ข่าวสด 25 กันยายน 2555 >>>
ข้อเสนอของ นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกฯ เสียสละเป็นรัฐบุรุษอยู่นอกประเทศ โดยยกกรณี นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ผู้ก่อการ 2475 และอดีตนายกฯ ที่เสียสละเพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังเดินทางกลับประเทศ มาเปรียบเทียบนั้น นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นคำแนะนำที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาสังคมไทยที่หยั่งรากลึก ดังต่อไปนี้
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์
น่าตกใจมากสำหรับนายคณิตที่เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นอดีตอัยการสูงสุด เป็นอดีต ส.ส.ร. ปี 2539 รวมถึงเป็นหนึ่งในกรรมการสภามหา วิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของธรรมศาสตร์ แต่กลับให้ข้อมูลอย่างคนที่ไม่มีความรู้เรื่องของนายปรีดี ผู้สถาปนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ ทั้งที่นายปรีดีพยายามกลับเข้าเมืองไทยหลายครั้ง หลังจากที่ออกไปเพราะรัฐประหารปี 2490 โดยครั้งหนึ่งได้กลับเข้ามาทำ "ขบวนการประชาธิปไตย 26 ก.พ. 2492" ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ล้มเหลว ถูกปราบปรามหนักด้วยอาวุธสงคราม ขบวนการดังกล่าวจึงถูกเรียกว่า "กบฏวังหลวง" นายปรีดีต้องหลบซ่อนอยู่ในบ้านแถวฝั่งธนฯ 6 เดือน กระทั่งหลบหนีออกไปได้ และไม่สามารถกลับมาเมืองไทยได้อีกเลย จึงทำให้เกิดข้อสงสัยและตั้งคำถามต่อไปว่า ผลสรุปการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองจำนวน 300 หน้าของ คอป. ที่มีนายคณิตเป็นประธานนั้น มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
การพูดของนายคณิตถือเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมการสร้างวีรบุรุษทางการเมือง ซึ่งหลายประเทศทำกัน ประเทศไทยก็ใช้บ่อย ทำให้ผู้เล่นแบ่งออกเป็นขาวกับดำอย่างชัดเจนผู้นำทางการเมืองระดับสูงแต่ละคนต่างก็มีทั้งด้านดีและไม่ดี หลายคนถูกทำให้เป็นฮีโร่ อย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ถูกทำให้ดูเป็นผู้ร้ายสะท้อนว่าเราขาดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทางการเมือง ลืมไปว่าแต่ละคนก็มีทั้งด้านมืด ด้านสว่าง ความเสียสละที่นายคณิตระบุว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่ดูดี แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอหรือรากเหง้า ภาพของการเสียสละของแต่ละคนก็เป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นกลุ่มหนึ่งอาจมองว่านี่คือการเสียสละ ขณะที่อีกกลุ่มอาจมองว่าเป็นการทรยศ จึงจำเป็นต้องชำระสะสางข้อเท็จจริง นำทุกคดีหรือข้อกล่าวหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส กรณีนายปรีดี หลายคนก็ไม่ได้มองว่าเป็นการเสียสละ เพราะนายปรีดีก็พยายามจะกลับประเทศ มีการยึดอำนาจโดยใช้กำลังจนกลายเป็นกบฏวังหลวง การพูดของนายคณิตครั้งนี้จึงสะท้อนถึงความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาดและต่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เดินทางกลับไทย ความขัดแย้งก็จะยังไม่หมดไปอย่างสิ้นเชิง อาจแค่บรรเทาสถานการณ์ที่ร้อนแรงและถ่วงเวลา เพราะปัญหาต่างๆ ในระบบโครงสร้างยังไม่ได้คลี่คลาย อีกทั้งกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เผชิญเป็นคนละสถานการณ์กับนายปรีดี เนื่องจากนายปรีดีไม่ได้ถูกกล่าวหาในคดีทางกฎหมายเหมือน พ.ต.ท.ทักษิณ ข้อเสนอของนายคณิตจึงไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่
นายคณิตคงหวังดีอยากให้ประเทศสงบสุขและเดินหน้าต่อไปได้ โดยอาจมองแค่ว่าต้นตอปัญหาของประเทศคือ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่หากมองในแง่ของสังคมการเมือง การเสนอให้ใครคนใดคนหนึ่งเสียสละเพื่อส่วนรวมคงจะไม่ได้ เพราะมันไม่ค่อยตอบโจทย์ปัญหายิ่งข้อเสนอ "เสียสละ" ทำให้ดูราวกับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ คือตัวปัญหาของเหตุการณ์ ปัญหาทั้งหมดเกิดจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียวซึ่งผมมองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่มีอยู่เท่านั้น หมายความว่าต่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เสียสละไม่กลับประเทศไทยจริงๆ ปัญหาก็ใช่ว่าจะหมดไปได้การเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เสียสละ จึงเป็นการช่วยแก้ปัญหาเพียงบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะปัญหาที่แท้จริงยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องแก้ไขแต่หากมองว่าการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เสียสละถือเป็นจุดเริ่มของการแก้ปัญหาทั้งหมด ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆความเห็นของนายคณิตครั้งนี้ อาจมีข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนอยู่บ้างจนถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก โดยเฉพาะการนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปเปรียบเทียบกับนายปรีดี เพราะสองคนนั้นมีความต่างกันอย่างมาก ทั้งในแง่ของเหตุการณ์ ตัวบุคคล และฐานสนับสนุน ไม่น่าจะนำมาเปรียบเทียบกันได้เมื่อความเห็นของนายคณิตออกสู่สาธารณะแล้ว ในฐานะบุคคลที่สังคมไทยเชื่อถือ และประธานคอป. ก็ต้องรับทุกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะออกมาอย่างไรก็ตาม
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ ม.รังสิต
การลี้ภัยไปต่างประเทศของนายปรีดีไม่ใช่การเสียสละ แต่เป็นความพ่ายแพ้การต่อสู้ทางการเมืองแนวทางของนายปรีดี คือต้องการให้ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศไทย ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน กระทั่งเกิดการรัฐประหาร มีการต่อสู้ทางการเมือง นายปรีดีพ่ายแพ้ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศปี 2490 คณะรัฐประหารนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เข้ายึดอำนาจรัฐ ใช้รถถังบุกทำเนียบท่าช้างอันเป็นที่พำนักของนายปรีดี ทำให้นายปรีดีต้องลี้ภัยออกจากประเทศปี 2492 นายปรีดีหวนกลับมาต่อสู้เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย โดยเข้ายึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. แต่ล้มเหลว ถูกเรียกว่ากบฏวังหลวง ต้องหลบหนีออกไป ไม่สามารถกลับเมืองไทยได้อีกครั้งนั้นแม้แต่ 4 อดีตรัฐมนตรีอีสาน ผู้นำเสรีไทย ยังถูกฆาตกรรมโดยรัฐอย่างไรก็ตามแม้นายปรีดีจะพ่ายแพ้ ก็ยังถูกระบอบเก่าและฝ่ายเผด็จการทหารโจมตีทุกๆ ด้าน ไม่เว้นกระทั่งชื่อเสียง และยังถูกบิดเบือนจากหน้าประวัติศาสตร์ ให้เปรียบเสมือนเป็นปีศาจคอมมิวนิสต์เหตุการณ์ทั้งหมดจึงแสดงให้เห็นว่า นายปรีดีมีความพยายามที่จะกลับประเทศหลายครั้ง แต่เหตุที่กลับไม่ได้เพราะความพ่ายแพ้ทางการเมือง ไม่ใช่การเสียสละสำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น 10 ปีที่ผ่านมาถือเป็น ผู้มีบทบาทต่อการเมืองไทยมาก แม้จะถูกรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 แต่ก็มีการต่อสู้ทางการเมืองมาโดยตลอดเป็นการต่อสู้ที่ท้าทายกลุ่มอำนาจเก่าให้หวาดกลัว เพราะมีพลังสนับสนุนมหาศาล ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ตระหนักดีว่า ตนเองจะเอาชนะทางการเมืองไม่ได้หากไม่มีมวลชน และกลุ่มสนับสนุนทางการเมืองในประเทศไทยหากไม่มี พ.ต.ท.ทักษิณ อาจทำให้ดูเหมือนว่าบ้านเมืองจะสงบ แต่คนที่ได้ประโยชน์แน่ๆ คือ กลุ่มอำนาจเก่า ขณะที่กลุ่มต่างๆ ที่อยู่โดยรอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่ดีไม่ใช่ว่าไม่มี พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วจะไม่มีการต่อสู้ทางการเมืองอีกน่าแปลกใจที่นายคณิตเสนอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เสียสละแต่เพียงผู้เดียว หากคิดในทางกลับกันก็ควรให้ผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม
พ.ต.ท.ทักษิณ เสียสละด้วยปัจจุบันอำนาจอยู่ในพลังของมวลชนและการเลือกตั้ง ดังนั้นข้อเสนอที่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เสียสละไม่กลับประเทศไทย จึงเป็นข้อเสนอที่กลุ่มอำนาจเก่าจะได้ประโยชน์อย่างสุดโต่ง