'เหวง' เผย 'ดร.โกร่ง' ประเทศไทยอาจเจอ 'ต้มยำกุ้ง'

Facebook นพ.เหวง โตจิราการ 27 ตุลาคม 2555 >>>


วันนี้ (27 ต.ค. 55) นพ.เหวง โตจิราการ โพสท์ข้อความถึงการสนทนาระหว่างตนเองกับ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร (ดร.โกร่ง) เมื่อเร็วๆนี้เกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยดังนี้

ผมได้ความรู้จาก ดร.โกร่ง (ดร.วีรพงษ์ รามางกูล) ทางด้านเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทย แล้วก็เกิดความกังวลใจอย่างยิ่ง เพราะฟังจาก ดร.โกร่ง แล้ว เห็นว่า ประเทศไทยกำลังเสี่ยงต่อวิกฤตเศรษฐกิจเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 40 อีกครั้งแล้ว
ดร.โกร่ง บอกว่า หากไม่เปลี่ยนทิศเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทยปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ภายในเวลาประมาณหกปี หายนะทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับที่เคยเกิดในสมัย ”โรคต้มยำกุ้งปี 40” ก็จะกลับมาเยือนอีกครั้ง ประเด็นสำคัญที่ ดร.โกร่ง ยืนยันก็คือ
อัตราดอกเบี้ยของเราสูงเกินไป (กว่า 3%) ทำให้เงินต่างประเทศไหลเข้าประเทศมหาศาลอย่างไม่ยอมหยุด ปัจจุบันนี้เงินตราสำรองต่างประเทศเรามีมากถึง 180,000 ล้านเหรียญอเมริกันแล้วครับ แล้วหากไหลเข้ามาเรื่อยๆอย่างนี้ เงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้นไปอีกเรื่อยๆเช่นกัน เช่นนี้ก็จะทำให้เราขาดทุน ต่อหนึ่งบาทที่แข็งค่าขึ้นไป เราขาดทุนทันที 180,000 ล้านบาทครับ หากขาดทุนด้วยอัตราเร่งเช่นนี้เงินสำรองที่มีอยู่ก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จนอาจจะไปอยู่ในระดับ 800 ล้านเหรียญเช่นในสมัยต้มยำกุ้งปี 40 ก็เป็นได้ แล้วเราก็จะพากันหายนะกันอย่างวินาศสันตะโรเช่นเดียวกับปีดังกล่าว
เพราะหากปล่อยให้เงินไหลเข้ามากอย่างนี้ (นี่ยังไม่นับเงินไหลเข้าตลาดหลัก ทรัพย์นะครับ) ประเทศต้องออกพันธบัตรไปดูดซับทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าวด้วย อัตราดอกเบี้ยสูง (ประมาณ 3% ดังกล่าว) แต่เงินต่างชาติที่เราได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ไม่ถึง 1% เท่านั้น เท่ากับเราขาดทุนเกือบ 2% ครับ แล้วเวลาเงินบาทแข็งค่า ก็จะทำให้เราขายของลำบากครับ ขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลการเงิน
ดังนั้น ทางเดียวที่จะป้องกันหายนะที่จะเกิดขึ้น ก็คือ ต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงครับ อาจจะไปอยู่ที่ประมาณ 2% หรือประมาณ 1.75% ก็ได้ครับ แล้วต้องบริหารค่าเงินบาทให้ได้อยู่ที่ ประมาณ 33 บาทต่อดอลล่าห์ครับ
แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่เห็นด้วย เพราะกลัวว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงมา ทาง ดร.โกร่ง อธิบายให้ฟังว่า นี่เป็น สำนักคิดทางเศรษฐศาสตร์สำนักคิดหนึ่งที่เขาคอยเฝ้าระวังเรื่องเงินเฟ้อ คือเขากลัวจนไม่คำนึงถึงเรื่องอื่น แต่เฝ้าระวังเรื่องเงินเฟ้ออย่างเดียว แต่ไม่กังวลว่า ท้ายที่สุดแล้วจะเกิดปัญหาเรื่องต้มยำกุ้งเช่นในปี 40 อีก ปี 40 ก็มีอาการคล้ายๆกันอย่างนี้ครับ คือเงินไทยแข็งค่ามาก และอัตราดอกเบี้ยของไทยสูงกว่าต่างประเทศมาก ทำให้เงินไหลข้ามาทำกำไรมาก นอกจากนี้เรื่องวิเทศธนกิจก็ทำให้เอกชนคนไทยที่เห็นแก่ได้ กู้เงินต่างประเทศระยะสั้นมาก มาปั่นที่ดิน และปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย กลายเป็นฟองสบู่มหึมา
พอถึงจุดหนึ่งที่ค่าเงินบาทไปไกลถึง 52 บาทต่อดอลล่า ทั้งที่กระทรวงการคลังค้ำไว้ที่ 25 บาทต่อดอลล่าแล้วยังอาจหาญไปสู้กับเฮดฟันของจอร์จโซรอส โดยกู้เงินนอกมาสู้ค่าเงินบาทด้วย ในที่สุดเงินในคลังก็เหลือแค่ 800 ล้านเหรียญทุกอย่างก็พังพินาศยับเยิน ทำให้ต้องเข้าไอเอ็มเอฟ
แล้วไอเอ็มเอฟก็บังคับให้เราทำในเรื่องต่างๆที่พวกเขาได้ประโยชน์แต่ไทยเสียประโยชน์ ร่วมกับนักการเมืองบางพรรคร่วมมือกับต่างชาติปล้นประเทศอีกจำนวนหลายแสนล้านบาท
ทำให้หนี้ของประเทศยังกองอยู่ถึง 1.4 ล้านล้านบาทเลยครับ (ตอนนี้เหลือ 1.14 ล้านล้านบาทก็ยังมากโขอยู่ครับ แต่นักการเมืองและพวกที่โกงไป ยังลอยหน้าลอยตาอยู่เลยครับ)
ดังนั้นอาจารย์โกร่งท่านก็เลย ฟันธงว่า ต้องลดดอกเบี้ย และต้องให้ค่าเงินอ่อนตัวลง แต่ท่านบอกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับท่าน
ท่านบอกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย สังกัดสำนักคิดแบบไอเอ็มเอฟก็เลยไม่เห็นด้วยกับการลดอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินอ่อนลง ท่านบอกว่า ไอเอ็มเอฟนั้นมีสหรัฐอเมริกากำกับทิศทางอยู่
ดังนั้น เขาก็ต้องทำให้ค่าเงินของเขาอ่อนและค่าเงินของประเทศอื่นแข็งเมื่อเทียบกับของเขาเพื่อให้เขาค้าขายได้เปรียบได้เงินเข้าประเทศเขามากเพื่อให้ประเทศเขาฟื้นตัวแข็งแรงทางเศรษฐกิจครับ (แม้จะบังคับกะเกณฑ์กันอย่างนี้อเมริกายังโซเซๆอยู่เลยครับ)
ประเด็นก็คือ ทำไมเราต้องยอมรับความคิดของไอเอ็มเอฟด้วยครับ ทำไมไปเฝ้าปกป้องแต่เรื่องอัตราเงินเฟ้ออย่างไม่ลืมหูลืมตาครับ ไม่คำนึงว่าเศรษกิจจะพังพินาศไปทั้งหมดเพียงเพื่อรักษาอัตราเงินเฟ้อไว้ไม่ให้สูงเท่านั้นหรือ ???
คนไทยต้องปกป้องประเทศไทยซีครับ ต้องไม่ให้เมืองไทยล้มครืนเช่นเมื่อปี 40 ครับ ผมเองเฝ้าติดตามเรื่องนี้มาตลอดครับ ค่อนข้างเห็นด้วยกับอาจารย์โกร่งครับ แต่ก็จะขอฟังความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยเสียก่อนว่า ท่านจะเห็นอย่างไร
คือในวันพุธที่ 31 ตุลาคม 2555 นี้ทางกรรมาธิการสามัญความมั่นคงแห่งรัฐได้ทำหนังสือเชิญท่านผู้จัดการใหญ่ธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ประสาร ไตรรัตนวรกุล มาให้ข้อคิดเห็นในเรื่องทิศทางเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทย ทำอย่างไรไม่ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกับที่เคยเกิดในปี 40 (โรคต้มยำกุ้ง) ซ้ำเดิมอีก ผมขอร้อง ดร.ประสาร ไตรรัตนวรกุล กรุณาเจียดเวลามาด้วยนะครับ หากมีเรื่องอื่นในเวลาซ้อนกันท่านกรุณามอบให้รองไปทำแทนได้ไหมครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของประเทศและกรรมาธิการสามัญความมั่นคงแห่งรัฐต้องการจะเป็นเวทีที่จะแสวงหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศครับ ไม่ต้องการที่จะฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราต้องการฝักใฝ่ประเทศของเราเท่านั้นแหละครับ หาก ดร.ประสาร ไตรรัตนวรกุล ไม่มาก็เป็นที่น่าเสียดาย อย่างไรก็ดีกรรมาธิการสามัญความมั่นคงก็คงไม่ลดละความพยายามที่จะเชิญท่านมาให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไปครับ (ที่ผมนำมาเขียนในเฟสเช่นนี้เพราะกรรมาธิการหลายท่านเห็นว่าควรจะเชิญสื่อมวลชนมาร่วมฟังการประชุมได้ แสดงให้เห็นว่าต้องการให้สาธารณะชนทราบเรื่องของการประชุมกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐในวันพุธที่ 31 ตุลาคม 2555 นี้ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดมารยาทกฏกติระเบียบหรือกฏหมายใดๆครับ)
นอกจากนี้เรายังเชิญคณะกรรมการนโยบายทางด้านการเงินของประเทศไทย (กนง.) มาให้ความเห็นด้วย เพื่อไม่ให้ประเทศและประชาชนต้องเสียหายอย่างยับเยินซ้ำเดิมอีก ทั้งที่ของเก่าเรายังแก้ไม่ได้เลย ก็ดูซิครับ ปรส. ขายทรัพย์สินมูลค่ากว่าแปดแสนล้านไปเพียง แสนกว่าล้าน ขาดทุนหกแสนกว่าล้านแล้วก็มีเรื่องฉ้อฉลมากมาย จนล่าสุดศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษ คุณอมเรศศิลาอ่อน และคุณวิชรัตน์ วิจิตรวาทการไปแล้วครับ นี่เป็นเพียงบางกรณีเท่านั้นแต่กรณีใหญ่ๆยังค้างอยู่ที่ ปปช. เลย ไม่รู้ว่าปปช.จะปล่อยให้หมดอายุความหรือเปล่า ??? น่าเป็นห่วงครับ หวังว่า ปปช. จะไม่ปล่อยให้หมดอายุความนะครับ ท่านภักดีโพธิศิริกรุณาออกมาให้ความมั่นใจหน่อยได้ไหมครับ
อาจารย์โกร่งท่านบอกว่า มี ดร. ทางเศรษฐศาสตร์จำนวนแปดคนที่ทำงานให้กับ กนง. ค้านท่านหัวชนฝา ก่อนอื่นเราใช้ท่าทีเป็นวิทยาศาสตร์คือ ขอฟังความเห็นของ ดร.เศรษฐศาสตร์ ของ กนง. และของท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนว่าท่านจะมีเหตุผลอย่างไร แล้วค่อยหาข้อสรุปกันอีกทีนะครับ
แต่หากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้ง กนง. และแปด ดร. ดังกล่าว ยืนยัน ทิศทางเศรษฐกิจแบบปัจจุบัน ที่ค้านกับข้อเสนอของ ดร.โกร่ง (น่าแปลกใจไหมครับว่า ดร.โกร่ง เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยตัวเองนะครับ แต่ไม่อาจจะนำเอาทิศทางเศรษฐกิจของท่านมาปฏิบัติใช้ได้ครับ) แล้วอีกหกปีข้างหน้าถ้าหากว่าประเทศหายนะเช่นเดียวกับปี 40 ท่าน ดร.ประสาร ไตรรัตนวรกุล และ กนง. รวมทั้งแปด ดร. จะรับผิดชอบไหมครับ ????? และรับผิดชอบอย่างไรครับ ???????????
หายนะเมื่อปี 40 ก็ไม่เห็นใครรับผิดชอบเลย รมต.คลัง สมัยชวนคือ ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ รับผิดชอบอย่างไรครับ แล้วกลายเป็นว่าการบริหารเศรษฐกิจมหภาคที่ผิดพลาดทำให้เกิดความเสียหาย แล้วก่อหนี้ 1.4 ล้านล้าน กระทรวงการคลังหรือประชาชนทั้งประเทศต้องรับผิดชอบตั้งแต่ 40 จนถึงปัจจุบัน แล้วก็คืนหนี้เงินต้นได้เพียง 3 แสนล้านเท่านนั้น ยังค้างอยู่ 1.14 ล้านล้านครับ
อ.โกร่ง นี่แหละที่บอกว่าให้โอนหนี้ดังกล่าวไปให้องค์กรที่ก่อหนี้ให้กับประเทศคือธนาคารแห่งประเทศไทย จึงทำให้กระทรวงการคลังสางหนี้ก้อนใหญ่ไปให้ผู้ต้องรับผิดชอบในการก่อหนี้คือธนาคารแห่งประเทศไทยได้สำเร็จในยุคยิ่งลักษณ์ของเรายุคอาจารย์โกร่งของเรานี่แหละ
อ.โกร่ง ยังฝากความกังวลใจอีกข้อเป็นประเด็นสาธารณะครับ ว่าในวันนี้ไม่มีใคร ตรวจสอบ ถ่วงดุลย์ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ครับ
ทำอย่างไรดีครับ คงต้องช่วยกันหาโครงสร้างที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ครับ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวมนะครับ
ไม่ใช่เรื่องเฉพาะส่วนของพรรคการเมืองหรือเฉพาะกลุ่มใครกลุ่มไหนทั้งนั้น ไม่เช่นนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะมาใส่ร้ายป้ายสีอีกว่า พรรคเพื่อไทย หรือคนเสื้อแดงจะไปยึดธนาคารแห่งประเทศไทยอีก ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้นครับ แต่ถามประชาธิปัตย์หน่อยสิว่า ความพินาศเมื่อปี 40 ภายใต้การบริหารของพรรคประชาธิปัตย์นะ (เอาเฉพาะภายใต้การบริหารของพวกคุณเท่านั้นนะ) พรรคประชาธิปัตย์รับผิดชอบแล้วหรือยัง อย่างไรบ้างครับ
อย่าไปโยนความผิดให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อย่าไปโยนความผิดให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อย่างที่ประชาธิปัตย์ทำเป็นนิสัยความเคยชินเช่นทุกวันนี้นะครับ