"นักข่าวอัลจาซีรา" ยืนยัน "ไม่เห็นชายชุดดำ" คืน 10 เม.ย.

ข่าวสด 12 ตุลาคม 2555 >>>




รุดให้การ "ดีเอสไอ" ยันไม่เห็น


นายเวย์น เฮย์ ผู้สื่อ ข่าวอัลจาซีราประจำกรุงเทพฯ เข้าให้ปากคำกับ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดี ดีเอสไอ หัวหน้าพนัก งานสอบสวนคดี 98 ศพ กรณีชายชุดดำในเหตุการณ์สลายม็อบ 10 เม.ย. 53 ตามข่าว
นักข่าว "อัลจาซีรา" เข้าให้การดีเอสไอ ยังสับสน "ชายชุดดำ" ยันขณะรายงานเหตุการณ์คืน 10 เม.ย. 53 แยกคอกวัว ก็ไม่เห็น ขณะที่ทีมสอบคดี 98 ศพ เจอพิรุธอีกในรายงาน คอป. ระบุมีชุดดำติดอาวุธ 5 คน ลงจากรถตู้สีขาว ที่แยกสี่กั๊กพระยาศรี แต่พอตรวจกล้องวงจรปิดกลับไม่พบข้อมูล เตรียมเรียก"สมชาย หอมลออ" มาให้การ ส่วนศาลประชุมคดี 6 ศพวัดปทุมฯ สรุปมีพยาน เข้าไต่สวน 49 ปาก เตรียมนำเจ้าหน้าที่บนรางรถไฟฟ้า และชุดปฏิบัติหน้าที่บริเวณพื้นราบขึ้นเบิกความด้วย
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 11 ต.ค. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดประชุมบริหารคดีดำหมายเลขดำที่ ช.5/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้ตายที่ 1, นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ตายที่ 2, นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้ตายที่ 3, นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี พนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้ตายที่ 4, น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี พยาบาลอาสา ผู้ตายที่ 5, และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้ตายที่ 6 โดยทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553
ศาลพิเคราะห์เห็นว่ามีพยานหลักฐานที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เป็นจำนวนมาก จึงเห็นควรงดไต่สวนพยานบางปาก โดยเหลือพยานที่จะเข้าไต่สวนจำนวน 49 ปาก ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ ประจักษ์พยาน เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจพิสูจน์หลักฐาน พนักงานสอบสวน และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยศาลนัดตรวจพยานของฝ่ายทนายญาติผู้ตายที่ 1-6 ในวันที่ 18 ต.ค. เวลา 09.00 น.
นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้ตาย กล่าวว่า สำหรับพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารแบ่งเป็น 2 ชุด คือ ชุดที่ปฏิบัติหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าในวันเกิดเหตุ เช่น พ.ต.นิมิตร วีระพงศ์ หัวหน้าภารกิจป้องกันหน่วยทหาร ร.31 พัน 2 รอ. จ.ส.อ. สมยศ ร่มจำปา รองหัวหน้าชุด และ ส.อ.เดชาธร มาขุนทด เป็นต้น และชุดที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่พื้นที่ราบบริเวณแยกเฉลิมเผ่า เช่น พ.ท.ยอดอาวุธ พึ่งพักตร์ ผบ.ร.31 พัน.2 รอ. ส่วนพยานของฝ่ายทนาย จะประชุมหารือกันก่อน จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีใครบ้าง
เวลา 15.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายเวย์น เฮย์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอัลจา ซีรา ประจำกรุงเทพฯ เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ. ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดี 98 ศพ เพื่อให้ปากคำในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 บริเวณแยกคอกวัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสอบปากคำเบื้องต้น ทางพนักงานสอบสวนนำภาพถ่าย และคลิปเหตุการณ์มาให้นายเวย์นตรวจสอบ เนื่องจากภาพในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระบุว่าถ่ายโดยผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว อัลจาซีรา เป็นภาพชายชุดดำถือปืนยาว และคลิปภาพขณะที่ชายชุดดำยิงปืน และมีประกาย ไฟออกมาจากปากกระบอกปืน แต่นายเวย์นตรวจสอบภาพและคลิปดังกล่าวแล้วปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ถ่ายคลิป โดยระบุว่าเข้าไปทำข่าวการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ตั้งแต่เริ่มชุมนุมเมื่อเดือน มี.ค. 2553 และเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ทางสำนักข่าวอัลจาซีราส่งนักข่าว 1 คน และช่างภาพอีก 4 คน ร่วมทำข่าว โดยตนเองเป็นผู้รายงานข่าวเข้าไปยังสำนักข่าวเท่านั้น ไม่ได้ มีส่วนเกี่ยว ข้องกับฝ่ายช่างภาพ และขณะทำข่าวที่แยกคอกวัว ก็ไม่เห็นชายชุดดำถือปืนยาวแต่อย่างใด
ด้าน พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวว่า การเชิญผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอัลจาซีรามาให้ปากคำ เนื่องจากต้อง การทราบว่าชายชุดดำที่ปรากฏภาพในคลิปเมื่อ วันที่ 10 เม.ย. นั้น นายเวย์นเป็นผู้ถ่ายหรือไม่ แต่นายเวย์นปฏิเสธ ดังนั้นดีเอสไอจึงต้องประสานไปยังสำนักงานใหญ่ของสำนักข่าวอัลจาซีรา เพื่อค้นหาตัวบุคคลที่ถ่ายภาพชายชุดดำต่อไป
รองอธิบดีดีเอส ไอ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีชายชุดดำตามที่พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ระบุว่ามีกลุ่มชายชุดดำมีอาวุธ 5 คน ลงมาจากรถตู้สีขาวคันหนึ่ง บริเวณแยกสี่กั๊กพระยาศรี ย่านเจริญกรุง ก่อนหายตัวไปนั้น จากการตรวจสอบกล้องซีซีทีวีของ กทม. ที่ติดอยู่บริเวณดังกล่าวแล้วไม่พบข้อมูลตามที่ คอป. ระบุ แต่มีรถตู้สีขาววิ่งผ่านไปมาปกติ และมีรถจักรยานยนต์วิ่งไปมา ไม่มีสิ่งใดต้องสงสัย ดังนั้น ภายในสัปดาห์หน้าจะต้องทำหนังสือ เชิญตัว นายสมชาย หอมลออ กรรมการ คอป. มาให้ข้อมูลอีกครั้ง และยืนยันจุดที่แน่นอน
หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดี 98 ศพ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีกลุ่มนายทหารระดับ ผบ.พล และ ผบ.พัน ที่เป็นผู้คุมกำลังและดูแลพื้นที่ใน วันที่เกิดเหตุรุนแรงปี 2553 นั้น พนักงานสอบ สวนส่งหนังสือเชิญนายทหารกลุ่มนี้มาให้ข้อมูลแล้ว 2 ครั้ง แต่ก็ขอเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด อ้างว่าติดภารกิจสำคัญ ดังนั้นพนักงานสอบสวนจะส่งหนังสือเชิญตัวอีกครั้ง และจะเป็นครั้งสุดท้าย หากยังไม่มาพบอีกจะทำหนังสือถึงกองทัพทันที เพื่อให้นำตัวนายทหารกลุ่มนี้มาให้ข้อมูลกับ ดีเอสไอต่อไป
ที่รัฐสภา นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และหนึ่งในแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การโยกย้ายข้าราชการในช่วงก่อนหน้านี้ พบว่ามีเจ้าหน้าที่บางนายที่ร่วมการสลายการชุมนุมของกลุ่มนปช.ได้ดิบได้ดี นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่า พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก จะได้เป็นนายพล ยอมรับว่าไม่สบายใจ จะทำให้ตอบคนเสื้อแดงไม่ได้ คนเสื้อแดงมองการทำงานด้วยความห่วงใย เพราะคดี 98 ศพยังไม่มีความคืบหน้า และคนเสื้อแดงก็ยังติดคุก ทาง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ต้องเข้าใจความรู้สึกประชาชนด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการประชุมสภา ผู้แทนราษฎร โดยมีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภา คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมรับทราบรายงานการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2551-2552 ต่อจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ปิดประชุมสภา ก่อนจะรับทราบรายงานดังกล่าว โดยนายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่ารายงานฉบับนี้จะต้องส่งให้รัฐสภาร่วมพิจารณา แต่เมื่อส่งมาที่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว ถือว่าไม่ถูกต้อง และขอให้ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำรายงานนี้กลับไปทบทวน เนื่องจากมีรายละเอียดบางส่วนไม่ครอบคลุม หรือให้ส่งรายงานนี้ไปยังคณะกรรมาธิการกฎหมาย ยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏรพิจารณา
จากนั้น ส.ส.ประชาธิปัตย์ คัดค้านว่ารายงานฉบับนี้เป็นเพียงการรับทราบเท่านั้น อีกทั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ยืนยันว่าจะไม่ถอนรายงานไปทบทวน เพราะถือว่าจบกระบวนการแล้ว โดยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่าทำไม่ได้ น่ารังเกียจ หากสภามีมติที่จะเสนอไปยังคณะกรรมาธิการสามัญน่าจะเป็นมติที่ไม่ถูกต้องตาม กฎหมาย และไม่ว่ามติจะออกมาอย่างไร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ต้องยืนยัน ความเป็นอิสระจะถอนไม่ได้
ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า องค์กรอิสระทั้งหลายไม่ใช่รัฐอิสระ จึงต้องมีความจำเป็นปฏิบัติตามรัฐธรรม นูญ สภาแห่งนี้ไม่ใช่สภาต้นไม้ หรือสภาเสาไฟฟ้า สภาแห่งนี้มีวิญญาณ และเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้น คำรายงานใดๆ ที่ไม่สอดคล้อง หรือไม่สมบูรณ์ หรือเอียงข้าง สภาแห่งนี้มีสิทธิ์ที่จะท้วงติงได้ หากปฏิเสธกรรมาธิการชุดนี้ แปลว่าท่านปฏิเสธกรรมาธิการทุกชุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.เพื่อไทย หลายคนสนับสนุนญัตติของนายขจิตร ทำให้ประธานที่ประชุมให้สมาชิกโหวตญัตติ แต่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ พากันตะโกนคัดค้าน และขู่ว่าจะวอล์กเอาต์ ไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย จากนั้นนายอภิสิทธิ์เสนอว่า เมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ เสนอรายงานมายังสภาตามอำนาจหน้าที่ให้สภารับทราบ หาก ส.ส. เห็นว่ามีประเด็นใดที่ควรตั้งกรรมาธิการพิจารณา ก็เป็นสิทธิ์ แต่ถ้าจะให้ลงมติว่าให้สภาไม่รับทราบ หรือให้ถอนออกไปไม่ได้ และประธานต้องวินิจฉัยว่า การบรรจุวาระนั้นถูกต้องหรือไม่ ถ้าถูกต้องก็ต้องถามคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ว่าจะถอนหรือไม่ ถ้ายืนยันไม่ถอน สภาก็ต้องพิจารณารับทราบ หรือถ้าจะมีญัตติส่งไปตามข้อเสนอของนายขจิตร ก็มีสิทธิ์ที่จะทำได้
จากนั้นประธานในที่ประชุมยืนยันว่า ได้บรรจุ วาระถูกต้องตามมาตรา 136 ของรัฐธรรมนูญ คือให้สภาพิจารณารับทราบก่อนส่งไปยังวุฒิสภาอีกที และการอภิปรายเมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา ถือว่ารับทราบแล้ว เพียงแต่มีบางประเด็นที่สมาชิกติดใจ แต่ก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอให้คณะกรรมา ธิการสามัญไปพิจารณาอีกครั้งได้ ทั้งนี้ สมาชิกยังคงถกเถียงกันไปมาโดยไม่ได้ข้อสรุป จนในที่สุดนายวิสุทธิ์จึงตัดบทว่า เมื่อถือว่าที่ประชุมได้รับทราบรายงานแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือส่งให้วุฒิสภา ส่วนกรณีที่เสนอญัตติที่ค้างอยู่ก็ดำเนินไปตามขั้นตอน ก่อนจะสั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 15.50 น.