′ความเห็น′ หรือ ′ความจริง′ ′สัจจะ′ จากรายงาน คอป. ทางเปลี่ยวสู่ ′ปรองดอง′

มติชน 25 กันยายน 2555 >>>




รายงานฉบับสมบูรณ์เกี่ยวกับการเสียชีวิต 98 ศพของ "คอป." มูลค่า 65 ล้านบาท ที่นำเสนออย่างมั่นใจ ค่อยๆ ลดน้ำหนักความน่าเชื่อถือลงมา คอป. ที่มีชื่อเต็มว่า "คณะกรรมการ อิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ" น่าสังเกตว่า ความน่าเชื่อถือในส่วนของ "ความจริง" นั้น ถูกโต้ตอบอย่างหนักหน่วงมากที่สุดโดยเฉพาะในเรื่อง "ชายชุดดำ" ที่ ตามหากันแทบพลิกแผ่นดินมา 2 ปี รายงาน คอป. ระบุถึงบทบาทของชายชุดดำที่สี่แยกคอกวัว-ราชดำริ และที่ราชประสงค์ ที่มีการปะทะ และไล่ตาม
โดยชี้ว่า มีผู้เสียชีวิตโดยชายชุดดำ 8 ศพด้วยกันแต่ไม่ได้แตะต้องการสังหารประชาชนอีก 90 ศพมากนักรวมถึงบทบาทของ "สไนเปอร์" ทั้งๆ ที่มีข้อมูลปรากฏว่า ครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิต 98 ศพ ตายเพราะกระสุนที่ยิงอย่างแม่นยำเข้าที่ศีรษะ และส่วนบนของร่างกาย รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกรรมการชุดนี้ พร้อมทั้งมอบงบประมาณให้ดำเนินการ แต่กระนั้น ในสมัยพรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นรัฐบาล ก็เคยปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอของ คอป. ชุดนี้ มาแล้วท่วงทำนองการแสดงออกของ คอป. ที่ดูเหมือนยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน สร้างความหวังไม่น้อย แก่ผู้ที่ต้องการเห็นความยุติธรรมส่งผลให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย รับช่วงสนับสนุนให้ คอป. ดำเนินการต่อในรัฐบาลใหม่ เพื่อ ให้ "..ตรวจสอบและค้นหาความจริงจากกรณีความรุนแรงทางการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การสูญเสียชีวิต บาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งความเสียหายทางทรัพย์สิน.." (คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ต่อรัฐสภา 23 ส.ค. 2554)
ผลงานเด่นของ คอป. คือการเสนอให้เยียวยาเหยื่อความรุนแรงทางการเมืองแม้จะมีคนใน คอป. เอง ให้ข่าวต่อต้านการเยียวยาอย่างแข็งขัน รวมถึงสมาชิกบางคนแห่งพรรคประชาธิปัตยแต่เนื่องจากเป็นแนวทางสากล ที่รัฐพึงชดใช้ให้กับประชาชนที่เสียหายจากการกระทำของรัฐ จึงส่งผลปฏิบัติในที่สุด ก่อนที่รายงานฉบับสมบูรณ์ จะออกมาเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยมีเสียงปรบมือต้อนรับจากพรรคประชาธิปัตย์ นาย สมชาย หอมละออ ที่ทำหน้าที่บรรยายข้อสรุปในวันแถลงรายงาน 17 ก.ย. ได้เปิดเผยในที่สุดว่า หลายสิ่งหลายอย่างจาก "คอป." เป็น "ความเห็น" ด้วยเหตุผลว่า นายคณิต ณ นคร ประธาน คอป. เป็น "คนใจกว้าง"และเปิดช่องให้กรรมการ หากมีความเห็น ให้นำเสนอได้ นายคณิตเอง เสนอความเห็นส่วนตัว ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร "เสียสละ" เดินแนวทาง "รัฐบุรุษ" ด้วยการไม่กลับประเทศไทย เหมือน นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส
เสียงทักท้วงจากผู้รู้ ระบุว่า นายปรีดีได้รับโปรดเกล้าฯเป็นรัฐบุรุษเมื่อปี 2488 ภายหลังปฏิบัติหน้าที่สำคัญ ไม่ได้เป็นรัฐบุรุษ เพราะ "เสียสละ" อยู่นอกประเทศและยังมีคำถามว่า การเรียกร้องให้เสียสละนั้น เสียสละเพื่ออะไรเพื่อความยุติธรรม หรือเพื่อความ อยุติธรรม เหมือนจะมีจุดอ่อนหลายประการในกระบวนการค้นหาความจริง รวมถึงตัวบุคคลที่เข้าไปเป็นกรรมการ บางท่านมี "ภูมิหลัง" ไม่เอื้ออำนวยต่อการค้นหาความจริง อาจจะสรุปได้ว่า รายงานของ "คอป." คือบันทึก "ความเห็น" ฉบับหนึ่ง ที่จัด ทำอย่างเกรงอกเกรงใจใครต่อใคร แต่ไม่ค่อยเกรงใจ "ความจริง" สักเท่าไหร่นัก