สมาชิกบ้าน 111 ที่เพิ่งออกมา ทุกคนมีงานล้นมือหมด ไม่มีใครคิดถึงเรื่องปรับครม.เลย ที่สำคัญการแต่งตั้งเป็นเรื่องของนายกฯที่ชัดเจนว่าวันนี้ยังไม่ตั้ง
ติดโผทุกครั้งที่มีกระแสข่าวปรับทัพเสนาบดีของรัฐบาล สำหรับ "เสี่ยอ้วน" ภูมิธรรม เวชยชัย ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทยดีกรีอดีต รมช.คมนาคม ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ล่าสุดเก้าอี้ รมว.มหาดไทย ว่างลง หลัง ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ยอมไขก๊อกแรงบีบทางการเมืองในคดีสนามกอล์ฟอัลไพน์ข่าวลือ "ภูมิธรรม" ผงาดยึด มท.1 กลับมาบนหน้าสื่ออีกครั้งแต่เจ้าตัวยังเขิน แถมปฏิเสธเสียงดังว่ายังไม่มีการส่งสัญญาณ
"ไม่เห็นนายกฯ ส่งสัญญาณ มีแต่สื่อที่ตั้งให้ผมรายวัน" เสี่ยอ้วนเปรย พลางยิ้มอารมณ์ดี เมื่อ "โพสต์ทูเดย์" ถามถึงกระแสข่าวที่มีชื่อติดโผการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปู 3
ตอนเป็นรัฐมนตรีครั้งแรก พ.ต.ท.ทักษิณ บอกก่อนไหม ? เสี่ยอ้วน ตอบว่า วันที่รู้ครั้งแรกคือวันที่เชิญมาคุยเรื่องงานเมื่อคุยเสร็จแล้วก็เรียกมาเขียนใบสมัครก็แค่นั้น ใครได้เขียนใบสมัครก็ชัดเจนว่าได้เป็นรัฐมนตรี เป็นกระบวนการธรรมดา นายกฯ จะจัด ครม. เขาย่อมรู้ว่าการบริหารประเทศเขาต้องการกำลังส่วนไหน อย่างไร เพื่อที่จะไปทำภาระหน้าที่อะไร แล้วคนในพรรคก็มีศักยภาพเยอะแยะ ดังนั้นจะต้องคิดว่าใครเหมาะกับจุดไหน เมื่อจัดได้ลงตัวทั้งหมด เขาก็เริ่มทาบทาม
เขาย้อนภาพไปสมัยรัฐบาลไทยรักไทย แต่ ณปัจจุบันสำหรับพรรคเพื่อไทยภูมิธรรม ยืนยันว่า การปรับ ครม.เป็นอำนาจของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หากนายกฯ ไม่ปรับก็คือไม่ปรับ ย้ำว่าไม่ต้องเสียเวลาตีความมาก เพราะส่วนตัวไม่เคยดิ้นรนอยากได้ตำแหน่งรัฐมนตรี
"สมาชิกบ้าน 111 ที่เพิ่งออกมา ทุกคนมีงานล้นมือหมด ไม่มีใครคิดถึงเรื่องปรับ ครม. เลย ที่สำคัญการแต่งตั้งเป็นเรื่องของนายกฯที่ชัดเจนว่าวันนี้ยังไม่ตั้ง ต้องใส่ใจพายุดีเปรสชันที่กำลังจะเข้าประเทศ มันก็ชัดเจนในเหตุผลอยู่แล้วว่าประเทศกำลังเผชิญปัญหาสำคัญ การปรับ ครม. ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ใครที่มัวแต่นั่งคิดเรื่องปรับ ครม. ก็คิดฝันไปตามแต่เจตนารมณ์ความต้องการของตัวเอง"
"ในทางที่ถูกต้องคือยังไม่ต้องคิดอะไร ผมเองก็ทำงานมีบทบาทชัดเจนอยู่แล้ว เป็นกองหลังของรัฐบาล เป็นกองหน้าของพรรค ไม่ใช่ภาระที่ต้องไปดิ้นรนอะไร" ภูมิธรรม ตอบเสียงดังฟังชัดเสี่ยอ้วนแจงภารกิจ "กองหน้าพรรค" ที่กำลังง่วนแทบทุกสัปดาห์ว่า หลังเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการพรรค 3 เดือน ได้เริ่มปฏิรูประบบคณะกรรมการในพรรคเพื่อไทยดึงอดีตผู้บริหาร ส.ส. สมาชิกพรรคที่ก่อนหน้านี้แตกกระเด็นกระจัดกระจาย หลังพรรคเผชิญมรสุมทางการเมืองเข้ามารวมไว้อย่างมีเอกภาพ เพื่อช่วยกันรวมศูนย์การบริหารงานนำพารัฐบาลไปให้ถึงฝั่ง ทำภารกิจครบเทอม
เริ่มที่ "ทีมขงเบ้ง" ประจำพรรคอย่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์ที่คอยวางแผน คุมทิศทางเปลี่ยนยุทธวิธีรุก-รับทางการเมือง "เสี่ยอ้วน" เผยว่าดึงสมาชิก 111 เข้ามาประจำการอย่างเต็มตัว รวมคณะกรรมการทั้งสิ้น 10 กว่าชีวิต อาทิ ภูมิธรรมจาตุรนต์ ฉายแสง โภคิน พลกุล พงศ์เทพ เทพกาญจนา สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ประชุมสัปดาห์เว้นสัปดาห์ มี ยิ่งลักษณ์ เป็นประธาน แต่อาจมอบหมายผู้อื่นแทนได้
ต่อมาคือ "คณะกรรมการบริหารโซน 19 โซน" ที่เปลี่ยนมาจากการบริหารแบบ 5 ภาค ภูมิธรรม แจงว่า ก่อนหน้านี้คิดว่าระบบภาคง่ายกว่าเพราะมีผู้บริหารไม่กี่คน สามารถรวมศูนย์แล้วทำงานได้ แต่ในความเป็นจริง พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่ มีสมาชิกสภา 260 กว่าคน ทำให้บริหารกันเองได้ไม่ทั่วถึง โดยระบบโซนแบ่งเป็น กรุงเทพมหานคร (กทม.) 3 โซน ภาคกลาง 4 โซน อีสาน 6 โซน ภาคเหนือ 3 โซน ภาคใต้ 3 โซน ประธานแต่ละโซน คือ รัฐมนตรี มีหน้าที่ดูแลสมาชิกพรรค ส.ส. อดีตผู้สมัคร ส.ส. หรือผู้สมัครหน้าใหม่ที่เตรียมลงสมัคร ที่เน้นทำงานเข้าถึงประชาชน แล้วรายงานการประชุมทุกเดือนที่มีนายกฯ นั่งโต๊ะเป็นประธานคณะกรรมการโซนใหญ่เดือนละครั้ง
อย่างไรก็ตาม ภายหลังอาจมีการมองว่าคณะกรรมการโซนเป็นผู้ส่งตัวผู้ลงสมัครเลือกตั้ง แต่ยืนยันว่าการเลือกตั้งยังเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรคในการตัดสินใจสามารถตั้งคณะอนุกรรมการคัดเลือกผู้สมัครขึ้นมาในช่วงเวลาที่จะมีการเลือกตั้ง
ขึ้นชื่อว่าพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดในประเทศทั้งที เสี่ยอ้วน อธิบายต่อว่า ยังมีอีกหลายคณะกรรมการ เช่น คณะกรรมการประสานภารกิจก็คือ เอาประเด็นที่หารือในที่ประชุมใหญ่ที่นายกฯ และประธานโซนกำหนด ลงมาดำเนินการผลักดันให้เกิดขึ้น เน้นว่าต้องประชุมทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการประสานงานในรัฐสภา ที่ประชุมกรรมการวิปรัฐบาลฝั่งพรรคเพื่อไทยก่อนจะมีการเรียกประชุมวิปรัฐบาลทุกวันจันทร์เช้า โดยจะมีนายกฯ นั่งประชุมด้วยเช่นกัน เพื่อร่วมรับฟังว่าวิปมีข้อเสนออะไรจะตักเตือนรัฐบาล
ทั้งนี้ ยังมีที่ประชุมผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี และเลขานุการรัฐมนตรีอีกชุด ที่ผ่านมาประชุมวันละ3ครั้ง มีเจ้าตัวเป็นประธาน
ในที่ประชุม รับฟังความเห็นปัญหาในแต่ละกระทรวง ทั้งยังจัดตั้งสำนักงานผู้อำนวยการโดยสำนักผู้อำนวยการนี้ ภูมิธรรม ดึงคนสนิทตั้งแต่ไทยรักไทย มีประสบการณ์โชกโชนเข้ามาทำหน้าที่
ไม่เพียงจัดระบบเฉพาะคนในพรรค แต่คนนอกพรรค เสี่ยอ้วน ก็เร่งจัดระเบียบเช่นกัน วาดภาพสมาชิกพรรคของเพื่อไทยไม่ให้ต่างจากไทยรักไทยสมัยยังรุ่งเรืองเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วโดยสั่งตรง ส.ส. พรรค ให้เดินหน้าหาสมาชิกพรรค 5,000 คนต่อ ส.ส. 1 ราย ตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้ต้องได้สมาชิกพรรคไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน
"เราสะดุดไปมาจากการถูกยุบพรรคภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญที่มันไม่สมบูรณ์พิกลพิการ ผมไม่อยากใช้คำว่า รัฐธรรมนูญวิปริตเพราะพยายามสกัดกั้นบทบาทการเติบโตของพรรคการเมือง ทั้งที่พรรคการเมืองเป็นหัวใจของระบบรัฐสภา เป็นศูนย์รวมในการจะดึงเอาคนเข้ามาเป็นองค์ประกอบของตัวสถาบัน แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันกลับไม่ได้เปิดโอกาสให้กับพรรคการเมืองเท่าที่ควร"
"ที่ผ่านมาพรรคไทยรักไทยถูกยุบไป 2 ครั้งเป็นการยุบที่ไม่ยุติธรรม ไม่ค่อยสมเหตุสมผลในระบอบประชาธิปไตย มันได้สร้างปัญหา เกิดภาวะบุคลากรของพรรคถูกทำให้ต้องยุติบทบาทลง เขาเองก็ต้องดิ้นรนกับกลไกของรัฐที่กระทำต่อเขา เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่มีเวลามาพัฒนาพรรคให้มีพื้นฐานที่แข็งแรง ต้องถือว่าช่วงที่เพิ่งผ่านมาผู้บริหารของพรรครุ่นใหม่เก่งมากที่ทำงานจนสามารถได้รับเสียงข้างมากในสภา แต่ว่าไม่พอ ยังต้องมีกระบวนการที่ต่อเนื่องที่ทำให้รัฐบาลและพรรคแข็งแรงมากขึ้นจะต้องดึงความร่วมมือของคนในพรรคและประชาชนให้มีส่วนร่วมให้มากขึ้น ให้เป็นองคาพยพที่พัฒนาทรัพยากรบุคคล สมาชิกพรรค หรือผู้ที่มีส่วนทางการเมืองทั้งระบบ แต่ปัจจุบันตรงนี้มันยังขาดไป"
"เพราะฉะนั้นเมื่อเข้ามาผมพยายามดึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพรรคและสมาชิกของพรรคและประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้มากขึ้น มีการจัดองค์กรใหม่ จัดคณะกรรมการใหม่ วันนี้ทุกคนสบายใจขึ้น ได้มีบทบาทแสดงมากขึ้น พอดีกับคนในบ้านเลขที่ 111 ซึ่งเป็นคนเก่าคนแก่ของพรรคเราก็ถูกดึงเข้ามาช่วยกันทำงาน องคาพยพของพรรคก็สามารถระดมคนที่มีความสามารถในแต่ละบทบาทของเขาเข้ามาทำงานได้เต็มที่มากขึ้น"
ภูมิธรรม ชี้ความคืบหน้าของระบบสมาชิกพรรคว่า ขณะนี้ได้ให้ใบสมัครออกไปแล้ว 1 ล้านใบ โดยคณะกรรมการบริหารพรรคจะแก้กฎระเบียบที่จะทำให้รับสมาชิกพรรคสามารถรับได้ที่สำนักงานใหญ่ สำนักงานสาขาประมาณ 6 สาขา ศูนย์ประสานงาน ส.ส. และสถานที่จัดกิจกรรมของ ส.ส. ทุกคนเต็มไปหมดหลายร้อยหลายพันที่ หากระเบียบนี้ออกไปก็ทำได้หมด ไม่ต้องเดินมาสมัครที่พรรคเพียงอย่างเดียว ขณะนี้รับสมัครบุคลากรมา 30-40 คน เตรียมที่จะคีย์ข้อมูลเข้าระบบพรรคแล้วเราต้องจัดองคาพยพภายในพรรคให้ได้ภายในสิ้นปี
"ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากผมเข้ามาทำ ก่อนเข้ามาไม่ได้มีกลไกขนาดนี้" เสี่ยอ้วนพูดพลางยิ้มภูมิใจกับโครงการที่วาดฝันพรรคเพื่อไทยให้แข็งแรงไม่ต่างจากไทยรักไทยในครั้งอดีต
จำนำข้าวทุจริตประกันราคาก็ทุจริต
4 เดือนคือระยะเวลาที่ ภูมิธรรม เวชยชัย ยืนยันว่าเป็นช่วงที่รัฐบาลได้ทำงานอย่างจริงจังในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ได้รับเลือกตั้ง เพราะเสียเวลากับพิบัติอุทกภัยและการปรับจูนกำลังคนโดยเฉพาะงบประมาณที่ถูกฝ่ายค้านหั่นงบรายจ่าย ซึ่งยังไม่นับวิกฤตเศรษฐกิจโลกและความขัดแย้งทางการเมืองที่รัฐบาลต้องฝ่ามรสุมดังนั้นการที่ "ยิ่งลักษณ์" ผลักดันนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาได้สำเร็จมากถึงขนาดนี้ ภูมิธรรม ระบุว่า "แค่นี้ก็เก่งมากแล้ว" "แต่ปีนี้จะเป็นตัววัดฝีมือเขาแบบเนื้อๆ ว่ามีศักยภาพแค่ไหน" เจ้าตัวประเมินก่อนยอมรับว่าอาจมีบางนโยบายที่ทำได้ยากและต้องใช้เวลามากเป็นพิเศษ เช่น การปรองดองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีเสียงข้างมาก
ผลักดันให้เกิดขึ้นได้ แต่สถานการณ์ที่คนในสังคมอยู่บนพื้นฐานของความขัดแย้ง ที่ผ่านมารัฐบาลจึงรู้จักรอ ให้เวลากับสังคมได้ทำความเข้าใจมากขึ้น ไม่ได้ใช้เสียงข้างมากที่มีอยู่ตัดสินใจแต่ถึงจุดหนึ่งยอมรับว่าต้องมีการตัดสินใจเป็นธรรมดา
โครงการรับจำนำข้าวถือเป็นอุปสรรคในปีที่ 2 ของรัฐบาลไหม ? ภูมิธรรม ยืนยันว่ารัฐบาลยังเดินหน้าเต็มที่ในนโยบายนี้ เพราะเป้าหมาย
อยู่ที่พี่น้องประชาชน ชาวนา และเกษตรกร ตามที่พรรคเพื่อไทยคิดไว้ตั้งแต่แรกต่างจากโครงการประกันราคาข้าวของพรรคฝ่ายค้าน ที่ เป้าหมายให้น้ำหนักไปที่พ่อค้าและผู้ส่งออก
"ถามว่ามีกระบวนการทุจริตคอร์รัปชันไหมมีทั้งสองฝ่าย ประกันราคาข้าวก็มีการโกงใบประทวน มี 20 ไร่ บอกว่ามี 50 ไร่ มาเบิกเงินเกิน จำนำข้าวก็มีการสวมสิทธิเอาข้าวนอกเข้ามา แต่คำถามควรอยู่ที่ว่าขณะนี้มีการคอร์รัปชันของฝ่ายการเมืองแล้วหรือยัง ถ้าฝ่ายการเมืองได้ประโยชน์ ผมเชื่อว่าสังคมยอมรับไม่ได้ แต่โครงการนี้ต้องรู้จักรอเวลาให้กระบวนการมันครบวงจรว่าขายข้าวได้หรือไม่ มีเงินมาหมุนเวียนเท่าไร ถ้ากำหนดราคาขายได้ เงินที่รัฐลงไปอุ้มชูเกษตรกรมันอาจเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการประกันราคาข้าวก็ได้"
"เสียงวิจารณ์ขณะนี้ก็ต้องฟัง แต่อย่าคิดว่านักวิชาการจะมองอะไรถูกต้องเสมอไป เพราะหลายเรื่องที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยหรือไทยรักไทยเคยทำมา ก็อยู่บนฐานที่ไม่ได้เหมือนกับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่หลายคนเชื่อในโลกนี้ไม่มีทฤษฎีที่มันถูกต้องเป๊ะ เพราะเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องการคำนวณอนาคตต้องดูความสำคัญและปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยก็วิเคราะห์คาดการณ์ผิดมาเยอะแล้ว"
ไม่อธิบายเปล่า ภูมิธรรม ฉายภาพเมื่อครั้งไทยรักไทยคลอดนโยบายว่า
"โครงการกองทุนหมู่บ้าน เราใช้เงินทั้งหมดบนพื้นฐานความคิด คือ ต้องการกระจายทรัพยากร โดยตัดตอนกระบวนการควบคุมทรัพยากรเพื่อลงไปหาประชาชนเอาเงินถ่ายเทจากรัฐลงไปอยู่ที่ชาวบ้านโดยตรง 8 หมื่นหมู่บ้านเราเชื่อว่าเงิน8 หมื่นล้านจะเคลื่อนตัวอยู่ในหมู่ประชาชน และทำให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ขึ้นอีก 6-7 เท่าตัว ถามว่า 8 หมื่นล้านดีหมดเลยไหม ไม่ใช่! เสียหายไหม มีเสียหาย แต่รายงานวิจัยของเวิลด์แบงก์ ทีดีอาร์ไอ มีข้อยืนยันว่าเสียหายไม่ถึง 5%"
"ยกตัวอย่างครูมาสอนคณิตศาสตร์แล้วให้การบ้านคุณไป 20 ข้อ คุณก็ทำมาถูก 8 ข้อบ้าง10 ข้อบ้าง ก็เหมือนประชาชนที่เขาต้องได้โอกาสที่จะเรียนรู้ อย่ามองการเรียนรู้ของประชาชนที่ผิดพลาดเป็นข้อเสียหายที่ให้อภัยไม่ได้ คุณต้องให้กระบวนการที่ทำให้เขาได้ฝึกคิด ฝึกใช้เงิน ฝึกสร้างรายได้ และฝึกสร้างดอกผลให้เกิดขึ้นกับเขา เป็นแบบฝึกหัดทางสังคม ดังนั้นอย่ามองความบกพร่องของประชาชนเป็นข้อสรุปเพียงเพื่อจะปิดโอกาสเขา"
"เอสเอ็มแอลก็เหมือนกัน คุณก็บอกว่าไอ้นี่ประชานิยม เอาเงินลงไปให้เขา 4-5 แสน แจกเงิน เอ้า! ก็คุณมองจากผู้ให้ มองจากคนที่เหนือกว่า แต่ไม่เคยมองจากมุมชาวบ้านที่เขายากลำบากกว่าจะเข้าถึงงบประมาณ" ภูมิธรรม ย้ำแนวคิดที่เขาเชื่อมั่นจากการอยู่เบื้องหลังผลักดันนโยบายพรรคมานับสิบปี
"เรื่องจำนำข้าวก็เช่นกันเป็นกระบวนการที่เปิดให้ประชาชนเขาเรียนรู้ เป้าหมายเราอยู่ที่เกษตรกร แต่ถ้าคุณจะมาโยงไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ผมต้องถามถึงจุดยืนของคุณว่ากำลังตัดสินใจบนพื้นฐานของใครได้ประโยชน์เป็นนักวิชาการคุณมีหน้าที่ต้องมองให้ครบถ้วนกระบวนความ คุณกำลังพูดด้านหนึ่ง แต่เลอะเลือนหรือเมินเฉยที่จะมองอีกด้านหรือไม่ ดังนั้น ให้สังคมเป็นตัวตัดสิน จะผิดถูกเป็นเรื่องในอนาคตที่รัฐบาลต้องทบทวนมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับความบกพร่องที่เกิดขึ้น แต่ผมคิดว่าความบกพร่องในทางนโยบายนั้นเป็นความตั้งใจจริง ถ้ามีผลเสียหายอะไรไม่มากก็ควรจะยอมรับได้ ไม่เช่นนั้นการคิดสิ่งใหม่ๆ ก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น"
ชุดดำไม่ใช่ประเด็น
แรงสะเทือนจากการคลอดผลสรุปการศึกษาของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เมื่อเดือนที่แล้วกลายเป็นชนวนสร้างความแตกร้าวเพิ่มขึ้นในสังคม ในฐานะกองหน้าพรรคการเมืองที่คุมกลไกอำนาจรัฐบาล "ภูมิธรรม" วิเคราะห์ผ่านสายตาของผู้ที่ผ่านวิกฤตความขัดแย้งมาหลายยุคสมัยว่า เป็นเรื่องถูกต้องที่มีคนบอกว่ารายงานฉบับนี้ไม่สามารถจะตอบสนองต่อความพอใจของคนได้ทั้งหมด แต่คำถามคือคอป.ได้พูดถึงในส่วนของคนที่เป็นผู้ถูกกระทำมากพอหรือไม่ที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้ได้รู้สึกว่าความทุกข์ของตัวเองได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดบ้าง
ภูมิธรรม แนะว่า "วันนี้ที่ควรทำคือ คอป. ต้องบอกว่า นี่คือความจริงส่วนหนึ่งที่ได้เห็นมา และมีบางอย่างเป็นความเชื่อของตัวเอง จากนั้นสังคมต้องช่วยกันมองหลายด้าน มันถึงจะมีทางออกแล้วเดินไปได้ แต่ถ้าบอกว่าฉันคือผู้ผูกขาดความจริง รายงานนี้คือสิ่งที่ฉันเห็นทั้งหมด มันไม่ง่าย แต่หากคุณยอมรับว่าความเป็นจริงมีหลายด้าน ทุกคนก็จะยอมรับได้ว่าอย่างน้อยความจริงที่ฉันเห็นก็มีคนยอมรับและเชื่อฟัง"
"ผมว่า คอป. พลาดที่ให้คุณสมชาย (หอมลออ กรรมการ คอป.) ออกมาพูดเรื่องชายชุดดำ ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ชุดดำไม่ชุดดำ แต่คุณพูดถึงคนที่ได้รับผลกระทบไม่พอ แล้วมาบอกว่ารายงานไม่ได้มีแค่นี้ ก็คุณปล่อยให้คุณสมชายพูดซะส่วนใหญ่ในเรื่องที่คุณสมชายเชื่อไม่ว่าคุณสมชายจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มันทำให้คนอื่นมองว่าสิ่งที่คุณสมชายพูดเหมือนจะบอกว่าความจริงมันอยู่แค่ตรงนั้น เมื่อวิธีการมันผิดพลาด ปัญหามันก็เกิด"
"ถ้าให้เสนอ ผมจะเอารายงานของ คอป. กับรายงานของ ศปช. (ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 2553) มาบวกกัน แล้วสังคมก็เอามาเผยแพร่ให้มันกว้าง ขณะเดียวกันกระบวนการยุติธรรมก็กำลังทำหน้าที่ในคดี สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรให้เอกสารของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเอกสารอ้างอิงที่เป็นข้อสรุป ควรเปิดให้เอกสารทั้งสองด้านเข้าไปใช้ในศาลได้ แล้วดุลยพินิจก็อยู่ที่ผู้พิพากษา"