กรุงเทพธุรกิจ 24 ตุลาคม 2555 >>>
ศาลอาญานัดฟังคำสั่ง ไต่สวนศพแนวร่วม นปช. สำนวนที่ 2 "ชาญณรงค์ พลศรีลา"ถูกยิงตายซอยรางน้ำ เช้า 26 พ.ย. นี้
ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนชันสูตรศพ คดีหมายเลขดำ อช.1/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการชันสูตรการเสียชีวิตของ นายชาญณรงค์ พลศรีลา ผู้ร่วมชุมนุมในกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อทำคำสั่ง แสดงว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุ และพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ซึ่งนายชาญณรงค์ ถูกยิงเสียชีวิต ที่หน้าสถานีบริการน้ำมันเชลล์ ซอยรางน้ำ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 ในช่วงที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงพื้นที่ กทม.
โดยวันนี้นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้ตาย นำพยานเบิกความรวม 2 ปากนัดสุดท้าย ซึ่งนายสุเทพ เทือกบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เบิกความเป็นปากแรกสรุปว่า ขณะที่เป็น ผอ.ศอฉ. ได้ออกคำสั่ง 1/2553 เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์สำหรับสลายชุมนุมตามมาตรฐานสากล คือ โล่, กระบอง, กระสุนยางซึ่งใช้ปืนลูกซองยิง, แก๊สน้ำตา, รถฉีดน้ำ และเป็นการปฏิบัติตามหลักมาตรการสากล 7 ขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก ภายใต้อำนาจและการดูแลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ระหว่างปฏิบัติการต่างๆ มีการประชุมศอฉ.ทุกวันเช้า-เย็น แต่พยานไม่เคยมีคำสั่งอะไรเป็นพิเศษนอกเหนือจากที่เคยให้เป็นแนวทางของศอฉ. ส่วนการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ มีทั้งกำลังตำรวจและทหาร ในหลายพื้นที่เพื่อสกัดคนไม่ให้เข้าไป รวมทั้ง ให้ตัดน้ำตัดไฟในพื้นที่ชุมนุม เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมมีความสะดวกสบาย อีกด้วย ขณะที่การพกอาวุธปืนจะให้เฉพาะระดับผู้บังคับบัญชาเท่านั้นที่สามารถมีปืนพก ปืนเล็กยาว และกระสุนจริงได้ เพื่อป้องกันตนเองและประชาชน โดยไม่กระทำให้มีผลแก่ชีวิต
นายสุเทพ เบิกความว่า ส่วนการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 ที่บริเวณราชปรารภ ขณะเกิดเหตุยังไม่ทราบรายละเอียด แต่มาทราบภายหลังเมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวบรวมข้อมูลการเสียชีวิต 13 ศพ ที่ดีเอสไอมีความเห็นไม่ตรงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าการเสียชีวิตน่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่ในส่วนของสตช.ได้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการชันสูตรศพขึ้นมาเฉพาะ ระบุว่าไม่ทราบว่าการเสียชีวิตเกิดจากฝ่ายใดเป็นผู้กระทำ และเกิดจากทิศทางใด ซึ่งตนก็ได้นำข้อมูลนี้ไปชี้แจงเมื่อครั้งถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย ส่วนรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มีการระบุถึงการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ไว้ แต่ตนไม่เห็นข้อความที่ระบุว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่
ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำ นปช. เบิกความเป็นพยานปากที่สอง สรุปว่า กลุ่ม นปช.ชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยเริ่มชุมนุมเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 53 ตั้งเวทีที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากกินพื้นที่ถึงบริเวณถนนราชดำเนินนอกและราชดำเนินกลาง กระทั่งวันที่ 10 เม.ย. 53 รัฐบาล โดย ศอฉ. นำกำลังทหารออกจากที่ตั้งพร้อมอาวุธปืนเอ็ม 16 ปืนยาว โล่และกระบอง พร้อมรถถัง เข้าปราบปรามผู้ชุมนุม โดยไม่ปฎิบัติตามหลักสากล โดยใช้เฮลิคอปเตอร์บินโยนแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุม มีการใช้พลแม่นปืนใช้อาวุธปืนความเร็วสูงติดลำกล้อง ยิงผู้ชุมนุมกระสุนเข้าที่ศีรษะและอวัยวะสำคัญ ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลใช้พลซุ่มยิงผู้ชุมนุมทางการเมือง ไม่เคยมีรัฐบาลใดกระทำมาก่อนหลังจากนั้นได้ยุบเวทีปราศรัยที่สะพานผ่านฟ้าไปรวมที่เวทีราชประสงค์เวทีเดียว
โดยประมาณวันที่ 14 พ.ค. 53 มีความตรึงเครียด เนื่องจาก ศอฉ. ให้เจ้าหน้าที่ทหารตั้งด่านตรวจค้นรอบพื้นที่ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเข้าพื้นที่ชุมนุมได้ และมีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารปะทะกับผู้ชุมนุมและมีการซุ่มยิงประชาชนเสียชีวิตหลายราย ซึ่งในส่วนของนายชาญณรงค์ ผู้ตายคดีนี้ ทราบจากข่าวสื่อมวลชนว่า ถูกยิงชีวิตเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 ซึ่งเกิดนอกพื้นที่ชุมนุม ซึ่งบริเวณดังกล่าวนอกจากผู้ตายแล้ว ยังมีผู้อื่นถูกยิงเสียชีวิตอีกหลายราย
ภายหลังนายณัฐวุฒิ เบิกความเสร็จสิ้นแล้ว ทนายความญาติผู้ตายแถลงหมดพยาน ศาลจึงนัดฟังคำสั่งคดีนี้ในวันที่ 26 พ.ย. นี้ เวลา 09.00 น.
ขณะที่นายณัฐวุฒิ รมช.เกษตร ฯ และ แกนนำ นปช. กล่าวถึงกรณี ที่ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์กรพิทักษ์สยาม เตรียมจัดชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ในวันที่ 28 ต.ค. นี้ ที่ สนามม้านางเลิ้ง ว่า คำพูดของ พล.อ.บุญเลิศ ส่อไปในทางรัฐประหาร ซึ่งตนยังสงสัยว่าการชุมนุมในครั้งนี้ ต้องการอะไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีการไต่สวนชันสูตรศพผู้เสียชีวิตในการชุมนุมของคนเสื้อแดงปี 2553 คดีนี้ของนายชาญณรงค์ ถือเป็นสำนวนที่ 2 ที่ศาลอาญากำลังจะมีคำสั่ง ซึ่งสำนวนแรกที่ศาลอาญา มีคำสั่งไปแล้วคือการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง ชาวจังหวัดยโสธร อาชีพขับรถแท็กซี่ ที่ร่วมชุมนุม นปช. โดนถูกยิงเสียชีวิตที่หน้าคอนโดมิเนียม ใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ทลิงค์สถานีราชปรารภ เมื่อกลางดึกของวันที่ 15 พ.ค. 53 ซึ่งศาลอาญามีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า สาเหตุการเสียชีวตเกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ซึ่งเจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถตู้หมายเลขทะเบียน ฮค-8561 กทม. ที่มีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตายในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่ง ศอฉ.