ผลเอแบคโพลล์ชี้ ปชช. รับได้รัฐบาลทุจริต แต่ให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย เหตุความไม่ซื่อสัตย์ คอรัปชั่น ฝังรากลึกตั้งแต่ระดับครอบครัว
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง แนวโน้มทัศนคติอันตรายของสาธารณชนคนไทยว่าด้วย การยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น แต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย และการโกหกเพื่อเอาตัวรอด กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สมุทรปราการ พะเยา เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครพนม สกลนคร สุรินทร์ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช ชุมพร และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,117 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1-6 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา
โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ที่น่าเป็นห่วงคือ ผลสำรวจพบว่า ประชาชนคนไทยที่ถูกศึกษาครั้งนี้มีแนวโน้มยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย เพิ่มสูงขึ้น จาก ร้อยละ 63.4 ในเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ร้อยละ 65.8 ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 34.2 ไม่ยอมรับ และเมื่อจำแนกออกตามเพศ พบว่า ผู้ชายมีร้อยละ 68.9 มากกว่า ผู้หญิงที่มีอยู่ร้อยละ 62.3 ที่ยอมรับรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่นแต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย
ดร.นพดล ยังได้ระบุด้วยว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะผลสำรวจพบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.1 และร้อยละ 76.5 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่อายุต่ำกว่า 20 ปี และอายุระหว่าง 20-29 ปียอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น แต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย ในขณะที่ ร้อยละ 64.8 ของคนอายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 65.4 ของคนอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 59.9 ของคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น แต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ผลสำรวจยังพบด้วยว่า กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ 70.6 ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนสูงที่สุด ที่ยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น แต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย
ขณะที่รองลงมาคือ กลุ่มพ่อค้าธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 66.2 กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 64.3 กลุ่มรับจ้างทั่วไป เกษตรกร ร้อยละ 61.9 และส่วนใหญ่เช่นกันคือร้อยละ 59.4 ของกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และร้อยละ 58.8 ของกลุ่มแม่บ้าน เกษียณอายุที่ยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น แต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.3 มีความโน้มเอียงที่จะโกหกเพื่อเอาตัวรอด ในขณะที่ร้อยละ 31.7 จะไม่โกหกในทุกสถานการณ์
ที่น่าสนใจคือ ผลการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เจาะลึก กลุ่มข้าราชการ เนื่องจากว่า กลุ่มข้าราชการมีสัดส่วนสูงถึงเกือบร้อยละ 60 ที่ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย โดยพบว่า ผู้ถูกศึกษาส่วนใหญ่จะนึกถึงการได้ผลตอบแทนจากรัฐบาลในเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงาน การโยกย้ายพรรคพวกเพื่อนฝูงให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นหรือได้ดูแลพื้นที่ผลประโยชน์ทางธุรกิจ ก็จะยอมรับรัฐบาลเพราะมีเหตุผลอ้างความชอบธรรมว่า ทุกรัฐบาลก็ทุจริตคอรัปชั่นด้วยกันทั้งนั้น เอาอำนาจทางการเมืองมาแทรกแซงด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าแทรกแซงแล้วตนเองได้ประโยชน์ด้วย ก็ยอมรับได้ เรียกกันว่า “กินตามน้ำ” หรืออย่างมากก็จะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น อยู่เฉยๆ ดีกว่า อยู่รอดได้ หรือปิดตาข้างเดียว
ที่น่าตกใจคือ เสียงสะท้อนของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่เคยสัมผัสกับการประเมินผลความพึงพอใจของประชาชนต่อบริการของหน่วยงานของรัฐที่ลงพื้นที่ได้เล่าให้ฟังว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐชั้นผู้ใหญ่จากส่วนกลางตามลงไปเรียกประชุมพวกเราที่โรงแรมแห่งหนึ่ง และบอกกับนักเรียนนักศึกษาว่า น้องๆ ทำตัวให้เป็น “น้ำ” มันจะไหลไปไหนมาไหนได้ตามคลองหรือตามภาชนะที่กำหนด ก็จะเอาตัวรอดได้ แต่ถ้าน้องทำตัวเป็นไม้บรรทัดหรือก้อนหินมันก็จะคดงอไม่ได้สุดท้ายมันก็จะแตกหักกันไป พวกน้องเอาแบบประเมินมาให้พี่เดี๋ยวคนของพี่จะจัดการเอง น้องไปเที่ยวพักผ่อนให้สบาย.....นอกจากนี้ นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ยังระบุว่า พวกเขาพบเจอความไม่ซื่อสัตย์ การทุจริต คอรัปชั่นในทุกแห่งของสังคมไทย ตั้งแต่ในครอบครัว พ่อแม่ไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน ไปร้านค้าก็เจอแม่ค้าที่คดโกง นั่งรถไปกับพ่อแม่ก็เจอการรีดไถของเจ้าหน้าที่ เข้าห้องเรียนก็เจอเพื่อนๆ ลอกการบ้านกัน ลอกข้อสอบกัน และจะให้ผมทำไงกับปัญหาสังคมแบบนี้ที่มันหยั่งรากลึกเข้าไปทุกๆ ที่ของสังคมไทย
ผอ. เอแบคโพลล์ กล่าวว่า การรณรงค์อย่างเดียวไม่ได้ผล เพราะกิจกรรมหรือการจัด “อีเวนต์ (Event)” ให้ประชาชนมี “ความรู้” เพียงอย่างเดียวไม่ได้นำไปสู่การออกมาต่อต้านของประชาชนต่อการทุจริตคอรัปชั่น จึงเสนอให้มีอีกอย่างน้อยสามขั้นตอนคือ เสริมสร้าง “ความเข้าใจ” หนุนเสริม “ความตระหนัก” ก่อให้เกิด “ความผูกพัน” จนยอมเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหา จึงจะทำให้ประชาชนแต่ละคน ชุมชนแต่ละแห่งออกมาต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจัง จึงเสนอแนะอย่างน้อยสี่แนวทางคือ
ประการแรก รัฐบาลส่วนกลางและรัฐบาลในการปกครองส่วนท้องถิ่นควรนำร่องเป็นตัวอย่างเปิดเผยทางเว็บไซต์หรือขึ้นป้าย ตัวโตให้เห็นสาธารณชน การใช้จ่ายงบประมาณที่ออกไปจากรัฐบาลยังหน่วยงานต่างๆ ของรัฐจนถึงมือประชาชนหรือชุมชนต่างๆ ในรูปแบบที่ทำให้สาธารณชนสามารถแกะรอยตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณต่างๆ ได้อย่างโปร่งใส
ประการที่สอง ได้แก่ ควรพิจารณารักษาและส่งเสริมความก้าวหน้าให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่ออกมาเปิดเผยขบวนการทุจริตคอรัปชั่น เพราะที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่แสดงให้เห็นว่าส่งเสริมใครที่เป็นคนที่ออกมาเปิดโปงคดีทุจริตคอรัปชั่น แต่กลับโยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังเปิดโปงขบวนการทุจริตคอรัปชั่นให้พ้นจากหน้าที่ไป ยิ่งไปทำให้เจ้าหน้าที่รัฐขาดขวัญกำลังใจในการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ส่งผลให้เกิดการยอมรับรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่นแต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วยเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
ประการที่สาม ได้แก่ กลุ่มประชาสังคมที่กำลังขับเคลื่อนสังคมให้ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ขณะนี้น่าจะรวดเร็วฉับไวในการออกมาปกป้องคนดี เจ้าหน้าที่รัฐที่ยอมเอาตำแหน่งหน้าที่การงานของตนมาเสี่ยงกับการเปิดโปงขบวนการทุจริตคอรัปชั่น และต้องทำการเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงให้ชัดเจนกรณีโยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้น ทุกฝ่ายต้องออกมาคุ้มครองพยานไม่ปล่อยให้พวกเขาหวาดกลัวต่อภัยคุกคามทุกรูปแบบ ถ้าไม่ช่วยกันคุ้มครองพยานและรักษาคนดีต่อไป การทำกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการทุจริตในตัวมันเองก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเช่นกัน
ประการสุดท้าย ได้แก่ สถาบันและองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นจำเป็นต้องเร่งทำงานอย่างจริงจังต่อเนื่องและแสดงให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นว่า ความซื่อสัตย์สุจริตทำให้เกิดความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เกิดความเจริญมั่นคงต่อตนเองและสังคม มิใช่เหมือนทุกวันนี้ที่มักจะพบเห็นว่า คนคดโกงบ้างไม่เป็นไร โกหกบ้างไม่เป็นไรขอให้ตนเองอยู่รอด มีหน้ามีตาในสังคมและได้ผลประโยชน์จากคนเหล่านั้นในรัฐบาลทั้งรัฐบาลส่วนกลางและการปกครองส่วนท้องถิ่น ผลที่จะตามมาคือ ประเทศชาติจะเสียหายและประชาชนแต่ละคนส่วนใหญ่ของประเทศก็จะเดือดร้อน จึงต้องช่วยกันออกมาแสดงตนทำให้สังคมเกิดความตระหนักและยอมเอาตัวเองไปเกี่ยวข้องเพื่อรักษาคนดีและลดจำนวนคนคดโกงให้อยู่ในพื้นที่ที่จำกัดไม่สร้างความเสียหายต่อบ้านเมืองโดยส่วนรวม