การที่ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ออกมาพูด "พวกผมที่เป็นทหารเก่าอยากให้ปฏิวัติมานานแล้ว" "หากผมมีกำลังทหารอยู่ในมือคงปฏิวัติไปนานแล้ว หากฝ่ายทหารเข้ามาร่วมชุมนุมและฟังข้อมูลจะเห็นด้วยกับแนวคิดของผม" มิได้เป็นเรื่องนอกเหนือความคาดหมาย
เพราะอย่างน้อยครั้งที่ดำรงยศเป็น พ.อ. เมื่อเดือนมีนาคม 2520 พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ก็เคยทำมาแล้ว ทำร่วมกับ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ทำร่วมกับ พ.ท.สนั่น ขจรประศาสน์
ขณะเดียวกัน หากดูรายชื่อขององค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ที่ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เป็นประธานคณะกรรมการก็จะมี นายปราโมทย์ นาครทรรพ เป็น กรรมการกิตติมศักดิ์ ก็จะมี นายไพศาล พืชมงคล เป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ บุคคลเหล่านี้ล้วนเข้าร่วมในการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มาแล้วอย่างแนบแน่น
ปมเงื่อนอยู่ที่ว่าจะ "จุดติด" หรือไม่ ประเด็นที่ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เสนอผ่านการเคลื่อนไหวของ "องค์การพิทักษ์สยาม" (อพส.) ดำเนินไปอย่างที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ สรุปอย่างรวบรัด นั่นก็คือ "ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศมีความรู้สึกอึดอัด"
อึดอัด 1 เป็นเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อึดอัด 1 เป็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาล อึดอัด 1 เป็นเรื่องการทนไม่ได้ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันเป็นหุ่นเชิดหรือโคลนนิ่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
คำถามอยู่ที่ว่า ที่ว่าเป็นประชาชน "ส่วนใหญ่" นั้นมีความจริงรองรับเพียงใด คำถามอยู่ที่ว่า ที่ว่ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นมีพยานหลักฐานหนาแน่นอย่างจริงจังหรือเสมอเป็นเพียงวาทกรรมกล่าวหา คำถามอยู่ที่ว่า ที่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นโคลนนิ่งนั้นเหตุใดจึงต้อง "โคลน"
การนัดชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ในวันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม ณ สนามม้านางเลิ้ง จึงเป็นเหมือนการเปิดเวที "หากมาไม่ถึง 1,000 ก็จะเลิก" เหมือนกับเป็นการท้าทาย
แท้จริงแล้วเป็นการทดสอบ เป็นการหยั่งเชิง เป็นการทดสอบว่าความอึดอัดใน 3 ประการนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือว่าคิดกันเอาเอง เป็น "ส่วนใหญ่" หรือเป็น "ส่วนหนึ่ง"
มีคนจำนวนหนึ่งมากด้วยความมั่นใจถึงกับลั่นวาจาว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น่าจะอยู่ได้ไม่เกินเดือนตุลาคม 2555
ไม่เพียงแต่ต้องพ้นจากตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" หากแต่มั่นใจในระนาบที่ลงความเห็นว่า ชะตากรรมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะดำเนินไปอย่างเดียวกับพี่ชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือ ไม่มีแผ่นดินจะอยู่
ทาง 1 อาจเป็นการประเมินจากสภาพที่ ส.ว. 67 คนยื่นคำร้องไปยังคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า การทำสัญญาขายข้าวจีทูจีจะต้องดำเนินไปตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญหรือไม่ นี่อีหรอบเดียวกับชะตากรรมที่ นายสมัคร สุนทรเวช เคยประสบเมื่อเดือนกันยายน 2551
ขณะเดียวกัน ทาง 1 กระแสกล่าวหาในเรื่องทุจริตตั้งแต่ไซฟ่อนเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท ทุจริตรถหรู ทุจริตน้ำท่วม ทุจริตจำนำข้าว ฯลฯ และล่าสุดคือการกวาดเอากรณีประมูล 3 จีให้เป็นไฟลัมเดียวกันกับรัฐบาล
เมื่อนำเอาข้อกล่าวหาในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพผนึกรวมมาอีก จึงประเมินว่าการชุมนุมในวันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม เท่ากับเป็นการตอกฝาโลงให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสมือนหนึ่ง "ไทยสปริง"
หากดูจากบาทก้าวล่าสุดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เร่งในการปรับ ครม. "ยิ่งลักษณ์ 3" ประหนึ่ง จะไม่รู้ร้อนหนาวกับข้อกล่าวหา ประหนึ่งจะตายใจและมั่นใจในความแข็งแกร่ง ไม่สนใจการชุมนุมที่สนามม้า ไม่สนใจการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน เดินหน้าบริหารบ้านเมือง