วันที่ 8 ก.ย. ที่ห้องประชุมข่าวสด ได้มีการจัดโครงการผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 3 โดย มติชน ร่วมกับมูลนิธิสัมมาชีพ และสมาคมธรรมศาสตร์ ร่วมติดอาวุธทางปัญญาให้ผู้นำภาคส่วน ภายใต้หัวข้อการบรรยาย "สื่อกับการเปลี่ยนผ่านปัญญาเพื่ออนาคต" ม.ล.ณัฎฐกรณ์ เทวกุล พิธีกร และผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ Voice TV ได้สะท้อนมุมมองว่า ทุกวันนี้สิ่งที่ขาดหายไปและพยายามที่จะทำในฐานะสื่อมวลชนก็คือ ทำหน้าที่นำเสนอให้คนที่รับชมรายการเกิดกระบวนการคิด โดยผู้ดำเนินรายการพยายามกระตุ้นคำถาม เปิดประเด็นที่สำคัญที่มีผลกระทบและความจำเป็นต่อชีวิต ให้เกิดการต่อยอดทางความคิดจากการรับชมสื่อ ซึ่งสื่อที่เป็นช่องฟรีทีวีไม่ค่อยนำเสนอเรื่องใกล้ตัว เช่น การทำแท้งบทสรุปควรเป็นไปในทิศทางไหน หรือการเปิดประเด็นเรื่องการเสียภาษี มากกว่าการให้ความสนใจการตามหาควาย
ขณะเดียวกัน ประเด็นที่นำมาพูดหรือถกเถียงกันในสังคมนั้น มีคนต้องการพูดแต่พูดไม่ได้ เนื่องจากขัดกับภาพลักษณ์ขององค์กร หรือขัดวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ซึ่งจริงๆ แล้วหน้าที่ของสื่อสมควรจะตอบสนองสาธารณะมากกว่า แต่สถานีหลายแห่งต้องรักษาภาพลักษณ์ มีอำนาจทุนและอำนาจรัฐแทรกแซงอยู่ ฉะนั้น เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยสื่อจึงนำเสนอแค่บางเรื่อง ทำให้ขาดความหลากหลาย ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่สถานีเหล่านั้นไม่ได้นำเสนอ เพราะอาจจะไม่ได้คำนึงถึงเรทติ้ง คำนึงแต่ภาพลักษณ์
ส่วนประเด็นการเลือกข้างของสื่อนั้น ม.ล.ณัฎฐกรณ์ มองว่า จริงๆ แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นการกระชากเรทติ้ง และกลายเป็นจุดขายด้วยซ้ำไป ซึ่งขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของผู้บริหาร เช่น การเลือกข้างแล้วนำเสนออยู่ภายใต้กรอบของจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ หรือเลือกผู้นำเสนอที่พูดเก่ง มากความสามรถ บุคลิกภาพหน้าตาดี ก็จะทำให้ขายได้ ยกตัวอย่างอย่างสื่อบันเทิงไทย ยังถือว่าอ่อนมากในการหาข่าวเมื่อเทียบกับทางตะวันตก เนื่องจากไม่มีการคิดนอกกรอบ คือ นักข่าวเลือกที่จะไปนั่งรอดาราเป็นชั่วโมงๆ ในงานเปิดตัวสินค้าชนิดหนึ่งที่แฝงการโฆษณาเพื่อให้ได้ข่าวตามอีเว้นท์ต่างๆ ซึ่งต่างจากสำนักของต่างประเทศ ที่จะออกลาดตระเวน ตามแหล่งสาธารณะต่างๆ เพื่อหาตัวดารา ไม่ใช่การนั่งคอย ซึ่งวัฒนธรรมไทยนักข่าวก็ยังมีความเกรงใจคนมีชื่อเสียง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
ในช่วงท้ายของการเสวนา ม.ล.ณัฎฐกรณ์ ยังกล่าวถึงเรื่องการเมือง โดยเฉพาะเหตุผลในการเลือกพรรคการเมืองหนึ่ง เนื่องจากไม่มีอีกพรรคที่ดีกว่าให้เลือกแล้ว มากกว่า เลือกเพราะอยากจะเลือกพรรคนั้นจริงๆ โดยยอมรับว่าครั้งหนึ่งเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งล่าสุดก็สลับมาเลือกพรรคเพื่อไทย ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยก็ไม่ได้ต่างกันสักเท่าไร เพราะเขาก็ไม่ได้ทำตามที่ประชาชนต้องการ หรือทำตามที่ประชาชนเรียกร้อง เช่น กระทรวงไอซีทีในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์กับรัฐบาลเพื่อไทยก็ยังคงบล๊อกหรือปิดกั้นเว็บไซต์จำนวนมากเท่าๆ กัน
อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้ประชาชนควรจะเปลี่ยนโจทย์จากการรอพรรคการเมือง หรือรอรัฐบาลทำในสิ่งที่คุณต้องการ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะรัฐบาลทำเพื่อให้ตนเองอยู่รอดมากกว่าความต้องการประชาชน