ถอน 'สุเทพ' สะเทือนถึง ปชป.-รธน.

คมชัดลึก 2 กันยายน 2555 >>>




กระบวนการถอดถอน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แม่ทัพปักษ์ใต้ แห่งประชาธิปัตย์ โดยวุฒิสภาได้เริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งกระบวนการนี้ มีปฐมบทจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลว่า สมัยที่ดำรงตำแหน่ง “รองนายกฯ” ได้ออกคำสั่งส่ง ส.ส.ประชาธิปัตย์ ไปช่วยราชการที่กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบ 266 (1) เพราะได้ใช้อำนาจไปแทรกแซง ก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ประจำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ในการต่อสู้กระบวนการถอดถอน "สุเทพ" ใช้สิทธิยื่นพยานเอกสารเพิ่มเติม คือ คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สั่งจำหน่ายคำร้องของ พลพรรคประชาธิปัตย์  ซึ่งร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นสมาชิกภาพ ของ พล.ต.ประชา พรหมนอก ส.ส.เพื่อไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ 7 ส.ส.พรรคเพื่อไทย สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (1) ประกอบมาตรา 265 วรรคหนึ่ง (1) และมาตรา 266 (1) หรือไม่ เพราะ พล.ต.อ.ประชา ใช้อำนาจของผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ตั้ง 7 ส.ส.พรรคเพื่อไทย ช่วยงานใน ศปภ.
หากมองแค่ผิวเผิน เหตุทั้ง 2 กรณี และฐานกฎหมายที่ใช้พิจารณา เหมือนกัน สรุปได้ว่า เมื่อการใช้อำนาจของ “พล.ต.อ.ประชา” เป็นลักษณะเดียวกันกับ “สุเทพ” เมื่อ “อดีต ผอ.ศปภ.” ไม่ผิด “อดีตรองนายกฯ” ก็ไม่ผิดเช่นกัน
แต่ในทัศนะของนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ อย่าง “ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เห็นว่าเป็นคนละประเด็น และไม่สามารถที่จะนำแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาสร้างผลผูกพันต่อการใช้ดุลพินิจของวุฒิสมาชิกได้ เนื่องจากไม่มีความสัมพันธ์ในแง่ของบุคคล เพราะกรณีของ “พล.ต.อ.ประชา” ก็คือ “พล.ต.อ.ประชา” ส่วน กรณีของ “สุเทพ” ก็คือ “สุเทพ” แต่โดยหลักการต่อสู้ “สุเทพ” สามารถนำหลักฐานอื่นๆ ซึ่งยังไม่เคยเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. มาให้ วุฒิสมาชิกพิจารณาได้
สอดคล้องกับมุมมองทางด้านรัฐศาสตร์ ของ รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่ากระบวนการต่อสู้ต้องใช้ทุกวิถีทาง ส่วนสิ่งหยิบยกมาสู้ คือ คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็นคนละประเด็น เพราะกรณี “สุเทพ” นั้นได้ใช้อำนาจไปแทรกแซงกระบวนการทางปกครองภาวะปกติ และตามเจตนารมณ์ และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ห้ามทำ!!
แม้ว่าเค้าโครงแห่งการกระทำระหว่าง พล.ต.อ.ประชา กับนายสุเทพ เหมือนกัน คือ ใช้อำนาจที่มี ตั้งคนของตัวเองไปทำงานในภาระงานหนึ่ง และท้ายสุดก็ถอนคำสั่งแต่งตั้งออกมา ทั้งที่ผลการกระทำของบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งไม่เกิดขึ้น
“อาจารย์รัฐศาสตร์” ผู้นี้ ชี้จุดที่นำไปสู่ผลการตัดสินในทางตรงข้ามกัน ว่า อยู่ที่สถานการณ์ เพราะ “อดีต ผอ.ศปภ.” ใช้อำนาจในสถานการณ์ที่มีความวิกฤติ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่ทุกภาคส่วนต้องมาร่วมงานแก้ไข แต่ของ “อดีตรองนายกฯ” ออกคำสั่งในช่วงสถานการณ์ปกติ
ด้านมุมมองของนักวิชาการด้านกฎหมายอย่าง “ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” แจงปมสงสัยที่ว่า “บิ๊กการเมือง ทั้ง 2 คน” ใช้ฐานกฎหมายเดียวกัน คือ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (1) แต่ผลตัดสินมันสวนทาง นั่นเป็นเพราะมีข้อเท็จจริงและพฤติกรรมประกอบที่ชี้ชัด ซึ่งกรณีของสุเทพนั้น ผิด ! ชัดเจน
ส่วนผลแห่งความผิดนั้น...จะนำไปสู่การลงมติถอดถอนให้ “สุเทพ” พ้นจากสถานะ ส.ส. และติดโทษแบนทางการเมือง 5 ปีได้หรือไม่นั้น จากบริบททางการเมือง ที่การเมืองขั้วตรงข้ามประชาธิปัตย์ เรืองอำนาจ และประมุขสภาสูง ถูกเปลี่ยนไปเป็นของ ส.ว.เลือกตั้ง “นิคม ไวยรัชพานิช” ส.ว.ฉะเชิงเทรา ญาติสนิทพ่อมดดำ-สุชาติ ตันเจริญ ย่อมถูกมองเป็นอื่นไม่ได้ว่า งานนี้ “เทพเทือก” มีร้อนๆ หนาวๆ เหมือนกัน
ด้วยกระบวนการทางการเมือง “ตระกูล” ให้มุมมองไว้ว่านอกจาก นักการเมือง ระดับ สุเทพ จะชี้แจงทางตรงแล้ว ย่อมหนีไม่พ้นการล็อบบี้-เจรจา ทั้งในกลุ่ม ส.ว. ที่มีความชอบพอกัน และ ส.ว. ในภาคอื่น ส่วนผลแห่งการล็อบบี้จะออกมาเป็นอย่างไร ย่อมกระทบต่อสถาบันวุฒิสภา และเกมทางการเมืองระหว่างนักการเมือง 2 ขั้ว คือ หากผลท้ายสุด วุฒิสมาชิกลงมติถอดถอนได้สำเร็จ จะทำให้รัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้นักการเมืองระวังตัวทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ว่าอย่าคิดใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานในระบบราชการ และผลแห่งการถอดถอนนั้น จะย้อนเป็นคลื่นกระทบ “พรรคประชาธิปัตย์” ในประเด็นการลดความน่าเชื่อถือ-ตอบโต้ทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้าม แต่ “วุฒิสภา” อาจถูกมองได้ว่า การเมืองใหญ่แทรกแซงได้
อีกมุม...หากถอดถอนไม่ได้ ด้วยเสียงไม่ถึง 3 ใน 5 ผลกระทบก็จะพุ่งมาที่วุฒิสมาชิก ด้วยข้อหาเป็นพวกเดียวกันกับประชาธิปัตย์ จากนั้นหากมีการขุดคุ้ย นำข้อมูลคนที่ลงมติไม่ถอดถอนมาตีแผ่ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาได้อีก
ขณะที่ “อาจารย์นักกฎหมาย แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” กลับมองว่าผลแห่งการลงมติของวุฒิสภา ที่ท้ายสุดออกมาเป็น “ถอดถอนไม่ได้” จะกระเทือนไปสู่การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มาตราที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ-ถอดถอน และลงโทษนักการเมือง เนื่องด้วยบริบทของหลายมาตราในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไม่เคยทดลองใช้มาก่อน ดังนั้นกรณีนี้ ถือว่าเป็นปฐมบทที่น่าจับตา และศึกษา เพื่อเป็นบทเรียนต่อไปในอนาคต
ฟากฝั่งนักกฎหมายที่ใกล้ชิดกับวุฒิสมาชิก ประเมินทิศทางการลงมติถอดถอน “บิ๊กการเมือง” ไว้ว่า ในอดีตวุฒิสมาชิกเคยผ่านประสบการณ์ลงมติถอดถอนนักการเมือง-บุคคลในองค์กรอิสระมาบ้างแล้ว โดยเกณฑ์ของการพิจารณา นอกจากจะยึดผลการไต่สวนของปปช.แล้ว ยังจะพิจารณาในองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ผลกระทบแห่งการกระทำ ส่งผลเสียหายต่อสังคมหรือไม่ แม้ว่า ปปช. จะชี้มูลว่านายสุเทพมีความผิด แต่ก็ไม่เป็นข้อสรุปตายตัวว่า วุฒิสมาชิกจะตัดสินถอดถอน
การตัดสินใจลงมติถอดถอน หรือไม่ถอดถอนของ ส.ว. เชื่อว่าจะไม่ตัดสินใจส่งเดช เพียงความเชื่อที่ว่าเขาเป็นพวกเรา หรือไม่เป็นพวกใคร และแม้ว่าวุฒิสมาชิก จะลงมติไม่ถอดถอน แต่ไม่ได้หมายความว่า “ความผิด” จะเลือนหาย มันยังคงเป็นตราบาปติดตัว “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ไปจนตาย นักกฎหมายสรุป
ในวันที่ 7 กันยายน นี้ วุฒิสภากำหนดให้แม่ทัพปักษ์ใต้ แสดงโวหารคัดค้านคำกล่าวหาของ “ปปช.” ต่อที่ประชุม ซึ่งเขาจะยกเหตุผลใดมาหักล้าง และโน้มน้าวใจวุฒิสมาชิก โปรดติดตาม และผลสุดท้ายที่ออกมานั้น ย่อมส่งผลต่ออนาคตทั้งของประชาธิปัตย์ และบรรทัดฐานของรัฐธรรมนูญ