เผย "ลุงคิม" ศพที่ 99 ถูกเอ็ม 16 ยิงทะลุหลังในเหตุการณ์ พ.ค. 53 ที่ย่านบ่อนไก่ บาดเจ็บเป็นอัมพาตทุกข์ทรมานใน ร.พ. 2 ปี ก่อนสิ้นใจเมื่อ ก.พ. ที่ผ่านมา เพิ่มยอดคนตายจาก 98 เป็น 99 ศพ พม. ระบุญาติสามารถมายื่นเรื่องใหม่เพื่อรับการเยียวยา
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค. 2553 เปิดเผยถึงผู้เสียชีวิตรายล่าสุดเป็นศพที่ 99 ว่า นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง หรือลุงคิม อายุ 55 ปี อาชีพค้าขาย ถูกยิงบริเวณตู้โทรศัพท์หน้าทางเข้าซอยบ่อนไก่ ได้รับบาดเจ็บเป็นอัมพาตครึ่งตัวเข้ารักษาตัวอยู่ที่ร.พ.มเหสักข์ นานเกือบสองปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้นับรวมกับยอดผู้เสียชีวิตเดิมที่ขณะนี้มีจำนวน 98 ศพ ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนคดีส่งอัยการเรียบร้อยแล้ว ขณะอยู่ระหว่างการพิจารณา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายฐานุทัศน์ หรือลุงคิม เป็น 1 ใน 16 ผู้เสียชีวิตที่ย่านบ่อนไก่ ถนนพระราม 4 ช่วงระหว่างวันที่ 13-16 พ.ค. 2553 โดยถูกยิงด้วยกระสุนขนาด .223 นิ้ว จากปืนเอ็ม-16 เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ระหว่างเวลา 12.20-13.06 น. หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบ่อนไก่ พื้นที่ สน.บางรัก
นายปกรณ์ พันธุ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงการเสียชีวิตของนายฐานุทัศน์ว่า กรณีดังกล่าวหากได้รับเงินเยียวยาไปแล้วไม่ว่าประเภทใด ถือว่าคณะทำงานได้ประเมินแยกประเภท ณ เวลานั้น ซึ่งหากหลังจากนั้นเสียชีวิตลง คณะทำงานเปิดโอกาสให้ญาติหรือผู้เกี่ยวข้องยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อ พส. ได้อีก โดย พส. จะมีทีมกฎหมายและทีมแพทย์ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน ก่อนนำเรื่องส่งที่ประชุมคณะทำงานป คอป. ที่มีนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณาขั้นตอนสุดท้ายต่อไป
วันเดียวกันนางวรานิษฐ์ อัศวสิริมั่นคง ภรรยานายฐานุทัศน์ หรือลุงคิม เหยื่อเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. 2553 ศพที่ 99 กล่าวว่า ก่อนหน้าที่สามีจะเสียชีวิต ครอบครัวได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลในกรณีที่สามีเป็นผู้ทุพพลภาพ หลังจากสามีเสียชีวิตแล้ว ตนได้ยื่นเรื่องเพื่อขอรับเงินเยียวยากรณีผู้เสียชีวิต และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติแล้ว โดยกระทรวงพม.แบ่งจ่ายให้ตนและลูกๆ ในรูปพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งตนตั้งใจนำเงินจำนวนนี้เป็นทุนการศึกษาของบุตรสองคนต่อไป ขณะนี้คนโต อายุ 20 ปี ส่วนคนเล็ก อายุ 16 ปี
นางวรานิษฐ์ เล่าถึงเหตุการณ์วันที่ 14 พ.ค. 2553 ว่า เวลาประมาณ 11.00 น. ตนพร้อมด้วยสามีและลูกทั้งสองคนกำลังออกไปรับประทานอาหาร โดยทั้งหมดยืนรอรถเมล์อยู่บริเวณปากซอยปลูกจิต ถนนพระราม 4 ย่านบ่อนไก่ ระหว่างนั้นมีเสียงดังขึ้น แต่ไม่ทราบว่าเป็นเสียงอะไร ช่วงเวลานั้นรถประจำทางรวมถึงรถส่วนตัวเริ่มบางตาลง จากนั้นไม่นานมีเสียงปืนดังขึ้น ทำให้ประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นต่างตื่นตกใจและวิ่งหนี สามีที่อยู่ระหว่างเดินได้ตะโกนบอกให้ตนนำลูกเข้าไปหลบในร้านสะดวกซื้อ แต่ตนตัดสินใจ พาลูกวิ่งเข้าซอยเพื่อกลับไปยังห้องพัก ระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นตลอดเวลา
ภรรยาผู้เสียสามีจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 กล่าวอีกว่า ตนพยายามติดต่อสามีเป็นระยะ แต่ไม่รับโทรศัพท์ เมื่อกลับถึงห้องได้ไม่นาน ร.พ.กล้วยน้ำไท โทรศัพท์มาบอกว่าสามี ถูกยิง กำลังรักษาตัวอยู่ที่ ร.พ. จากคำบอกเล่าของแพทย์ทราบว่า สามีถูกยิงด้วยกระสุนไม่ทราบชนิด 2 นัดที่หลัง กระสุนนัดหนึ่งยิงทะลุกระดูกสันหลัง หัวกระสุนจำนวนหนึ่งแตกไปโดนปอด ส่งผลให้กระดูกสันหลังและเส้นประสาทบริเวณนั้นได้รับความเสียหาย สามีกลายเป็นอัมพาต ช่วงล่างในระยะแรก ก่อนจะลามมายังแขน ต้นคอ กระดูกซี่โครงบริเวณรอบปอดในภายหลัง จนในที่สุดสามีเริ่มมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก แพทย์ต้องเจาะคอเพื่อช่วยหายใจในวันที่ 5 ธ.ค. 2554 และเสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา
"ช่วงแรกสามียังมีกำลังใจดี อยากจะอยู่ต่อ แต่เริ่มมาท้อช่วงเดือนกันยายน 2554 เพราะเขาเริ่มแน่นหน้าอก และหายใจไม่ได้ ช่วงนั้นเขา พูดว่าทรมาน เขาเริ่มกลัวและตกใจ ตอนนั้นหมอบอกว่ามันเป็นผลมาจากกระสุนที่ยิงโดนกระดูกสันหลังซึ่งเป็นจุดสำคัญ ทำให้อวัยวะ บางอย่างเริ่มเสื่อม" วรานิษฐ์ กล่าว
วันเดียวกันเวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญาใต้ ศาลนัดไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพ เพื่อบริหารจัดการคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของ
- นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้ตายที่ 1
- นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ตายที่ 2
- นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้ตายที่ 3
- นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี พนักงานขับรถรับจ้างสนามบิน ผู้ตายที่ 4
- น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี พยาบาลอาสา ผู้ตายที่ 5 และ
- นายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้ตายที่ 6
ซึ่งทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553
ทั้งนี้ อัยการฝ่ายผู้ร้องจะนำพยานเข้าไต่สวนทั้งหมด 50 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 16 นัด เริ่มวันที่ 13 ธ.ค. 2555 ถึง 13 มิ.ย. 2556 และขอยกเลิกนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 25 ต.ค., 8 พ.ย., 15 พ.ย. และ 22 พ.ย. 2555 เนื่องจากต้องดำเนินการจัดเตรียมพยานที่จะนำเข้าไต่สวนใหม่ทั้งหมด และต้องดำเนินการขอหมายเรียกต่อศาล เพื่อนำพยานเข้าไต่สวนต่อไป
ด้านทนายญาติผู้ตายที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 จะนำพยานเข้าไต่สวน 10 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 3 นัด ส่วนทนายญาติผู้ตายที่ 5 จะนำพยานเข้าไต่สวน 4 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 1 นัด โดยศาลให้เริ่มนัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ตายวันที่ 20 มิ.ย. 2556 ถึง 18 ก.ค. 2556 และให้ยกเลิกนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 8 พ.ย., 15 พ.ย., 22 พ.ย. 2555 และวันที่ 25 ก.ค. 2556 ถึง 12 ก.ย. 2556
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด ร่วมฟังการไต่สวนคำร้อง พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวน เพื่อมีคำสั่งคุ้มครองคู่ความ โดยให้เรียกนายศิริโชค โสภา ส.ส.ประชาธิปัตย์ มาทำการไต่สวน เพื่อมีคำสั่งห้ามนายศิริโชคกระทำการใดๆ อันเป็นการชี้นำศาล เนื่องจากเห็นว่านายศิริโชคนำเอกสารการชันสูตรพลิกศพไปกล่าวบิดเบือนผิดจากความเป็นจริง ศาลพิเคราะห์ว่านายศิริโชคเป็นบุคคลภายนอก ไม่ใช่คู่ความคดีนี้ ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งห้ามนายศิริโชค ตามที่มารดาผู้ตายที่ 5 ยื่นคำร้อง จึงมีคำสั่งยกคำร้อง
ขณะที่นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้ตาย กล่าวว่า สำหรับพยานที่จะเข้าไต่สวนนั้น ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีใครบ้าง เนื่องจากต้องประชุมหารือ เพื่อจัดเตรียมพยานกันใหม่ อย่างไรก็ตามทนายญาติผู้ตายที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ได้เตรียมพยานไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ซึ่งจะขอให้ศาลออกหมายเรียกหลังจากไต่สวนพยานของฝ่ายอัยการผู้ร้องเสร็จสิ้น เช่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผบ.ทบ. พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ อดีต ผบ.พล.1 รอ. พล.ต.สุรศักดิ์ บุญศิริ ผบ.พล.ม. 2 รอ. พล.ท.อุทิศ สุนทร อดีต ผบ.พล.ร.9 พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พล.ต.อ.ปทีป ตันประสริฐ อดีต รรท.ผบ.ตร. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศอฉ. และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ และแกนนำ นปช.