ฐานเศรษฐกิจ 28 ตุลาคม 2555 >>>
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง "ความหวังของสาธารณชน การปรับคณะรัฐมนตรี กับการยึดอำนาจรัฐบาล"
กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงราย มุกดาหาร หนองคาย สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ เลย ยะลา นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,104 ตัวอย่าง พบว่า ผลกระทบต่อการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.2 คิดว่า ไม่มีผลกระทบต่อรัฐบาล ร้อยละ 41.8 คิดว่า มีผลกระทบต่อรัฐบาล
นอกจากนี้ เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.9 ระบุเป็นเรื่องดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้คำแนะนำปรึกษาต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนมีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ ได้รับความนิยมศรัทธาสูง เป็นต้น ขณะที่ร้อยละ 46.1 ไม่คิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ขาดความน่าเชื่อถือ เป็นต้น ขณะเดียวกัน จำนวนมากหรือร้อยละ 45.8 คิดว่า เมื่อรัฐบาลปรับคณะรัฐมนตรีแล้วทุกอย่างจะเหมือนเดิม ร้อยละ 28.6 ระบุว่า จะดีขึ้น และร้อยละ 25.6 ระบุว่าจะแย่ลง
เมื่อถามถึงการชุมนุมทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.6 สนับสนุน เพราะเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องปกติตามระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น ขณะที่ร้อยละ 37.4 ไม่สนับสนุน เพราะวุ่นวาย ควรช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบสุข ทุกอย่างให้ว่ากันตามกระบวนการยุติธรรมของบ้านเมือง เป็นต้น
เมื่อถามถึงผลของการปฏิวัติยึดอำนาจที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.2 ระบุ ไม่มีอะไรดีขึ้น มีแต่จะแย่ลง มีเพียงร้อยละ 10.8 เท่านั้นที่ระบุทำให้บ้านเมืองดีขึ้น โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.5 ระบุ มีแค่คนเฉพาะกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการยึดอำนาจ ในขณะที่เพียงร้อยละ 4.5 เท่านั้น ที่ระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศจะได้ประโยชน์จากการยึดอำนาจ มากกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.3 ระบุการให้โอกาสรัฐบาลทำงานและอาศัยกระบวนการยุติธรรมของบ้านเมืองสร้างความหวังมากกว่าการยึดอำนาจ ในขณะที่ร้อยละ 2.7 คิดว่าการยึดอำนาจให้ความหวังมากกว่า