คนกรุงหนุน 'สุขุมพันธุ์' ผู้ว่าฯ กทม. สมัยสอง

คมชัดลึก 16 กันยายน 2555 >>>




เอเเบคโพลล์เผยคนกรุงหนุน "สุขุมพันธุ์" ผู้ว่าฯ กทม. สมัยสอง หนุน "บิ๊กอ็อบ" เข้าร่วม ครม. ปราบยาเสพติด

วันที่ 16 ก.ย. 55 ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง"จากเวทีเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ถึงระดับชาติว่าด้วยการปรับคณะรัฐมนตรี และ “เก็บตก” ผลสำรวจสังเกตการณ์ของสาธารณชนในชีวิตประจำวัน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 2,013 ตัวอย่าง และประชาชนใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ เชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ ขอนแก่น หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา ลพบุรี ชลบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา จำนวน 1,857 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5-15 ก.ย. 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และกำหนดลักษณะของตัวอย่างให้สอดคล้องกับประชากรเป้าหมายจากการทำสำมะโน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7
เมื่อถามกลุ่มคนกรุงเทพมหานครที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.8 ระบุสิ่งที่ทำให้มีความทุกข์ในการใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ รองลงมาคือร้อยละ 88.3 ระบุปัญหายาเสพติด ร้อยละ 87.9 ระบุปัญหาการจราจรติดขัด ร้อยละ 84.0 ระบุปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง/การชุมนุมประท้วง ร้อยละ 83.0 ระบุความหวาดกลัวต่ออาชญากรรม ร้อยละ 81.3 ระบุปัญหามลพิษ ขยะมูลฝอยในชุมชนแออัด ร้อยละ 73.4 ระบุเด็กยกพวกตีกัน เด็กหนีเรียน และร้อยละ 61.7 ระบุปัญหาแรงงานต่างด้าว คนต่างด้าว ตามลำดับ
เมื่อถามถึงสิ่งที่ทำให้มีความสุขในการใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานคร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.2 ระบุความจงรักภักดีของคนในชาติ รองลงมาคือร้อยละ 94.6 ระบุความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ร้อยละ 86.9 ระบุมีเพื่อนร่วมงานที่ดี ร้อยละ 86.6 ระบุความมีน้ำใจของคนในชุมชน ร้อยละ 85.6 ระบุเข้าวัดทำบุญ ร้อยละ 85.2 ระบุบ้านเมืองสงบสุข ร้อยละ 85.0 ระบุไม่มีหนี้สิน มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และร้อยละ 84.1 ระบุการมีสวนสาธารณะ มีต้นไม้ร่มรื่น ตามลำดับ
เมื่อถามถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นผู้ว่าฯกทม. พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.1 ระบุซื่อสัตย์สุจริต รองลงมาคือร้อยละ 74.4 ระบุรวดเร็วฉับไวแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ร้อยละ 73.8 ระบุกล้าคิดกล้าทำ ร้อยละ 58.7 ระบุมีวิสัยทัศน์กว้างไกล รู้จักป้องกันปัญหา ร้อยละ 57.7 ระบุมีผลงานเห็นได้ชัด ร้อยละ 55.9 ระบุเข้าถึงใกล้ชิดประชาชน ร้อยละ 50.3 ระบุสังกัดพรรคการเมือง และรองๆ ลงไป คือ พัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ มีการศึกษาดี และเป็นคนรุ่นใหม่ ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.8 ยังไม่ตัดสินใจแน่นอน มีตัวเลือกในใจมากกว่า 1 คน ในขณะที่ร้อยละ 37.2 ตัดสินใจแล้วว่าตั้งใจจะเลือกใคร โดยในกลุ่มคนที่ตัดสินใจแล้ว พบว่าร้อยละ 40.0 จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์  บริพัตร รองลงมาคือร้อยละ 27.6 จะเลือกคุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 10.2 จะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์  เตมียาเวส ร้อยละ 7.5 จะเลือก นายกรณ์ จาติกวณิช และที่เหลือร้อยละ 14.7 จะเลือก นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ และนายดำรงค์ พิเดช เป็นต้น
เมื่อวิเคราะห์ผลสำรวจประชาชนใน 17 จังหวัดของประเทศ ถึงความคิดเห็นต่อการปรับคณะรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.2 ระบุควรปรับคณะรัฐมนตรี โดยปัญหาการทำงานของรัฐบาลที่ควรปรับคณะรัฐมนตรีหาคนใหม่มาแก้ปัญหาแทน ได้แก่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.6 ระบุปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ รองลงมาคือร้อยละ 69.2 ระบุปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด ร้อยละ 62.5 ระบุปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 61.1 ระบุปัญหาด้านการศึกษา ร้อยละ 58.9 ระบุปัญหาการบุกรุกที่ดินอุทยาน ป่าไม้ ร้อยละ 43.6 ระบุปัญหาแรงงานข้ามชาติ ค้ามนุษย์ และร้อยละ 22.9 ระบุปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาน้ำท่วม ปัญหามลพิษ และปัญหาชุมชนแออัด เป็นต้น
เมื่อถามความคิดเห็นต่อข้าราชการที่จะเกษียณอายุและกำลังสร้างผลงานในข่าวระยะหลังนี้ในตำแหน่งรัฐมนตรีที่จะดูแลสานต่องานที่กำลังทำอยู่ในขณะรับราชการ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.2 เห็นด้วยถ้ารัฐบาลจะให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็นรัฐมนตรีดูแลด้านปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.3 ระบุว่าสำเร็จได้ยาก ถ้า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ไม่อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจในการแก้ปัญหายาเสพติดโดยตรง เพราะ ขนาดมีอำนาจยังต้องลงไปลุยด้วยตนเอง ถ้าไม่มีอำนาจสั่งการจะทำงานได้อย่างไร จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร จะไม่มีใครเชื่อฟัง ไม่มีคนทำตามเพราะไม่มีอำนาจสั่งการอะไร ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาซับซ้อนมองมิติปราบปรามอย่างเดียวไม่ได้ และมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของขบวนการค้ายาเสพติด ถ้าไม่มีอำนาจและจะสั่งการใครได้ เป็นต้น
แต่กลุ่มที่คิดว่าสำเร็จได้ง่ายในการแก้ปัญหายาเสพติดของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เพราะน่าจะมีบารมี มีพรรคพวก อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาที่ทำตามให้บรรลุเป้าหมายได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.9 เห็นด้วยถ้ารัฐบาลจะให้ นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานเป็นรัฐมนตรีดูแลแก้ปัญหาบุกรุกที่อุทยานและป่าไม้ และร้อยละ 57.4 เห็นด้วยถ้ารัฐบาลจะให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์เป็นรัฐมนตรีดูแลด้านเศรษฐกิจ ในขณะที่ร้อยละ 42.6 ไม่เห็นด้วย
ที่น่าพิจารณาคือ ผลสำรวจ “เก็บตก” สังเกตการณ์เรื่องทั่วๆ ไปของสาธารณชนในชีวิตประจำวัน พบว่า ร้อยละ 58.9 ระบุความปลอดภัยบนท้องถนนของตนเองอยู่บนเส้นด้าย ไม่มีผู้ใหญ่คนใดแก้ปัญหาได้จริงจังต่อเนื่อง ในขณะที่ร้อยละ 74.8 ระบุพบเห็นคนขับรถไม่เคารพกฎจราจรเพิ่มขึ้น เช่น เปิดช่องทางพิเศษเอง ปาดหน้าแซงคิว ย้อนศร ร้อยละ 79.6 กังวลอนาคต อาชญากรรมต่างชาติจะเต็มเมือง    ร้อยละ 91.5 ต้องการองค์กรอิสระ คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตระดับจังหวัด ปราบปรามคอรัปชั่นอย่างจริงจังต่อเนื่องระดับท้องถิ่น ร้อยละ 92.7 อยากเห็นคนขับรถมีน้ำใจหลีกทางให้รถพยาบาล และรถฉุกเฉินช่วยเหลือคนบาดเจ็บ และร้อยละ 94.3 อยากเห็นคนไทยรักกัน
ดร.นพดลกล่าวว่า ในการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. ที่จะมาถึงนี้ คนโดยส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร อย่างไรก็ตามในกลุ่มคนที่ตัดสินใจแล้ว ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ น่าจะเป็นตัวเลือกให้กับคนกรุงเทพมหานครที่ดีที่สุด เพราะคุณสมบัติยังสอดคล้องกับความต้องการของคนกรุงเทพมหานครอยู่โดยเฉพาะเรื่องความรวดเร็วฉับไวในการแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนที่แสดงให้เห็นในช่วง “วิกฤตมหาอุทกภัย” ที่ป้องกันพื้นที่กรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ไว้ได้ และแสดงให้เห็นชัดเจนว่ายอมเสียสละสมกับการทำหน้าที่เป็น “พ่อเมือง” ของคนกรุงเทพฯ แต่จำเป็นต้องหาแนวทางลดความทุกข์ของประชาชนด้านปัญหาปากท้องและค่าครองชีพ ซึ่งอาจลองพิจารณานโยบาย “คืนพื้นที่เกษตรให้กับคนกรุงเทพฯ” สำหรับมีอาหารรับประทานในชีวิตประจำวันเพื่อความอยู่รอด เช่น ตามไหล่ทางและในชุมชนควรมีไม้ผล ไม้ใบ ที่รับประทานได้ นอกเหนือไปจากไม้ดอกไม้ประดับเพียงอย่างเดียว และในคลองสาธารณะบางแห่งควรมีปลาและสัตว์น้ำให้คนกรุงเทพฯ ในชุมชนได้เลี้ยงไว้รับประทาน คือ “ทำกรุงเทพฯ ให้สวยและกินได้” แต่ต้องบริหารจัดการให้ดีเพื่อไม่ให้มีการแสวงหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ของคนเฉพาะกลุ่ม
“การเมืองระดับชาติที่รัฐบาลน่าพิจารณาคือการหา “คนดีและเก่ง” เข้ามาเสริมการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและหนุนเสริมความมั่นคงของรัฐบาลเพราะการปล่อยภาพลักษณ์ที่ถูกคณะทำงานสร้างขึ้นให้ดูดีดูเด่นดูสวยงามเป็นผู้นำอยู่คนเดียวใน “หน้าจอ” คงไม่พอ เนื่องจากประชาชนมีศักยภาพในการโต้ตอบที่เรียกว่าเป็น “Active Audience” ด้วยว่าประชาชนไม่ใช่เป็นเพียงกล่องเครื่องรับสัญญาณ หรือ “Passive Audience” ที่เอาอะไรมาวาดให้และประชาชนก็จะรับหมดตามการออกแบบของคณะทำงาน ดังนั้น ถ้าประชาชนทนกันต่อไปไม่ไหวกับสิ่งที่อยู่ “ในบ้าน หน้าบ้าน” และรวมตัวกันได้ก็จะทำให้รัฐบาลอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากจนไม่มีใครจะเอาอยู่ เพราะอารมณ์ของคนอาจจะรุนแรงกว่าน้ำเพราะคนรู้จักคิด วางแผนและตอบโต้กับภาพเทียมที่เอามายัดเยียดให้ จึงจำเป็นต้องเร่งหาคนดีและเก่งที่ทำงานจริงแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดความต้องการของประชาชนเข้ามาเสริมเพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยต้องการการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและอยากเห็นประเทศก้าวไปข้างหน้า” ดร.นพดล กล่าว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 49.0 เป็นชาย ร้อยละ 51.0 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 19.2 อายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 21.5 อายุระหว่าง 40-49 ปี และ ร้อยละ 33.9 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 77.0 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 17.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 6.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่า   ปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 32.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 30.4 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.8 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 9.6 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.7 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 8.1 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ    ร้อยละ 4.0 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ