. ก็ต้องตรวจสอบเต็มที่กันต่อไป