ระบบศาลวิปริตพาชาติวิกฤต

โลกวันนี้ 3 กันยายน 2555 >>>


นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้วิกฤตชาติในเวลานี้เกิดจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจแต่สั่งการให้สภาหยุดการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วทุกคนกลับยอมรับ และคนที่ต้องการแก้ไขก็ไม่รู้ด้วยว่าจะแก้อะไร ตรงไหน เรื่องก็เลยวุ่นวายไม่รู้จบ แต่ถ้าต้องการให้เรื่องจบ คำตอบอยู่ตรงนี้

ปัญหาตุลาการภิวัฒน์ในเมืองไทย

ความจริงผมไม่ชอบคำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” เพราะผมไม่แน่ใจว่าแปลว่าอะไรกันแน่ เนื่องจากตุลาการภิวัฒน์ถูกนำมาใช้กันเยอะแยะไปหมด แต่บังเอิญที่มาพูดเรื่องตุลาการภิวัฒน์เพราะผลพวงที่เกิดขึ้นจากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง ก็เลยดูว่าศาลเข้ามาใช้อำนาจแล้วมีผลกระทบต่อการเมืองการปกครอง เพราะฉะนั้นจึงเอาคำว่าตุลาการภิวัฒน์มาใช้อีก
ถ้าเราไม่นึกถึงคำว่าตุลาการภิวัฒน์ จะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญก็มีหน้าที่ที่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้ว เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้คาบเกี่ยวกับการเมืองเยอะ ไม่เหมือนตุลาการรัฐธรรมนูญสมัยก่อน คือสมัยก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ดูเฉพาะประเด็นข้อกฎหมายว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ดังนั้น ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องตุลาการภิวัฒน์ เพราะเขามีอำนาจหน้าที่ เพียงแต่มีมากหรือน้อยแค่ไหน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามเขามีอำนาจหน้าที่ที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองด้วย

บทบาทหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

โดยส่วนตัวผมเองไม่เคยคำนึงถึงผลการตัดสินของศาล เพราะเป็นหน้าที่ของศาลที่จะใช้ความรู้ความสามารถ ไม่ว่าใครจะว่าศาลดีหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าดูบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน โดยภาพรวมผมมีความเห็นในการแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นระบบและต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นแล้ว ความเห็นของผมเผยแพร่ในสื่อจำนวนมาก แม้กระทั่งใน “โลกวันนี้” ก็เคยเอาไปลง ผมลงในเว็บตลอด ผมคุยกับคนที่อยู่ในพรรคเพื่อไทยหลายคนเหมือนกันที่โทรศัพท์มาถาม
ผมยืนยันว่าการจะแก้รัฐธรรมนูญต้องรู้ก่อนว่าจะแก้ประเด็นไหน เพราะถ้าไม่รู้ว่าจะแก้ประเด็นไหนจะลำบาก แต่ก็ไม่มีใครฟังผม วันนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่มีใครทราบว่าจะแก้ประเด็นอะไรบ้าง อันนี้อาจไม่ใช่ประเด็นหลัก ประเด็นหลักอยู่ที่ว่าการที่ศาลเข้าไปรับเรื่องไว้พิจารณา ศาลมีอำนาจหรือไม่ แม้ตัวผมเองก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งผมคัดค้านทุกทาง แต่ผมกลับมองอีกแบบหนึ่งว่าไม่ว่าจะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ ถูกหรือผิด ไม่เป็นไปดังใจผม แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณา เพราะถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับไว้พิจารณาได้ อีกหน่อยศาลรัฐธรรมนูญก็จะลำบาก เพราะจะมีคนใช้สิทธิตามมาตรา 68 ยื่นตรงไปได้ตลอด
ดังนั้น หนนี้ผมมองว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการพิจารณา แต่ถ้าดูคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการแต่ละคนก็มีบางคนเห็นว่าศาลไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณาเช่นกัน เพราะขนาดตุลาการเองยังเห็นไม่ตรงกัน เรียกได้ว่าเกือบทุกคนเป็นนักกฎหมายเหมือนกันหมด เราคนนอกเราเห็นไม่ตรงกับศาลก็ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติ
ที่แย่ไปกว่านั้นผมเห็นว่ารัฐสภาก็ไม่มีอำนาจที่จะหยุดการพิจารณา เพราะในเมื่อศาลไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณาแล้วถือว่าศาลทำเกินกรอบอำนาจตามรัฐธรรมนูญของตน สภาก็ไม่จำเป็นต้องฟังศาล แม้ศาลจะมีหนังสือไม่ว่าจะเรียกอะไรก็ตามให้หยุดการพิจารณาวาระ 3 ไว้ก่อน เพราะมีคนร้องเรียน สภาต้องเดินหน้าต่อ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจะหยุดการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้ ถ้าจะพูดว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ประเทศมีปัญหา คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือศาลรัฐธรรมนูญและรัฐสภา เพราะศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเกินกรอบที่กฎหมายกำหนด
รัฐสภาเองก็ไม่ยอมดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญบอกว่าให้โหวตภายใน 15 วัน คุณไปหยุดได้อย่างไร เพราะคุณไม่มีอำนาจ แล้วผลเสียจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า คือวันนี้คนจำนวนหนึ่งอาจสะใจหรือชอบใจ เพราะพรรคการเมืองหรือซีกที่ตัวเองไม่ชอบเจอแบบนี้เข้า แต่วันข้างหน้าต้องไม่ลืมว่าหากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้พ้นตำแหน่งไป รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ยังแก้ไม่ได้ เกิดชุดใหม่เข้าไปและเป็นอีกพวกหนึ่งเข้ามา แล้วพวกตัวเองอยากแก้รัฐธรรมนูญหรืออยากทำอะไรเพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้นจะถูกล็อกโดยปริยายว่าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องได้ เพราะฉะนั้นมาตรานี้จะถูกนำมาใช้เพื่อแก้เกมทางการเมือง หรือเพื่อเล่นงานพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือเพื่อหยุดอะไรต่างๆได้ และทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ผมคิดว่าผลกระทบมีมากพอสมควร ถึงขั้นทำให้ประเทศชาติเดินไม่ได้ ทั้งหมดจึงย้อนกลับมาหาความถูกต้องแค่นั้นเอง
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือสมัยตั้งศาลรัฐธรรมนูญใหม่ๆ ตอนบกพร่องโดยสุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สังคมก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กัน ตอนรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็มีคนจำนวนหนึ่งพูดว่าสิ่งที่ทำให้ประเทศเราถอยหลังถึงขนาดนั้นเป็นเพราะศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในวันนั้นถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินอย่างตรงไปตรงมา โดยตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีสิทธิเล่นการเมืองเพราะซุกหุ้น พ.ต.ท.ทักษิณก็จะไม่เข้ามาอยู่ในอำนาจ ประเทศก็จะไม่เป็นแบบนี้
แต่วันนั้นตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ซุกหุ้น หรือบกพร่องโดยสุจริต หรืออะไรก็สุดแล้วแต่ ผมจำไม่ได้เพราะนานแล้ว ก็เลยทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ในตำแหน่งได้ แล้วก็เกิดการรัฐประหาร คนก็วิจารณ์ว่าการรัฐประหารนั้นมาจากศาลรัฐธรรมนูญ หลังรัฐประหารก็มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คนที่ร่างรัฐธรรมนูญก็มาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายคน บางคนอย่างที่เราเห็นว่ามีบทบาทในลักษณะเชิงรุกกับพรรคการเมืองบางพรรคมากเกินไปตั้งแต่ก่อนเข้ามาแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้พอเป็นศาลรัฐธรรมนูญ เป็นธรรมดาที่คนเราไม่ค่อยเชื่อหรือไม่ไว้วางใจกัน
ตรงนี้อาจต้องเก็บไว้เป็นบทเรียน จริงๆที่อื่นก็ทำกันทั้งนั้น แต่ผมไม่แน่ใจว่าทำไมตอนเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ไม่ทำ คือคนที่เขียนรัฐธรรมนูญไม่ควรเข้ามาอยู่ในตำแหน่งพวกนี้ พอเข้ามาแล้วพูดลำบาก เพราะตัวเองก็มีส่วนเกี่ยวข้อง ตัวเองจะพูดเป็นบวกเป็นลบก็ไม่ได้ เพราะอาจอยู่ในกลไกของการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ว่าตัวเองอาจไม่เคยมีความคิดหรือไม่มีความรู้เรื่องนี้เลยก็ได้ ไม่เคยพูดสักคำหนึ่ง อาจต้องถูกปิดปากโดยปริยาย ที่จริงไม่ควรเข้ามาตั้งแต่ต้น แต่ตอนนี้ก็อยู่กันทุกองค์กร

ศาล รธน. ใช้อำนาจตุลาการภิวัฒน์

ถามว่าเราจะหลุดพ้นจากการใช้อำนาจตุลาการภิวัฒน์ของศาลรัฐธรรมนูญในอนาคตได้หรือไม่ ผมขอบอกว่าไม่มีทางหลุดพ้น เพราะจริงๆแล้วขึ้นอยู่กับตัวบุคคล อย่างที่ผมเรียนให้ทราบว่าถ้าคุณได้ตัวบุคคลที่มีวิธีคิดแบบไหนเข้าไปก็ต้องเป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่ใช่เรื่องระบบ เพราะมีตุลาการหลายคนในนั้นที่ไม่เห็นด้วย ลองไปถามผู้พิพากษาศาลยุติธรรมว่าชอบคำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” หรือไม่ ผมเคยคุยกับรุ่นพี่บางส่วนรู้สึกเฉยๆ บางส่วนก็โอเค แต่ก็มีจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วย
เขาบอกว่ามีหน้าที่ตัดสินคดี มาลากเขาออกไปยุ่งกับการเมืองทำไม เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องปัจเจกของแต่ละคนที่จะคิดหรือจะทำ ผมไม่อยากโทษตุลาการภิวัฒน์ทั้งระบบ เป็นเพียงบางคนเท่านั้นที่อาจใช้ความเป็นตุลาการหรือสถานที่ที่ตัวเองอยู่ออกมาทำเรื่องพวกนี้

ตุลาการภิวัฒน์กับสถาบันยึดโยงกันหรือไม่

คำถามนี้ผมตอบไม่ได้ เพราะไม่ทราบจริงๆ ไม่ทราบความสัมพันธ์หรือความเชื่อมโยง หรืออะไรทั้งนั้น เพราะผมไม่มีโอกาสได้สัมผัสทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมก็อยู่ไกลมาก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ผมยังจำไม่ได้เลยว่าเคยพูดกับใครบ้างหรือเปล่า เพราะผมไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว เคยเจอหรืออาจเคยพบบ้างตามงานสัมมนาต่างๆ แต่ไม่ทราบเรื่องความเชื่อมโยงดังกล่าว ทำให้ตอบไม่ได้

ทำอย่างไรไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมือง

ถามว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ทั้งตุลาการภิวัฒน์และสถาบันถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเหมือนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือผมไม่ทราบว่าวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือเปล่า เพราะผมไม่ทราบจริงๆว่าโยงไปถึงไหนบ้าง คือปัญหาอยู่ตรงที่ว่าการพิจารณาการตัดสินคดีของศาลอาจต้องมองไปไกลกว่านั้นด้วย อย่างที่ผมเรียนให้ทราบว่าเราไม่ได้มองเฉพาะวันนี้ แต่มองไปอีก 5 ปีข้างหน้า ถ้ารัฐธรรมนูญยังแก้ไม่ได้แล้วระบบจะเสียอะไรยังไง ผมว่าต้องเป็นอย่างนั้น แต่ท่านก็เป็นผู้ใหญ่กว่าผมทุกคน ผมพูดออกไปอย่างนั้นจะไม่สุภาพ จึงเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเอง และต้องมองด้วยว่าตัวเองมาอยู่ตรงนี้ทำให้เกิดผลกระทบกับประเทศชาติได้ จะทำอย่างไรเพื่อให้ประเทศชาติได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
การสั่งไม่ให้แก้หรือห้ามแก้รัฐธรรมนูญทั้งๆที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะทำใหม่ทั้งฉบับเป็นสิ่งที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนก่อนเข้ามาเคยพูดว่าแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับง่ายนิดเดียว แค่ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ความจริงแล้วควรมองให้ไกลกว่านั้นว่าถ้าไม่ให้แก้จะทำอย่างไรบ้าง เพราะมีบางมาตราที่ต้องแก้ เช่น มาตรา 309 และมีอะไรหลายอย่างที่ต้องปรับ

มีบางฝ่ายเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้ง

ขอย้ำว่าคน 9 คน อาจจะไม่ถูกใจ 5-6 คน แล้วจะยุบทั้งหมดทิ้ง หรือบางความเห็นจะให้ไปอยู่ศาลฎีกาบ้าง ผมคิดว่าต้องศึกษาให้รอบคอบก่อน เพราะยังไม่ชัดเจนว่าเป็นปัญหาที่รัฐธรรมนูญหรือตัวบุคคล ถ้าเป็นปัญหาที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ไม่ชัดเจนก็เติมคำว่าอะไรสัก 2 คำก็ชัดแล้ว แต่ว่าองค์กรเดินมาแล้ว การจะยุบก็คงไม่ถูก ถามว่าจะดึงให้ศาลรัฐธรรมนูญกลับไปสู่ศาลยุติธรรมปรกติได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นหากเราย้อนกลับไปสู่ศาลยุติธรรมแล้วไปเลือกผู้พิพากษามา บางคนอาจไม่รู้เรื่องพวกนั้นแล้วมาตัดสินก็จะมีปัญหาอีก ผมว่าเป็นศาลข้างนอกดีแล้ว แต่ให้เลือกคนที่ใช่เข้าไปดีกว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้คนที่เข้าไปมีความรู้จริงๆแค่นั้นเอง เพราะอย่างน้อยผมต้องการอ่านหรือได้ยินอะไรที่เหมือนกับการอ่านตำรารัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ว่าไม่ถูกต้องอะไรแบบนี้

ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปสถาบันศาลหรือยัง

ผมคิดว่าโดยภาพรวมเราควรมาดูรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ วันนี้เป็นโอกาสดีแล้วที่มาดูรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ คำว่าดูของผมเคยมีคนมาหารือกับผมแล้วนำไปพูดคุยในคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ผมเสนอให้ตั้งคณะทำงานที่เป็นกลางขึ้นมา 1 ชุด แล้วดูว่ารัฐธรรมนูญทั้งปี 2540 และ 2550 มีปัญหาอะไร
ขอย้ำว่าเราต้องเอารัฐธรรมนูญมาดูทั้งหมดว่าที่ใช้มาทั้งฉบับปี 2540 และปี 2550 มีปัญหาอะไรบ้าง แล้วต้องแก้ตรงไหน หลังจากนั้นจึงมาตอบคำถามว่าจะแก้อะไร ในเมื่อวันนี้เรายังไม่ทราบเลย แต่อยู่ดีๆจะลุกขึ้นมาแก้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรทำในวันนี้คือมีคนที่เป็นกลางสักกลุ่มหนึ่งแล้วศึกษาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว รวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2540 ทั้งหมด แล้วเอามานั่งดู ผมพยายามทำให้เป็นระบบ แต่ไม่มีใครฟัง

ทิศทางและแนวโน้มของตุลาการภิวัฒน์

เหมือนการเล่นฟุตบอลที่มีผู้เตะลูกมาให้ผู้รักษาประตู ต้องคอยดูกันต่อไปว่าใครจะเป็นคนส่งลูกไปที่ผู้รักษาประตูใหม่ บางลูกที่ส่งไปยังไม่รุนแรง แต่บางลูกก็รุนแรง อย่างกรณีนี้ผมไม่คิดว่ารุนแรง วันที่ผมเห็นเขาไปยื่นคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญตามสื่อผมแทบไม่ได้ดูเลย เพราะผมเปิดมาตรา 68 ดูแล้วศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ แต่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ามีอำนาจ ถึงได้วุ่น ต้องรอดูตอนต่อไปว่าคนที่มาจะยื่นอะไร แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไรบ้าง จะมีอำนาจเพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่า อันนี้ต้องดูก่อน แต่คงไม่สงบง่ายๆ ความวุ่นวายขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญจะยังคงเผชิญกับวิกฤตศรัทธาต่อไป เพราะทุกวันนี้ก่อนที่จะมีปัญหาเรื่องยุบพรรคประชาธิปัตย์ศาลก็เผชิญกับปัญหานี้มาตลอด ตอนที่มีการเปลี่ยนตัวประธานคนใหม่ทุกคนบอกว่าคนเก่าไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นตุลาการ ก็เผชิญหน้ามาตลอด ผมคิดว่าศาลคงต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตศรัทธานี้ต่อไป เว้นแต่จะย้อนกลับมาเดินในทางที่สงบกว่านี้ คือเดินไปตามระบบ เพราะวันนี้ผมคิดว่าศาลเดินนอกเส้น