กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตครู เดินทางไปให้กำลังใจ น.ส.มนัสนันท์ หนูคำ อายุ 31 ปี อดีตครูโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านปทุมธานี ซึ่งถูกนางดารุณี กฤตบุญญาลัย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แจ้งความหมิ่นประมาท เพราะด่านางดารุณีในห้างดังแห่งหนึ่ง จนเกิดตะลุมบอนกับกลุ่ม นปช. ที่กองบังคับการปราบปราม มีผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมานั้น ก็มีความเห็นจากทั้งนักวิชาการ แกนนำ นปช.และแกนนำ พธม. มีสาระสำคัญดังนี้
ก่อแก้ว พิกุลทอง
แกนนำ นปช.-ส.ส.เพื่อไทย
มีความห่วงใยในเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น ที่มวลชนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเกิดการปะทะกันที่กองบังคับการปราบปราม จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ผมอยากเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่าย ใช้สติ อดทน อดกลั้น และหลีกเลี่ยงไปในพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยง
ยอมรับว่ามวลชนทั้ง 2 ฝ่ายมีอุดมการณ์และจุดยืนที่ต่างกัน แต่จะทำอย่างไรให้แตกต่างแต่ไม่แตกแยก ไม่ตบตี เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ขอเรียกร้องไปยังแกนนำทั้ง 2 ฝ่ายให้แสดงอุดมการณ์ที่ศิวิไลซ์
ในฐานะแกนนำ นปช. ฝากไปยังมวลชนเสื้อแดงว่าแม้จะมีการยั่วยุจากบางฝ่ายก็ขอให้อดทนให้มาก เพราะ นปช.เป็นแนวร่วมพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล ไม่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเล็กหรือใหญ่ คนที่จะต้องรับผิดชอบคือรัฐบาลที่โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง
ส่วนคดีความของนางดารุณี มองว่าเป็นแค่เรื่องเข้าใจผิดกัน เชื่อว่าถ้าคู่กรณีขอโทษ เรื่องคงจบ อยากให้ไกล่เกลี่ยกัน ไม่อยากให้เรื่องถึงศาล
การปะทะกัน คงจะทราบว่าแล้วแกนนำ นปช. ไม่เห็นด้วย ส่วนการแสดงออกต่อต้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะคดีของทั้ง 2 คน ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ถ้าคดีเข้าสู่ศาลแล้วคงจะให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมี 3 ประเด็นสำคัญ
ประเด็นที่ 1 เหตุการณ์แบบนี้เป็นสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะความขัดแย้งในสังคมไทยยังไม่จบ เวทีต่างๆ มักจะไปอยู่หน้าศาล หน้าสถานีตำรวจ เพราะมีคดีความเยอะ เพราะฉะนั้นภาพแบบนี้จะมีให้เห็นอยู่ตลอด
ประเด็นที่ 2 ไม่ได้คิดว่าจะลุกลามเพราะมีปัจจัยที่ไม่ส่งเสริมให้มวลชนทั้งสองฝ่ายมาปะทะกันอย่างรุนแรง อาจจะมีปะทะประปรายอย่างที่เห็น เนื่องจากข้อแรกผมคิดว่าฝ่ายเสื้อเหลืองไม่ได้มีความเข้มแข็งเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน ขณะที่ฝ่ายเสื้อแดง ซึ่งพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับเขาก็ชนะและอยู่ในสภาพที่ถืออำนาจรัฐอยู่ ซึ่งปัจจัย 2 เรื่องนี้น่าจะทำให้การปะทะขัดแย้งที่มีอยู่ไม่น่ารุนแรง
แต่เราจะต้องหาวิธีทำให้ไม่แรงไปกว่าที่เป็นอยู่คงต้องร้องขอกันว่าอย่าทำให้เข้มข้นจนเกินไป แต่ว่าเวลานี้สภาพที่เกิดขึ้นมาจากฝ่ายกองเชียร์มากกว่าแกนนำ
ประเด็นที่ 3 สภาพแบบนี้จะยังคงดำเนินต่อไป เพราะผมคิดว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงมาถึงจุดที่ความขัดแย้งพวกนี้มันทำให้เรามองเห็นเรื่องเดียวกัน แตกต่างกัน
การป้องกันเหตุการณ์แบบนี้คงจำได้จากครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัย เขาจะใช้วิธีเตรียมการไว้ล่วงหน้า ผมคิดว่าวิธีการแก้ไขคือว่าคงจะต้อง
เตรียมการไว้ล่วงหน้า แต่เมื่อวันที่เกิดเหตุการณ์หน้ากองปราบฯ ไม่ได้เตรียมการอะไรเลย ทั้งที่ทางฝ่ายเสื้อเหลืองเขาก็ไป ทางฝ่ายเสื้อแดงเขาก็ไป
เมื่อเป็นเช่นนี้การปรองดองในประเทศไทยคงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยง่าย ในประเทศต่างๆ เกิดสถานการณ์เช่นเดียวกัน คือเราเข้าใจผิดว่าพอมีรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แล้ว หรือรายงานใดออกมาแล้วจะยุติปัญหา
ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะรายงานเป็นการชี้ให้เห็นว่าปัญหาในสังคมไทยตอนนี้เป็นอย่างไร การแก้ไขจะต้องใช้เวลาพอสมควร
ที่สำคัญปัญหาตอนนี้ซ้อนกันอยู่คือเวลาความขัดแย้งลากยาว ตัวสถาบันทางการเมืองต่างๆ ที่คอยบรรเทาความขัดแย้งได้อ่อนกำลังลง ตรงนี้แหละเป็นสิ่งที่อันตราย ผมคิดว่าสังคมไทยต้องเตรียมตัวรับกับความขัดแย้งแบบนี้ที่ยังไม่ยุติ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกพันธมิตร
นี่เป็นเหตุการณ์แรกที่มีมวลชนพันธมิตรเดินทางไปให้กำลังใจบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แล้วมีมวลชนที่เป็นคนเสื้อแดงมาชุมนุมในลักษณะยั่วยุ และทำร้ายร่างกาย ผมเห็นว่าเป็นเจตนาในการที่จะต้องการหาเรื่องคุกคาม ในการใช้สิทธิในการให้กำลังใจ
ซึ่งเจตนาของมวลชนคนเสื้อแดง ไม่ได้มีความรู้สึกเคารพเสรีภาพของผู้อื่น กระบวนการดังกล่าว แม้จะเกิดขึ้นกับวิทยุชุมชน แต่สะท้อนให้เห็นว่าการใช้สื่อหลักของมวลชนคนเสื้อแดง ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในเวลานี้ ไม่เคยส่งเสริมในการรักษาสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น แสดงว่าจิตใจจริงๆ แล้ว ไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นจิตใจที่ต้องการใช้บรรยากาศของความเป็นอันธพาล ต้องการให้บรรยากาศนั้นเป็นเผด็จการที่ตกอยู่ภายใต้รัฐของทางฝั่งตัวเองเท่านั้น
คนอื่นคิดแตกต่างต้องถูกคุกคาม ผมว่าเป็นการสะท้อนว่ามีวุฒิภาวะที่ต่ำมากของมวลชนที่ไป แล้วก็ยังสะท้อนให้เห็นว่าแกนนำเองจะต้องให้บทเรียนแก่มวลชนของตัวเองให้มากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมา เวลาคนเขาออกไปให้กำลังใจ เหมือนกับที่คนเสื้อแดงไปให้กำลังใจแกนนำของตัวเอง พันธมิตรไม่เคยไปก้าวล่วง ในลักษณะของการไปโห่ร้อง ไปคุกคามหรือยั่วยุที่สถานีตำรวจ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ
แบบนี้จะปรองดอง เป็นไปไม่ได้ ถ้ารัฐบาลขาดความจริงใจ และใช้มาตรการในการคุกคามคนฝ่ายอื่น มันไม่มีทางเกิดความปรองดองในทางปฏิบัติได้ มีแต่การปรองดองบนโต๊ะ ซึ่งเป็นเรื่องตบตา และกลบเกลื่อนสถานการณ์ที่แท้จริง เรื่องอย่างนี้เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ เพราะคนเสื้อแดงมีแกนนำ พันธมิตรยังไม่เคยทำแบบนี้เลย คุณจตุพร (จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.) ไปที่ศาลตั้งหลายครั้ง มีสักครั้งไหมที่พันธมิตรให้มวลชนไปก่อกวน เราไม่เคยทำแบบนั้น
มีแต่คนเสื้อแดงเท่านั้นที่ต้องการทำให้เกิดการเผชิญหน้า ผมคิดว่าถ้าทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ สถานการณ์จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่าแกนนำไม่มีวุฒิภาวะที่จะควบคุมมวลชน และไม่มีความคิดที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ
ทั้งๆ ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของมวลชน ยิ่งน่าจะควบคุมได้ ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไร แล้วปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไป ถ้าเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นต้องโทษว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายผิด และต้องรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น คนอื่นเขาไม่ได้ทำอะไรเกินขอบเขตเลย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สะท้อนให้เห็นว่าความขัดแย้งของคนในสังคมยังมีเชื้อของความเกลียดชังกันอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต่างฝ่ายต่างต้องการเผชิญหน้ากันด้วย แต่พอเผชิญหน้ากันเมื่อไหร่ หากต่างฝ่ายต่างมีความเกลียดชัง ความไม่พอใจอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ เมื่ออารมณ์ของทั้ง 2 ฝ่ายพลุ่งพล่านขึ้นมา เราอาจจะเห็นภาพของการใช้กำลังหรือใช้ความรุนแรงต่อกันเกิดขึ้นได้ แต่เท่าที่ดูจากเหตุการณ์นี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต
ผมคิดว่าหลังจากเหตุการณ์นี้ทุกฝ่ายก็พยายามปรามว่าไม่ควรจะเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น ตรงนี้คิดว่าเป็นจุดที่เราควรจะต้องช่วยกัน ในอนาคตเราจะป้องกันได้ก็ต้องใช้ความร่วมมือจากคนที่มีบทบาทสำคัญของแต่ละฝ่าย ควรจะต้องช่วยกันปรามว่าอันนี้เป็นการกระทำที่จะทำให้สังคมไทยกลับไปสู่ความยุ่งยากเหมือนเดิม
ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังว่าเมื่อไหร่ที่เกิดการชุมนุมที่จะทำให้เผชิญหน้ากัน
เจ้าหน้าที่รัฐต้องมีมาตรการที่เคร่งครัดมากขึ้น ถ้ามีใครข้ามเส้นของกฎหมาย เช่น มีใครไปตีหัวกัน หรือเอาปืนยิงกัน หรือทำร้ายร่างกาย ทำร้ายทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา เช่นเหตุการณ์นี้เราเห็นกรณีการทำร้ายร่างกาย ทำร้ายทรัพย์สิน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ว่าใครทำ เจ้าหน้าที่รัฐต้องดำเนินคดี เพื่อให้เป็นบทเรียนว่าถ้าจะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ใช่การไปไล่ตีหัวกัน ไปทุบรถกันแบบนี้
ผมว่าต้องดำเนินคดีกับทั้ง 2 ฝ่าย ถ้ามีหลักฐานเพื่อให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขณะเดียวกันจะเตือนให้คนที่มาชุมนุมตระหนักว่าการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้
นอกจากนี้สื่อมวลชนก็ยังมีส่วน เรายังเห็นสื่อที่ยังประโคมให้รู้สึกเกลียดชังกันอยู่ ผมคิดว่าสังคมคงต้องช่วยกันเตือนและให้สติกันว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นยังทำได้ แต่ไม่ควรเกินเลย ตรงนี้อาจช่วยทำให้สื่อที่สุดขั้วอ่อนกำลังลง และสื่อต่างๆ จะพยายามเสนอเรื่องราวทางการเมืองด้วยวิจารณญาณมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าแต่ละภาคส่วนของสังคมต้องพยายามเรียนรู้ว่าควรจะรับผิดชอบอย่างไรทั้งภาครัฐ สื่อมวลชน และภาคประชาชน