'วีรพัฒน์' ชี้การต่อสู้ของประชาชนนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง



ทีมข่าว นปช.
9 กันยายน 2555




วานนี้ (8 ก.ย. 55) อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, ประวิตร โรจนพฤกษ์, พล.ต.อ อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช และ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ร่วมงานเสวนาประชาชน "เงื่อนงำและคำพิพากษา หลากมุมมองกรณี ม.112 ของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ดินสอ แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพ
พล.ต.อ อชิรวิทย์ กล่าวว่า ตนเองเป็นคนที่ยอมไม่ได้ต่อความไม่เป็นธรรม ทั้งนี้สังคมไทยมีกษัตริย์อยู่คู่กับประวัติศาสตร์ไทยมาช้านาน เมื่อโลกปัจจุบันเปลี่ยน เกิดความคิดที่หลากหลายมากขึ้น จึงเห็นว่า ม.112 สมควรต้องปรับปรุง แต่การแก้ไข ม.112 นั้นทุกคนจำเป็นต้องวางอคติของตนเองลง 
ในประวัติศาสตร์ทั่วโลก การโค่นล้มทางการเมืองล้วนเกิดจากการแอบอ้างกษัตริย์ รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารมักเอาเรื่องสถาบันมาเป็นข้ออ้างในการทำลายล้างทางการเมืองต่อฝ่ายผู้ที่เห็นต่าง
ตำรวจมีระเบียบชัดเจนต่อคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำงานละเอียดต่อคดีที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนคดีนี้โดยเฉพาะ และยังมีการตั้งคณะกรรมการอีกชุดเพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองอีกชั้นหนึ่งก่อนที่จะส่งฟ้อง แต่รัฐบาลรัฐประหารใช้ข้อหานี้เพื่อเล่นงานผู้ที่มีความเห็นต่าง เช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งเป็นบรรณาธิการของนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งลงบทความซึ่งไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายอำมาตย์ ศาลไทยอ้างว่า ตัดสินคดีในพระปรมาภิไธยของกษัตริย์ แต่สำหรับคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกลับไม่เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาคดี
ปัญหา ม.112 เกิดจากหลังการรัฐประหารปี 2519 ที่มีการเพิ่มบทลงโทษสูงขึ้น โดยการรัฐประหารทุกครั้งจะมีการอ้างเรื่องการล่วงละเมิดสถาบัน นอกจากนี้ศาลยังรับรองว่า การรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จถือเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" การรัฐประหารจึงเกิดขึ้นกับประเทศไทยตลอดเวลา
ก่อนหน้านี้ พธม. ที่มักอ้างว่า ตนเองเทิดทูลสถาบัน แต่กลับปิดถนนที่จำเป็นต้องใช้เป็นเส้นทางเสด็จฯ ทั้งที่ตำรวจได้ประสานงานเพื่อขอให้ พธม. เปิดถนนดังกล่าว แต่ พธม. กลับอ้างว่า ต้องไปปรึกษากันก่อน ทำให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางเสด็จฯไปใช้เส้นทางอื่น ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่ นปช. ซึ่งมักถูกกล่าวหาว่า ไม่จงรักภักดี แต่เมื่อครั้งที่ตำรวจประสานงานของให้เปิดเส้นทางเสด็จฯ กลับเปิดถนนให้ขนวบรถยนต์พระที่นั่งผ่าน โดยมีประชาชนจำนวนมากเฝ้ารอรับเสด็จอยู่ 2 ข้างทาง
ม.112 คนที่แอบอ้างเรื่องสถาบันเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ตนเองเห็นว่า ผู้ที่ "ปฏิบัติบูชา" ดีกว่า "โอษฐ์บูชา"
ขอเสนอให้แก้ไข ม.112 โดยเพิ่มบทบัญญัติลงโทษผู้ที่ปั้นเรื่องใส่ร้ายผู้อื่นว่า ไม่จงรักภักดี และให้ใครก็ตามที่เห็นการกระทำความผิด ม.112 ต้องส่งเรื่องให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้ฟ้องเท่านั้น
ประวิตร กล่าวว่า ความเงียบของสื่อมวลชนต่อ ม.112 อาจจะเป็นหัวข้อวิจัยสำคัญในอนาคต ทุกวันนี้สื่อมวลชนไม่สนใจต่อคดี ม.112 เท่าที่ควร โดยเฉพาะคดีของสมยศ ตรงข้ามกับต่างประเทศที่ให้ความสนใจ และเคลื่อนไหวมากกว่า
ประวิตร เห็นว่า สมควรยกเลิก ม.112 มากกว่าแก้ไข เพราะไม่อยากให้ใครต้องถูกจับด้วยความไม่ชอบธรรมอีกต่อไป ม.112 เป็น กม. เผด็จการ เป็น กม. ที่ไม่เคยผ่านรัฐสภา
ประเทศไทยถูกปิดหู-ปิดตาจากโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับกษัตริย์ด้านเดียวมากว่า 50 ปีแล้ว เป็นการโฆษณาชวนเชื่ออย่างไม่เพียงพอ 50 ปีกับความเชื่อต่อความดีที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งคนธรรมดาที่มีสามัญสำนึกทุกคนรู้ว่า ต้องต่อต้านสิ่งนี้
ทวิตเตอร์ของตนเองมีทั้งผู้ที่ชื่นชมตนเอง และด่าตนเอง ซึ่งตนเองเห็นว่า นับวันคนคลั่งเจ้าที่ถกเถียงกันด้วยเหตุผลมีแนวโน้มลดลง เพราะคนเหล่านี้ไม่สามารถเถียงด้วยเหตุผลได้
วีรพัฒน์ กล่าวว่า ในสังคมประชาธิปไตย บุคคลสาธารณะต้องตรวจสอบได้ แม้แต่ในหลวงก็เคยทรงตรัสเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2548 ว่า การใช้ ม.112 จะทำให้พระองค์ทรงต้องเดือดร้อน
การพิจารณาว่า การกระทำใดผิดต่อ ม.112 หรือไม่นั้นควรดูว่า การกระทำนั้นกระทบต่อ "ความมั่นคง" หรือไม่ ยกตัวอย่างกรณีที่ศาลฎีกาเคยพิพากษาคำพูดต่างๆ เช่น พระองค์เจ้าวีระ, เพลงอะไรไม่รู้ ผิดต่อ ม.112 นั้น ตนเองขอถามว่า คำพูดเหล่านี้กระทบต่อ "ความมั่นคง" อย่างไร ?
อเมริกาเคยมี กม. แบ่งแยกสีผิว มีหลายคดีที่ประชาชนฟ้องร้องต่อศาลและได้รับชัยชนะ ยกตัวอย่างเคยมีรัฐแห่งหนึ่งที่กำหนดให้เด็กผิวขาวเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง แต่เด็กผิวดำต้องเรียนโรงเรียนอีกแห่งหนึ่ง จนมีคนผิวดำฟ้องร้องต่อศาล ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาให้การกำหนด กม. แบบนั้นเป็นการแบ่งแยกสีผิว ดังนั้นตนเองจึงเห็นว่า อย่าไปสนใจความช่วยเหลือจากนักการเมืองเลย เพราะนักการเมืองสนใจแต่การเลือกตั้งเท่านั้น การต่อสู้ของประชาชนต่างหากที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง