"นิพิฏฐ์" ตั้งกระทู้สดบี้รัฐบาลเอาผิดการ์ด นปช. หนุนชายชุดดำ "เฉลิม" แจงยังไม่สรุปใครฆ่า "พล.อ.ร่มเกล้า"

โพสท์ทูเดย์ 27 กันยายน 2555 >>>


เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่รัฐสภา ที่มีวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถามเรื่องการปฏิบัติงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม โดยถาม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี
นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) สรุปว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ได้ประสานงานกับชายชุดดำเป็นกองกำลังที่มีอาวุธและใช้อาวุธโจมตีเจ้าหน้าที่ ชายชุดดำได้รับความร่วมมือจากการ์ด นปช. ซึ่งขณะนี้การ์ด นปช. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ รมว. หลายตำแหน่ง รัฐบาลจะมีการดำเนินการกับการ์ด นปช. อย่างไร และที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พูดเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2555 ว่าการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เป็นการเสียชีวิตจากการกระทำของคนเสื้อแดง ขณะนี้ได้มีการดำเนินคดีกับคนเสื้อแดงที่ก่อเหตุหรือยัง คดีไปถึงไหนแล้ว
ร.ต.อ.เฉลิม ชี้แจงว่า ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงยุติธรรม ในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมาได้ตั้ง คปอ. ขึ้นมาพิจารณาข้อเท็จจริง นั่นเป็นคำสั่งทางวิญญาณ ไม่มีผลผูกพันกับกระบวนการสอบสวน เป็นเพียงข้อเสนอแนะที่ที่หลายฝ่ายจะรับฟังหรือไม่รับฟัง ก็เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ อัยการ ที่นายนิพิฏฐ์พาดพิงว่า มีการรับใช้ทางการเมือง ตนยืนยันว่าไม่มี ยืนยันว่ากระบวนการยุติธรรมน่าเชื่อถือ รัฐบาลชุดนี้ไม่มีการกระทำนอกกระบวนการ เพราะคดีนี้ดีเอสไอมีการรับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2553 และก็รับคดีไว้เป็น 4 กลุ่ม และได้กำหนดคดีที่เชื่อมโยงเป็นคดีพิเศษด้วย สิ่งที่ตนได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้คือ การตั้งพนักงานสืบสวนเพิ่มเติมอีก 50 คน ให้ไปช่วยทำคดีชันสูตรพลิกศพ ที่ท่านบอกว่ามีชายชุดดำตามสรุป คอป.ยืนยันว่า คดีถึงใคร ดำเนินการหมด ไม่มียกเว้น การชันสูตรพลิกศพของศาลก็รับฟังได้ ก็มีการไต่สวนทุกภาคส่วน
ร.ต.อ.เฉลิม ชี้แจงว่า กรณีการตายของ พล.อ.ร่มเกล้าเป็นหนึ่งในคดี 98 ศพ ยังมีการสอบสวนกันอยู่ ยังไม่เป็นที่สิ้นสุดว่าใครทำ แต่จากคำตัดสินของศาลในคดีการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง ศาลชี้ชัดว่าเป็นการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายนมีทนายความของนายกิตติชัย แข็งขัน ที่บาดเจ็บจากการชุมนุม ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ข้อหาพยายามฆ่า ยืนยันว่า งานนี้ไม่มีมวยล้ม ทุกอย่างจะเดินหน้าตามกระบวนการยุติธรรม
จากนั้น นายนิพิฏฐ์ถามต่อว่า ตนไม่ได้ถามเรื่องนายพัน คำกอง แต่ ร.ต.อ.เฉลิม กลับมาตอบเรื่องนี้ ตนไม่อยากว่า ร.ต.อ.เฉลิม โง่ แต่คิดว่าไม่ฉลาด ที่พูดถึงเรื่องนี้ ขณะนี้กระบวนการยุติธรรมล้มเหลว มีการรับใช้การเมือง โดยตนมีเทปบันทึกที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ไปล็อบบี้ผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เพื่อขอประกันตัวนายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก แกนนำคนเสื้อแดง ที่ถูกคุมขังในคดีก่อการร้าย แต่ก็ดีใจที่ผู้พิพากษาไม่ให้ประกันตัวตามที่ พล.ต.อ.ประชา ให้การรับรอง นอกจากนี้ ตนยังฝันถึงผลการสอบสวนคดีก่อการร้ายเห็นว่า ในสำนวนสอบสวนแผ่นที่ 7 บรรทัดที่ 24 ได้ระบุชื่อคนยิง พล.อ.ร่มเกล้า ว่ามีอักษรย่อ "ส" แต่ยังไม่ถูกดำเนินคดี เพราะอยู่ในกลุ่ม นปช.
ต่อมา พล.ต.อ.ประชา ขอใช้สิทธิถูกพาดพิง ชี้แจงยอมรับว่าได้พบกับอธิบดีศาลคนหนึ่งที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์จริง แต่ไม่ได้ไปล็อบบี้ เป็นการพบกันโดยบังเอิญในงานของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งจัดสัมมนาเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่เชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ดังนั้น นายนิพิฏฐ์ไม่ได้พูดความจริงทั้งหมด ตนทำตามหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน กรณีนายเจ๋ง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ก็เข้าไปช่วยเหลือตามหน้าที่ เมื่อศาลยังไม่ตัดสิน ก็ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น นายนิพิฏฐ์ ร.ต.อ.เฉลิม และ พล.ต.อ.ประชา ก็ได้พูดจาตอบโต้กันไปมา โดยนายนิพิฏฐ์ และ พล.ต.อ.ประชา ต่างไล่ให้แต่ละฝ่ายไปหาหมอ เพื่อรักษาโรคความจำเสื่อม ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม ต่อว่า นายนิพิฏฐ์ว่าไม่มีสมบัติผู้ดี ที่มากล่าวหาตนว่าเป็นคนโง่ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ใช้เวลาในการตอบโต้พาดพิงกันไปมาเสียเวลาไป 1 ชั่วโมง
ต่อมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นใช้สิทธิพาดพิงชี้แจงว่า รัฐบาลที่แล้วได้มีผู้ร้องขอความเป็นธรรม เพราะถูกคุมขังหลายราย ตนก็มอบให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ ดำเนินการ โดยไม่เคยให้ รมว.ยุติธรรม ไปดำเนินการให้กับใคร เพราะความใกล้ชิดหรือคุ้นเคยส่วนตัว การที่ พล.ต.อ.ประชา ชี้แจงก็เห็นว่า ไม่ควรใช้สถานะของตัวเองปะปนกับกรมคุ้มครองสิทธิฯ ส่วนที่ ร.ต.อ.เฉลิม บอกว่า ไม่ก้าวก่ายการสอบสวนของพนักงานสอบสวน แต่ที่ผ่านมา ร.ต.อ.เฉลิม และอธิบดีดีเอสไอก็ให้สัมภาษณ์ไปไกลว่า คดีนายพัน คำกอง จะเป็นบรรทัดฐานในอีก 35 คดีที่เหลือ ไม่ทราบว่า พูดมาจากตำราใด เพราะเป็นคนละเหตุการณ์ ไม่สามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานกันได้ ถ้าทำอย่างตรงไปมา ตนก็เห็นด้วย อย่าเอาการเมืองเข้าแทรก พวกตนเคารพกระบวนการยุติธรรม พร้อมเข้าสู่กระบวนการ ไม่หนีไปไหน