นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาราคายางพาราว่า ขณะนี้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมากว่าครึ่งเดือน โดยราคายางแผ่นดิบในประเทศทะลุราคากิโลกรัม(ก.ก.) ละ 90 บาท และราคา ณ จุดส่งออก (ราคาเอฟโอบี) เลยก.ก.ละ 100 บาทแล้ว โดยมั่นใจว่าราคาต่อจากนี้ไปจะขยับตัวสูงขึ้น เพราะทุกมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการนั้นกำลังส่งผลในเชิงบวก ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจระดับโลกอยู่ในสภาพทรงตัว ไม่มีสัญญาณลบใดๆ มากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งการที่ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ถือว่าเกิดจากยุทธศาสตร์ยางพาราไทยที่ยังมีการซื้อยางพาราเก็บเข้าสต๊อกมากกว่า 2.4 แสนตันแล้ว และยังมีการซื้อเข้าอย่างต่อเนื่อง และการแสดงจุดยืนของรัฐบาลในการจะใช้ยางพาราในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการนำยางมา ทำถนน ที่คณะกรรมการบริหารสำนักงานกองทุนการทำสวนยาง (ส.ก.ย.) ได้อนุมัติงบประมาณในการใช้ยางมาทำถนนแล้ว
"การที่ราคายางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ผู้นำเข้าทั้งจีน และอินเดียกังวลว่าจะไม่มียางใช้ และมีการแสดงความจำนงจะซื้อยางไทยหลายราย แต่ผมยืนยันไม่ขาย จะเก็บไว้ใช้เอง จึงส่งผลให้ราคายางพาราในตลาดโลกที่ขยับตัวสูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งของการใช้ยางในประเทศ คือจะใช้ยางพาราที่ซื้อเก็บไว้สร้างถนนที่ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ของกรมวิชาการเกษตร ที่จัดงบประมาณไปแล้ว 85.5 ล้านบาท ระยะทาง 19 กิโลเมตร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปีนี้ และจะเชิญรัฐบาลและเอกชนของจีนมาชมพิธีเปิดถนนหากสร้างเสร็จ" นายณัฐวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ตนจะเดินทางไปยังประเทศเวียดนามเพื่อหารือกับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในเรื่องยางพารา โดยตนจะเชิญให้เขามาร่วมสังเกตการณ์การประชุมใหญ่สภาไตรภาคียางพาราในเดือนธ.ค.นี้ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม
ด้านนายประภาส เอื้อนนทัช นายกสมาคมยางพาราไทยกล่าวว่า ราคายางพาราในประเทศปรับตัวดีขึ้น น่าจะเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ
1.มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี 3) ของสหรัฐ ส่งผลให้ราคายางซึ่งเป็นสินค้าคอมมูนิตี้จะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น
2.มาตรการจำกัดปริมาณการส่งออกซึ่งเป็นความร่วมมือของ 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย จำนวน 3 แสนตัน โดยไทยจะต้องงดการส่งออกยางตามความร่วมมือจำนวน 1.4 แสนตัน และ 3.โครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง 1.5 หมื่นล้านบาท ที่ซื้อยางเก็บไว้แล้ว 1 แสนตัน และยังมีเงินก้อนใหม่สำหรับสานต่อโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราอีก 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น
"การที่ราคายางปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากประเทศผู้ใช้ยางกังวลว่า หาก 3 ประเทศร่วมมือกัน และการเอาจริงเอาจังของรัฐบาลไทยที่อัดเงินสำหรับซื้อยางเก็บเพื่อให้ราคายางไม่ตกต่ำลง ขณะที่ รมช.เกษตรฯ ได้ประกาศชัดที่ประเทศจีนต่อหน้านักธุรกิจว่าหากราคายางยังตกต่ำก็จะไม่ขาย จนกว่าจะได้ราคาดี ส่งผลให้ประเทศผู้ใช้ยาง โดยเฉพาะเอกชนจีนต่างกังวลว่าราคายางจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและอาจสูงขึ้นถึง 120 บาท/ก.ก.ในเร็ววันนี้" นายประภาสกล่าว