พยานชี้ จนท. ยิงวัดปทุม

ข่าวสด 7 กันยายน 2555 >>>


พยานคดี 6 ศพวัดปทุมฯ เบิกความย้ำต่อศาล เห็นเจ้าหน้าที่ยิงจากรางรถไฟฟ้าใส่เหยื่อหน้าวัดซ้ำยังตะโกนเรียกให้ออกมา ด้วย ยันคนในวัดไม่มีอาวุธ ขณะที่ "เสธ.อู้" อดีต ส.ว. เข้าให้การ "ดีเอสไอ" เผยเป็นตัวแทนเจรจากับแกนนำเสื้อแดง ก่อนนำผลหารือเสนอประธานวุฒิฯ แต่พอวันรุ่งขึ้นรัฐบาลก็กระชับพื้นที่ สอบ "เสธ.ไก่อู" คิวต่อไป รองอธิบดีดีเอสไอชี้อดีตโฆษก ศอฉ. เคยแถลงแล้วขัดกับคำให้การ 2 สไนเปอร์ รวมทั้งผลสอบก็ยังไม่ปรากฏหลักฐาน "ชายชุดดำ" ฆ่าเจ้าหน้าที่ และประชาชน หรือแฝงตัวในม็อบก็ไม่มี
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนคำร้องชันสูตรการเสียชีวิต ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของ
นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1
นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2
นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3
นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4
น.ส.กมนเกด ฮัคอาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5 และ
นายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6
ทั้ง 6 ศพ ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ในเหตุการณ์สลายม็อบเสื้อแดง สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
โดยพนักงานอัยการนำประจักษ์พยานเข้าเบิกความรวม 2 ปาก คือ นายเพิ่มสุข ใจเย็น เบิกความสรุปว่า เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในเดือน พ.ค. 2553 ที่แยกราชประสงค์ โดยพักอยู่ที่เต็นท์หน้าโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ในวันที่ 19 พ.ค. 2553 ได้ยินเสียงปืนดังมาจากทางสวนลุมพินี ขณะที่แกนนำประกาศยุติการชุมนุม แล้วบอกให้ทุกคนกลับบ้าน โดยใช้เส้นทางแยกเฉลิมเผ่าไปยังสนามกีฬาแห่งชาติ หรือให้ไปหลบภายในวัดปทุมฯ เพราะเป็นเขตอภัยทาน
นายเพิ่ม สุขเบิกความว่า หลังจากนั้นจึงขับรถมาจอดไว้บริเวณทางเข้าวัดปทุมฯ ตอนนั้นมีมวลชนจำนวนมากเข้ามาหลบในวัด ส่วนตนและมวลชนบางส่วนยืนอยู่หน้าวัด กระทั่งเห็นนายอัฐชัยผู้เสียชีวิตที่ 2 ยืนอยู่บริเวณตอม่อรถไฟฟ้าเตรียมจะวิ่งเข้ามาภายในวัด แต่ขณะนั้นมีเสียงปืนดังขึ้น วิถีกระสุนมาจากที่สูง แต่ไม่เห็นตัวคนยิง จึงตะโกนบอกนายอัฐชัยว่าอย่าเพิ่งวิ่งข้ามมา ไม่นานก็เห็นนายอัฐชัยถูกยิงเข้าที่หน้าอกล้มลง ก่อนจะมีคนเข้าไปช่วยเหลือนำเข้ามาในวัด ขณะนั้นนายอัฐชัยยังไม่เสียชีวิต พยาบาลอาสาปั๊มหัวใจ แต่ก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา
   "ระหว่างนั้นเสียงปืนดังขึ้นต่อเนื่อง ผมหลบอยู่ข้างรถพร้อมกับคนอื่นๆ และได้ยินเสียงตะโกนสั่งว่าให้ออกมา ผมเชื่อว่าเป็นเสียงของเจ้าหน้าที่ เพราะมองขึ้นไปบนรางรถไฟฟ้าจะเห็นคนใส่ชุดลายพรางถือปืนเล็งลงมา ผมกลิ้งตัวหลบกระสุนแต่ก็ถูกยิงบริเวณก้น และโคนขา เช่นกัน จนถึงตอนนี้ผมยังเชื่อว่าการยิงลงมาเป็นการพยายามฆ่า เพราะผมก็ไม่ได้มีอาวุธหรือต่อสู้ ผู้ชุมนุมที่มารวมกันอยู่บริเวณวัด ไม่มีใครมีอาวุธ" พยานคดี 6 ศพวัดปทุมฯ เบิกความ
ขณะที่นาย จักรพงษ์ พนาสิริวรภัทร์ เบิกความสรุปว่า รู้จักกับนายอัฐชัย ผู้เสียชีวิตที่ 2 เพราะเรียนหนังสือด้วยกันที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมชุมนุมมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2553 มีหน้าที่เป็นการ์ดนปช. ดูแลบริเวณด้านข้างของเวทีชุมนุม แยกราชประสงค์ ในวันที่ 19 พ.ค. 2553 ยังทำหน้าที่การ์ดตามปกติ ช่วงบ่ายเริ่มได้ยินเสียง ปืนมาจากทางสวนลุมฯ จากนั้นไม่นานแกนนำประกาศยุติการชุมนุม ตนกับนายอัฐชัย พร้อมด้วยเพื่อนอีกคน พากันเดินไปทางแยกมาบุญ ครองเพื่อจะกลับบ้าน แต่ได้ยินผู้ชุมนุมคนอื่นบอกว่าเจ้าหน้าที่ไม่ให้ผ่านออกไป จึงพากันกลับมาที่วัดปทุมฯ ขณะนั้นเสียงปืนดังมาจากแยกเฉลิมเผ่า และไม่เห็นว่าใครยิง
นายจักรพงษ์เบิกความต่อว่า จากนั้นเวลา 17.00 น. มีคนบอกว่าให้ข้ามไปอยู่ฝั่ง ร.พ.ตำรวจ จะปลอดภัยกว่า พวกเราตัดสินใจจะข้ามไป ปรากฏว่ามีเสียงปืนดังขึ้น จึงหมอบลงกับพื้น ส่วนนายอัฐชัยวิ่งอยู่บนเกาะกลางถนนใต้รางรถไฟฟ้า จังหวะนั้นได้ยินเสียงคนตะโกนว่ามีคนถูกยิง เมื่อหันไปดูพบว่าเป็นนายอัฐชัย ก่อนมีคนช่วยเหลือนำเข้าไปในวัด จนกระทั่งนายอัฐชัยเสียชีวิต จึงโทรศัพท์แจ้งให้พี่สาวนายอัฐชัยทราบ แม้ไม่เห็นว่าใครเป็นคนยิง แต่ระหว่างที่วิ่งหลบกระสุนอยู่ เห็นคนแต่งกายชุดลายพรางอยู่ตรงแยกเฉลิมเผ่า และถึงแม้ว่าพวกเราจะเป็นการ์ดนปช. แต่ทุกคนไม่พกอาวุธ และไม่ได้ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดอีกครั้งในวันที่ 27 ก.ย. เวลา 09.00 น. เพื่อหารือกับทนายและอัยการ เพื่อพิจารณาร่วมกันว่าจะนำพยานปากไหนเข้าเบิกความ เนื่องจากมีพยานเป็นจำนวนมาก หากพยานปากไหนที่ไม่สำคัญ ก็อาจจะตัดออกไป เพื่อให้การไต่สวนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
เวลา 15.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีต ส.ว.สรรหา เข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอในคดีสลายม็อบ 98 ศพ และให้การเสร็จสิ้นในเวลา 17.30 น. จากนั้น พล.อ.เลิศรัตน์ให้สัมภาษณ์ว่า มาให้ปากคำเนื่องจากพนักงานสอบสวนต้องการข้อเท็จจริง กรณีที่ตนนำเพื่อน ส.ว. 4 คน เข้าไปเจรจากับแกนนำนปช. ในวันที่ 17-18 พ.ค. 2553 ว่าผลการเจรจาเป็นอย่างไร และนำผลการเจรจาไปชี้แจงต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้นหรือไม่ และสอบถามว่า ส.ว. ทั้ง 60 คนในขณะนั้นทำอะไรบ้าง
อดีต ส.ว. กล่าวต่อว่า ส่วนการเจรจากับแกนนำ นปช. ในครั้งนั้น เนื่องจาก ส.ว. ทุกคนมีความเป็นห่วงกังวลสถานการณ์บ้านเมือง เพราะตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. 2553 เป็นต้นมาเริ่มมีการเสียชีวิตของ เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่องทุกวัน จึงเป็นตัวแทนเข้าไปพูดคุยเพื่อให้สถานการณ์คลี่ คลาย และหลังจากเจรจากับแกนนำแล้วก็ไม่ได้พบกับตัวแทนรัฐบาลโดยตรง แต่นำข้อมูลจากการเจรจาไปเสนอต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภาในขณะนั้น ต่อมาช่วงเช้าวันที่ 19 พ.ค. 2553 รัฐบาลก็ประกาศกระชับพื้นที่
ด้าน พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดี 98 ศพ กล่าวว่า สำหรับการสอบปากคำ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก และอดีตโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในวันที่ 7 ส.ค. นั้น จะสอบถามข้อมูลการแถลงข่าวของ ศอฉ. ที่ขัดแย้งกับคำให้การของพลซุ่มยิง 2 นาย ที่เข้าให้ปากคำไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากจุดที่เกิดเหตุปากซอยงามดูพลีนั้น พ.อ.สรรเสริญ แถลงในขณะนั้นว่า เจ้าหน้าที่ยิงล้มลง แล้วผู้ที่ถูกยิงขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ แต่คำให้การของ 2 พลซุ่มยิงระบุว่าเป็นการยิงโดยใช้กระสุนซ้อม ไม่มีหัวกระสุน จึงอยากสอบถามว่า พ.อ.สรรเสริญ ได้ตรวจสอบข้อมูลก่อนนำมาแถลงข่าวหรือไม่ และนำข้อมูลที่แถลงมาจากหน่วยใด
รองอธิบดีดีเอสไอกล่าวต่อ ว่า ส่วนเรื่องชายชุดดำที่ยังมีปัญหานั้น จากการสอบสวนจนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีชายชุดดำทำให้กลุ่มประชาชน เสียชีวิต มีเพียงวันที่ 10 เม.ย. 2553 เท่านั้น ที่ปรากฏภาพชายชุดดำบนถนนราชดำเนิน แต่หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏชายชุดดำ ที่บอกว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธไล่โจมตีเจ้าหน้าที่ และแฝงตัวอยู่กับผู้ชุมนุม อยากเรียกร้องให้ผู้ที่มีหลักฐานนำเอกสาร หรือภาพมามอบให้เจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นประโยชน์ในการสอบสวนต่อไป อย่างไรก็ตาม การสอบสวนคดี 98 ศพมีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 50 แต่ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะสรุปสำนวนได้ทันภายใน 3 เดือนหรือไม่
พ.ต.อ.ประเวศน์ ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากนี้จะส่งหนังสือเชิญนายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา มาให้ข้อเท็จจริงด้วย เนื่องจากเป็นผู้นำข้อมูลของ พล.อ.เลิศรัตน์ ไปมอบให้นายอภิสิทธิ์ แต่ยังไม่ระบุได้ว่าเป็นวันไหน ขณะที่นายปณิธาน วัฒนายากร อดีตโฆษกประจำสำนัก นายกฯ นั้น ขอเลื่อนเข้าให้ปากคำไปเป็นวันที่ 24 ก.ย. โดยจะสอบถามนายปณิธาน ในฐานะที่เป็นตัวแทนแถลงข่าวให้รัฐบาลในช่วงที่มีการสลายม็อบ