"อิสานโพลล์" ระบุ "ชาวนาอิสาน 20 จังหวัดพอใจจำนำข้าวกว่า 80%"

go6TV 9 ตุลาคม 2555 >>>


Go6TV (วันที่ 9 ตุลาคม 2555) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 8 ต.ค. อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "ทัศนคติของชาวอีสาน ต่อนโยบายรับจำนำข้าว” โดยผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรพึงพอใจนโยบายจำนำข้าว อยากให้มีโครงการไปเรื่อยๆ และเพิ่มราคารับจำนำขึ้นอีก
ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อนโยบายการรับจำนำข้าว โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2555 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,200 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ
เมื่อถามถึงความพึงพอใจต่อนโยบายรับจำนำข้าว ผลการสำรวจ พบว่า ส่วนใหญ่รู้สึกพึงพอใจแต่ กลุ่มที่ไม่ใช่เกษตรกรจะมีความพอใจน้อยกว่ากลุ่มเกษตรกร โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

  • ร้อยละ 51.8 รู้สึกพอใจอย่างมาก
  • ร้อยละ 28.4 รู้สึกพอใจ
  • ร้อยละ 14.1 รู้สึกไม่พอใจ
  • ร้อยละ 5.7 ที่รู้สึกไม่พอใจอย่างมาก

เมื่อถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างว่า รู้สึกอย่างไรต่อการที่มีนักวิชาการจากหลายๆ สถาบัน ออกมาท้วงติงนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาล

  • ร้อยละ 47.5 ตอบว่าไม่เห็นด้วยกับการคัดค้านเล็กน้อย
  • ร้อยละ 29.7 ไม่เห็นด้วยกับการคัดค้านอย่างมาก
  • ร้อยละ 14.5 ตอบว่าเห็นด้วยเล็กน้อย
  • ร้อยละ 8.2 ตอบว่าเห็นด้วยอย่างมาก      

อีสานโพล ได้สอบถามต่อถึงความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างว่า ใครเป็นผู้ได้ผลประโยชน์มากที่สุดต่อนโยบายรับจำนำข้าวนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ตอบว่า

  • ร้อยละ 30.2 เห็นว่าเป็นกลุ่มชาวนารายย่อยที่ได้ประโยชน์มากที่สุด
  • ร้อยละ 24.7 เห็นว่าเป็นผู้ประกอบการโรงสีที่ได้สิทธิเข้าร่วมโครงการ
  • ร้อยละ 19.9 เห็นว่าเป็นกลุ่มนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต
  • ร้อยละ 19.7 เห็นว่าเป็นกลุ่มชาวนารายใหญ่
  • ร้อยละ 5.5 ที่คิดว่าเป็นกลุ่มอื่น ๆ เช่น ผู้ส่งออกข้าวที่เป็นเครือข่ายของรัฐบาล

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงสิ่งใดที่รัฐควรปรับปรุงต่อนโยบายรับจำนำข้าวมากที่สุด พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกรส่วนใหญ่

  • ร้อยละ 34.4 เห็นว่าควรป้องกันการทุจริต
  • ร้อยละ 31.8 ควรเพิ่มราคาจำนำให้สูงขึ้น 
  • ร้อยละ 20.4  จ่ายเงินชาวนาให้เร็วขึ้น
  • ร้อยละ 10.1  จำกัดปริมาณรับจำนำ เพื่อเน้นช่วยเหลือชาวนารายย่อย      

เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างว่า ต้องการให้ดำเนินนโยบายนี้ต่อไปหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกรส่วนใหญ่กว่า

  • ร้อยละ 60.9 เห็นว่า ควรดำเนินนโยบายต่อไปเรื่อยๆ
  • ร้อยละ 16.8 เห็นว่า ควรทำเฉพาะช่วงที่ราคาตกต่ำเท่านั้น
  • ร้อยละ 11.5 เห็นว่าควรทำอีก 2-3 ปี
  • ร้อยละ 8.9 เห็นว่าให้ทำปีนี้เป็นปีสุดท้าย
  • ร้อยละ 1.8 และไม่แน่ใจ