ข่าวสด 20 ตุลาคม 2555 >>>
ไต่สวนคดีฮิโรยูกิ-กับ 2 นปช.
ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพในคดีที่พนักงานฝ่ายคดีอาญาใต้ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ผู้ตายที่ 1, นายวสันต์ ภู่ทอง ผู้ตายที่ 2, และนายทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ตายที่ 3 ถูกยิงเสียชีวิตหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 โดยพนักงานอัยการนำนายณัชพงศ์ โพธิยะ ขึ้นเบิกความ
นายณัชพงศ์เบิกความว่า วันเกิดเหตุขับรถไปหานายทศชัยที่บ้าน บริเวณถนนพิษณุโลก ช่วงเวลา 13.30 น. เนื่องจากพยานเป็นญาติกับนายทศชัย กระทั่งเวลา 16.00 น. มีรถจักรยานยนต์ของกลุ่มนปช.ขับรถผ่านไปมา และตะโกนว่าจะมีทหารมา สลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ จึงให้น้าของพยานขับรถจักรยานยนต์พาพยาน และนายทศชัยไปที่แยก จปร. ถนนราชดำเนินกลาง ระหว่างนั้นมีผู้ชุมนุมบอกว่าทหารวางกำลังอยู่ใต้สะพานพระราม 8 พยานและนายทศชัยจึงเดินเข้าไปบันทึกภาพ แต่ไปได้ประมาณ 50 เมตร ก็ได้ยินเสียงปืนดังมาจากฝั่งที่ทหารอยู่ และเห็นเฮลิคอปเตอร์บินวนอยู่ด้านบน จึงย้อนกลับไปอยู่ที่เต็นท์ของผู้ชุมนุม ห่างจากสะพานผ่านฟ้าฯ 200-300 เมตร และเห็นว่าบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์มีทหารนำรั้วมากั้น และมีรถทหารจอดอยู่
จนท. ยิงปืน-ม็อบปาขวดน้ำ
พยานเบิกความว่า ต่อมาเวลา 18.00 น. จึงพากันเดินไปที่เต็นท์ของกลุ่มนปช.ภาคตะวันออก หน้าวัดราชนัดดารามวรวิหาร ห่างเวทีสะพานผ่านฟ้าฯ 30 เมตร ก่อนมีการโปรยแก๊สน้ำตาจากเฮลิคอปเตอร์ลงมาที่เวทีสะพานผ่านฟ้าฯ สักพักบนเวทีประกาศว่า ทหารเคลื่อนกำลังพลเข้ามาทางสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ขอให้ไปช่วยกันทหารไม่ให้เข้ามาสลายการชุมนุม พยานกับนายทศชัยและผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง จึงเดินไปสี่แยกคอกวัวจนถึงวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตรงแยกถนนดินสอที่จะเลี้ยวเข้าไปที่ศาลาว่าการ กทม. เห็นทหารตั้งแถวอยู่เป็นจำนวนมาก มีรถถัง 3-4 คัน ขณะนั้นยังโปรยแก๊สน้ำตาอยู่
นายณัชพงศ์เบิกความว่า ส่วนหน้าโรงเรียนสตรีวิทยามีทหารถือปืนยาว โล่ และกระบอง แต่ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ มีเพียงขวดน้ำเท่านั้น จากนั้นเดินไปที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กระทั่งเวลา 19.00 น. ได้ยินเสียงปืนจากถนนตะนาวตัดถนนข้าวสารดังมาเป็นระยะ จึงขึ้นไปอยู่ด้านบนอนุสรณ์สถาน และเห็นทหารปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยทหารใช้อาวุธปืนยิงเข้ามา ส่วนผู้ชุมนุมใช้ขวดน้ำและก้อนหินขว้างใส่ ประมาณ 2 นาที มีการหามผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บออกมาขึ้นรถสามล้อ ก่อนที่ผู้ชุมนุมบางส่วนฮือเข้าไปที่ถนนตะนาว ทหารจึงถอยร่นเข้าไปหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร
เห็นนาทียิงหัวหนุ่มถือธงแดง
นายณัชพงศ์เบิกความอีกว่า จากนั้นพากันไปอยู่บนฐานของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หันหน้าไปทางถนนดินสอ ขณะนั้นมีกำลังทหารจำนวนมาก เห็นผู้ชุมนุมหลายคนยืนประจันหน้า เพื่อกันไม่ให้ทหารเข้ามา แต่ยังไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่สวมเสื้อสีแดง และสีดำ สกรีนคำว่าไพร่ ยุบสภา พร้อมขอทหารว่าอย่าทำร้ายประชาชน บริเวณแนวหน้ามีทหารถือปืนยาว โล่ และกระบอง บางส่วนขึ้นไปยืนบนรถถัง ด้านข้างมีรถโมบาย และรถสายพานลำเลียง มีทหารส่วนหนึ่งอยู่ตรงประตูทางเข้าโรงเรียนสตรีวิทยา ต่อมาเวลา 20.30 น. ได้ยินเสียงคล้ายระเบิดดังมาจากหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา และเห็นแสงไฟแตกกระจาย 2 ครั้ง แต่ไม่ทราบว่ามาจากทิศใดและเป็นอะไร ก่อนเห็นทหารแตกฮือและถอยร่นไปทางสะพานวันชาติ
พยานเบิกความว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่ยืนประจันหน้ากับทหาร เดินไปทางถนนดินสอ พยานและนายทศชัยวิ่งตามเข้าไป ก่อนหลบอยู่ตรงต้นไม้ใหญ่ต้นที่ 2 ทางประตูเข้าโรงเรียนสตรีวิทยา และมีคนตะโกนว่าระวังถูกยิง ขณะนั้นมีเสียงปืนดังอยู่ตลอดเวลา สักพักได้ยินเสียงเหมือนคนล้มบริเวณทางม้าลาย พร้อมกับเสียงปืน เมื่อหันไปมองก็เห็นผู้ชุมนุมเป็นชายใส่เสื้อสีแดง ถูกยิงที่ศีรษะสมองกระจาย ข้างศพมีธงสีแดงตกอยู่ ห่างจากจุดที่พยานและนายทศชัยไม่ถึง 5 เมตร ก่อนมีผู้ชุมนุมหามร่างผู้ถูกยิงออกไป และในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีบุคคลอื่นถูกยิงบาดเจ็บด้วย
ร่วงอีกศพ-ลูกปืนฝั่งเจ้าหน้าที่
พยานเบิกความว่า ขณะนั้นยังได้ยินเสียงปืนมาจากฝั่งทหาร บริเวณปากทางเข้าโรงเรียนวัดบวรฯ ดังมาเป็นระยะ และเห็นประกายไฟแลบออกมาจากปลายกระบอกปืนทหาร ลักษณะประกายไฟพุ่งตรงมายังกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ไม่ได้ยินเสียงปืนหรือเห็นประกายไฟจากโรงเรียนสตรีวิทยา หรืงฝั่งตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยาเลย ส่วนผู้ชุมนุมเพียงแค่โยนขวดน้ำโต้ตอบเท่านั้น ต่อมาเห็นผู้สื่อข่าวคนหนึ่งสะพายกล้องออกมาจากจุดทหารอยู่ ด้านหลังโรงเรียนวัดบวรนิเวศ แต่ไม่ทราบว่าเป็นผู้สื่อข่าวสำนักใด เป็นชายผมยาว สวมเสื้อกั๊ก มีปลอกแขนสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของผู้สื่อข่าว และเคยเห็นทำข่าวอยู่บนเวทีชุมนุม
นายณัชพงศ์เบิกความว่า ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวเดินมุ่งหน้าไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ข้ามถนนหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปยังฝั่งตรงข้าม ลักษณะเดินเหมือนถ่ายภาพและหลบกระสุนไปพลาง ส่วนเหตุที่ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวเดินข้ามถนนนั้น พยานคิดว่าคงต้องการถ่ายภาพผู้บาดเจ็บจากการถูกยิง โดยยืนถ่ายภาพปะปนอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุม ห่างจากจุดที่พยานและนายทศชัยประมาณ 10 เมตร สักพักเห็นผู้สื่อข่าวย่อตัวลง แต่ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด สักพักนายทศชัยเห็นผู้บาดเจ็บจึงวิ่งเข้าไปเพื่อจะถ่ายภาพ พยานพยายามดึงไว้ แต่นายทศชัยวิ่งออกไป ก่อนจะล้มหงายหลังลงกับพื้นหน้าร้านอากรพาณิชย์ พยานคิดว่าที่นายทศชัยถูกยิง เพราะขณะนั้นมีเสียงปืนและประกายไฟมาจากฝั่งทหาร และมีผู้ชุมนุมคนอื่นถูกยิงล้มลงที่พื้นอีกหลายคน
นักข่าวญี่ปุ่นโดนยิงศพที่ 3
นายณัชพงศ์เบิกความต่อว่า ช่วงเกิดเหตุพยานยังหลบอยู่ที่ต้นไม้ จนเสียงปืนสงบลง จึงร้องตะโกนให้คนช่วยนายทศชัย ก่อนมีผู้ชุมนุมมาช่วยกันปั๊มหัวใจ พยานจึงวิ่งเข้าไปถ่ายภาพนายทศชัยเป็นหลักฐาน และเห็นว่ามีรอยถูกยิงเป็น รูที่หน้าอกด้านซ้าย 1 นัด ขณะที่ช่วยกันหามร่างนายทศชัยไปที่รถพยาบาลตรงหน้าร้านแมคโด นัลด์ ถนนดินสอ เห็นผู้ชุมนุมหามร่างผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวไปก่อนหน้าแล้ว แต่ไม่ทราบว่าแบกมาจากจุดใด ในตอนนั้นพยานคิดว่าผู้สื่อข่าวคงถูกยิงบาดเจ็บสาหัส เมื่อไปถึงรถพยาบาลก็เห็นในรถมีผู้บาดเจ็บใส่เสื้อสีฟ้าคล้ายคนขับแท็กซี่นั่งอยู่ บนรถมีผู้บาดเจ็บ 4-5 คน พยานสอบถามคนขับรถทราบว่าจะนำผู้บาดเจ็บไปส่งที่โรงพยาบาลกลาง แต่พยานไม่ได้ตามไป
พยานเบิกความว่า จากนั้นพยานเดินกลับมาที่เต็นท์ของกลุ่มผู้ชุมนุมภาคตะวันออก ขณะนั้นเสียงปืนสงบแล้ว ก่อนจะเดินทางไปที่โรงพยาบาลกลางพร้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อไปถึงห้องฉุกเฉินก็พบชายใส่เสื้อสีฟ้าคนเดิมที่ขึ้นรถมากับผู้สื่อข่าว และนายทศชัยเดินออกมา จึงสอบถามว่าผู้บาดเจ็บคนอื่นอยู่ที่ไหน ก็ได้รับคำตอบว่าผู้สื่อข่าวเสียชีวิตแล้ว พยานและกลุ่ม ผู้ชุมนุมจึงพากันไปถามพยาบาลว่าศพอยู่ที่ไหน ได้รับคำตอบว่า ไม่มีศพอยู่ที่นี่ สักพักมีพยาบาลผู้หญิงเดินถือกระดาษเอ 4 ระบุว่า รายชื่อผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 6 ราย เจ้าหน้าที่คนที่ปฏิเสธก่อนหน้าก็ตกใจ และเดินออกไปทันที
มอบภาพวันเกิดเหตุให้ศาล
พยานเบิกความอีกว่า ต่อมาจึงพากันเดินไปที่ห้องด้านข้างห้องฉุกเฉิน ก็เห็นรอยเลือดหยดเข้าไปเป็นทาง จึงปีนไปดูที่ช่องระบายอากาศพบว่ามีศพอยู่ด้านใน แต่ประตูถูกปิดล็อกอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ยอมเปิดให้ โดยแจ้งว่าต้องได้รับคำสั่งจาก ผอ. สักพักนายสุชาติ ลายน้ำเงิน นายวรชัย เหมะ นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ และนายวิชาญ มีนชัยนันท์ เดินทางมาและขอพยาบาลเข้าไปในห้อง พบว่ามีศพถูกคลุมผ้าอยู่ 4-5 ศพ วางอยู่บนรถเข็น พยานจึงถ่ายภาพศพไว้เป็นหลักฐาน เมื่อเปิดผ้าคลุมออกก็พบศพนายทศชัย นายฮิโรยูกิ และนายวสันต์ ภู่ทอง คนที่ถือธง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการไต่สวน พยานยังมอบภาพถ่ายในวันเกิดเหตุให้แก่ศาล เพื่อประกอบการพิจารณาคดีด้วย นายณัชพงศ์เบิกความตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเวลา 16.00 น. แต่ฝ่ายทนายญาติผู้ตายยังไม่ได้ไต่ถามพยาน ศาลเห็นว่าเลยเวลาการไต่สวนแล้ว จึงให้เลื่อนการไต่สวนพยานปากนี้ไปเป็นวันที่ 6 พ.ย. เวลา 09.00 น. โดยพนักงานอัยการจะนำพยานเบิกความอีก 2 ปาก คือ นางพรรณงาม ศิริวิสูตร เจ้าของบ้านในที่เกิดเหตุ และนางศิริพร เมืองศรีนุ่น ทนายผู้รับมอบจากญาติผู้ตาย
ไต่สวนคดีเหยื่อปืนพระราม 4
ขณะเดียวกัน ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิต ในคดีที่พนักงานฝ่ายคดีอาญาใต้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายชาติชาย ชาเหลา ผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2553 โดยพนักงานอัยการนำพยานขึ้นเบิกความ 3 ปาก ประกอบด้วย พ.ต.อ.ปรีดา สถาวร โฆษกบช.น. นางศิริพร เมืองศรีนุ่น ทนายผู้รับมอบจากญาติผู้ตาย และ พ.ต.ท.สุพจน์ ชายป่า พนักงานสอบสวน (สบ3) สน.พระราชวัง
พ.ต.อ.ปรีดา เบิกความโดยสรุปว่า มีหน้าที่เป็นผู้วางแผนการปฏิบัติของบช.น. เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2553 มีการประกาศ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร บริเวณ กทม. ต่อมาวันที่ 10 มี.ค. 2553 ได้รับคำสั่งให้จัดตั้งชุดรักษาความสงบในกทม. โดยตั้งด่านตรวจค้นตามจุดต่างๆ ที่จะเข้าสู่กทม. กระทั่งวันที่ 7 เม.ย. 2553 รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงมีคำสั่งให้จัดกำลังตั้งด่านในวันที่ 10 พ.ค.2553 บริเวณสีลม ศาลาแดง ราชดำริ และบริเวณโดยรอบ จำนวน 11 กองร้อย รวมทั้งหมด 13 ด่าน ภายใต้การดูแลของ บก.น.5 โดยลักษณะเป็นการยืนรักษาการณ์
ตร. ยันทำตามคำสั่ง "ศอฉ."
พยานเบิกความต่อว่า วันที่ 13 พ.ค. 2553 เพิ่มคำสั่งให้ตำรวจที่รักษาการณ์ตรวจค้นบุคคลที่ผ่านเข้าออกตามจุดต่างๆ ที่วางกำลังไว้ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามาเพิ่มเติ่ม และตรวจค้นอาวุธ หากพบอาวุธก็จะจับกุม ขณะปฏิบัติหน้าที่ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่พกอาวุธปืนสั้นเท่านั้น การวางกำลังระหว่างตำรวจกับทหารนั้น เป็นไปตามคำสั่งของศอฉ. โดยทหารจะอยู่บริเวณด้านใน ส่วนตำรวจจะล้อมอยู่ด้านนอก จากการตรวจค้นพบว่ามีผู้พกพาอาวุธเข้ามา
จากนั้นทนายญาติผู้ตายซักถามว่า มีการรายงานว่าพบชายชุดดำหรือไม่ พยานเบิกความว่า ไม่ทราบ เพราะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการวางกำลังเท่านั้น และการปฏิบัติการในเดือน พ.ค. 2553 เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเพียงฝ่ายสนับสนุนทหารเท่านั้น ส่วนทหารจะมีอาวุธหรือไม่ พยานไม่ทราบ
ส่วนนางศิริพร เบิกความโดยสรุปว่า เป็นผู้รับมอบจากญาติผู้ตายให้เป็นผู้ร้องทุกข์ และติดตามความคืบหน้าของคดี โดยจะมอบเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ศาลประกอบการพิจารณาคดี ประกอบด้วย คำสั่งศาลแพ่งและศาลปกครอง เรื่องการสลายการชุมนุม ที่ศาลมีความเห็นว่าสามารถกระทำได้ แต่ต้องปฏิบัติตามหลักสากล เอกสารกฎการใช้กำลังตามที่สหประชาชาติกำหนด บัญชีการเบิกกระสุนและอาวุธปืน เอกสารรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และภาพถ่ายการวางป้ายที่ระบุข้อความ เขตพื้นที่ใช้กระสุนจริง
นัดต่อไป "เทือก" เบิกความ
ขณะที่ พ.ต.ท.สุพจน์ เบิกความโดยสรุปว่า ได้รับแต่งตั้งจาก บช.น. ให้เป็นพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าว โดยได้รับสำนวนการสอบสวนมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีความเห็นว่าสาเหตุการตายน่าจะเกิดจากเจ้าหน้าที่ทหาร ที่อ้างว่าปฏิบัติหน้าที่ โดยพยานเป็นผู้สอบสวนนายอภิสิทธิ์เกี่ยวกับการตั้งศอฉ. และคำสั่งแต่งตั้งต่างๆ พร้อมกับสอบสวนพยานทุกปากที่ปรากฏอยู่ในสำนวนสอบสวนที่มอบให้แก่ศาล จากการสอบสวนทราบว่า ขณะนั้นผู้ตายกำลังถือกล้องวิดีโอบันทึกภาพ และเดินถือไฟฉายเลเซอร์ไปด้วย โดยผู้ตายไม่มีอาวุธแต่อย่างใด สำหรับอาวุธปืนที่ทหารใช้มีเอ็ม 16 และเอชเค 33 จากการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด จึงมีความเห็นสรุปว่าการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปในวันที่ 30 ต.ค. เวลา 09.00 น. โดยนำพ.ท.กิตติพงษ์ เนื่องชมภู ผบ.ม.พัน.8 ขึ้นเบิกความ และในเวลา 13.30 น. จะนำนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศอฉ. ขึ้นเบิกความ ส่วนวันที่ 14 พ.ย. เวลา 09.00 น. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะแกนนำ นปช. จะขึ้นเบิกความ โดยนัดนี้เป็นนัดสุดท้าย