มองการถอดถอน "สุเทพ" มองผ่านการเลือกตั้ง "ประมุขสภาสูง"

มติชน 13 กันยายน 2555 >>>




ผ่านพ้นไปอีกขั้นตอนสำหรับกระบวนการพิจารณาของ "วุฒิสภา" และกำลังจะเข้าสู่โค้งสุดท้าย สำหรับการถอดถอนนักการเมืองใหญ่ค่ายประชาธิปัตย์ (ปชป.) อย่าง "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ส.ส.สุราษฎร์ธานี ปชป. และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ในมูลความผิดกรณีส่ง ส.ส.ปชป. และบุคคลอื่นจำนวน 19 คน ไปช่วยงานกระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตรวจสอบพร้อมกับชี้มูลความผิดว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานของราชการ
กระบวนการพิจารณาครั้งล่าสุด วุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาซักถามจำนวน 6 คน เพื่อซักถาม ป.ป.ช. ในฐานะผู้กล่าวหา 12 คำถาม และซักถามนายสุเทพ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา 11 คำถาม ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างชี้แจงในประเด็นข้อสงสัยของคณะกรรมาธิการทั้ง 6 คน
เริ่มที่ผู้กล่าวหา นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ตอบคำถามของกรรมาธิการ ว่า กรณีนายสุเทพถือเป็นการเข้าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของข้าราชการ จึงยังยืนยันว่าถึงจะให้พิจารณาอีกครั้ง ป.ป.ช.ก็จะชี้มูลความผิดเพื่อส่งให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอน และยืนยันว่าการกระทำของนายสุเทพ เป็นการแทรกแซงข้าราชการจริง เนื่องจาก ส.ส. ยังสามารถช่วยเหลือประชาชนโดยวิธีการตั้งญัตติหรือกระทู้ถามในสภา ส่วนประเด็นว่ามีเจตนาพิเศษนั้น ยืนยันว่ากระบวนการถอดถอนกับการดำเนินคดีทางอาญา มีลักษณะแตกต่างกัน การถอดถอนจะใช้คำว่า "ส่อกระทำผิด" แค่นี้ก็สามารถถอดถอนได้แล้ว ไม่จำเป็นต้อง "ชี้มูลความผิด" อย่างในคดีอาญา และกรณีนี้ ป.ป.ช. จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องส่งดำเนินคดีทางอาญา
ขณะที่ฝั่งของผู้ถูกกล่าวหา นายสุเทพตอบคำถามของกรรมาธิการว่า เหตุผลที่ต้องการให้ ส.ส. และบุคคลอื่นรวม 19 คน ไปช่วยงานของกระทรวงวัฒนธรรมนั้น เป็นไปในลักษณะที่จะเป็นตัวกลางนำข้อมูลข่าวสารของกระทรวงไปเผยแพร่ ไปอธิบายแก่ประชาชน เพราะกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกระทรวงใหม่ ยังมีประชาชนที่ยังไม่เข้าใจงานของกระทรวง ทั้ง 19 คน มีความประสงค์จะไปช่วยงานราชการด้วยความสมัครใจ ไม่ได้จะไปมีตำแหน่งหรือไปรับเงินเดือน หรือจะไปแทรกแซงข้าราชการแต่อย่างใด
กระบวนการต่อไปคือ ทั้ง ป.ป.ช. และ นายสุเทพ จะต้องมายืนยันแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาในวันที่ 17 กันยายน ก่อนที่สมาชิกของสภาสูงทั้ง 146 คน จะลงมติในทางลับชี้ชะตา "สุเทพ" ว่าจะถูกถอดถอนหรือไม่ในวันที่ 18 กันยายนนี้่
หากได้ฟังคำตอบ คำชี้แจง ของทั้งสองฝ่าย ถือว่าเป็นอีกปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจพิจารณาและการใช้ดุลพินิจของสมาชิก วุฒิสภาทั้ง 146 คน ว่าจะลงมติให้มีผลออกมาเป็นแบบใด โดยฝ่ายที่ลุ้นระทึกคงหนีไม่พ้น "สุเทพ"
หากคำนวณจากเสียง ส.ว. ที่จะสามารถถอดถอน "สุเทพ" ได้นั้นต้องใช้มติ 3 ใน 5 ของสมาชิกวุฒิสภาที่มีสิทธิออกเสียงได้ในขณะนี้ นั่นคือ 89 เสียง จากทั้งหมด 146 เสียง
แม้จำนวนเสียง 89 เสียงที่จะใช้ถอดถอน "สุเทพ" นั้นดูแล้วค่อนข้างสูงพอสมควร หากแต่เมื่อมองผ่านผลการเลือกตั้งประธานวุฒิสภาที่ผ่านมา เมื่อ "นิคม ไวยรัชพานิช" ส.ว.ฉะเชิงเทรา ได้นั่งเก้าอี้ประมุขสภาสูงด้วยคะแนน 77 คะแนน
หากเอาคะแนนการเลือกประธานวุฒิสภามาตั้งเป็นสมมติฐานแล้ว บวก-ลบดูแล้วจะพบว่าอีกเพียง 12 คะแนนเท่านั้นที่จะทำให้ "สุเทพ" ต้องอำลาไปเลี้ยงหลาน ตามที่เจ้าตัวประกาศไว้ตั้งแต่แรก หากต้องถูกถอดถอนและต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี
กระบวนการล็อบบี้ วิ่งเต้น เจรจาต่อรองกันในทางลับกับสมาชิก ส.ว. ของกลุ่มการเมืองต่างๆ จึงน่าจะเกิดขึ้น ตามคำกล่าวอ้างของ "อาคม เอ่งฉ้วน" ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. ที่ออกมาระบุว่ามีอดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 พยายามเดินสายล็อบบี้สมาชิกวุฒิสภา ถอดถอน "สุเทพ" ให้หลุดจากเก้าอี้ ส.ส. ในการพิจารณาไม่อีกกี่วันข้างหน้า
แม้จะเป็นการตีกินในเชิงกดดันล่วงหน้าจากฝั่งของ ส.ส. ให้สมาชิกวุฒิสภาต้องทำงานด้วยความเที่ยงตรง ปราศจากการครอบงำของกลุ่มการเมือง
แต่ฟากฝั่งของสมาชิกวุฒิสภา นำโดย "นิคม ไวยรัชพานิช" ประธานวุฒิสภา ที่่เก๋าเกมการเมืองพอตัว และไม่หลงกลเกมการเมืองหมากนี้ง่ายๆ จึงแก้เกมด้วยการออกมายืนยันอย่างหนักแน่นว่า "สมาชิกวุฒิสภาทุกคน จะทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรง และปราศจากการครอบงำจากกลุ่มการเมืองใดๆ ยืนยันว่าไม่มีการล็อบบี้ ส.ว. อย่างแน่นอน การตัดสินใจของสมาชิกวุฒิสภาทุกคนจะยึดหลักตามตัวบทกฎหมาย ตามข้อมูลข้อเท็จจริงและหลักฐานต่างๆ ที่ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนของกระบวนการถอดถอนที่มีการประชุมกันมาแล้วสามครั้ง"
น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่าผลการลงมติถอดถอน "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ในวันที่ 18 กันยายน จะออกมาอย่างไร แน่นอนว่าการทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาในครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์การทำ หน้าที่สำคัญอีกครั้งของสมาชิกสภาสูงที่ประกอบด้วย "สายสรรหา" และ "เลือกตั้ง"