นักข่าวเนเธอร์แลนด์ หนึ่งในผู้บาดเจ็บเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ พ.ค. 53 ให้ปากคำดีเอสไอในฐานะพยาน ระบุหลักฐานต่างๆ ชี้ว่าทหารเป็นผู้ยิง ย้ำไม่เห็นชายชุดดำ
26 ก.ย. 55-มิเชล มาส ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์โฟลกส์ครานต์ (Volkskrant) และสถานีวิทยุโทรทัศน์เอ็นโอเอสของเนเธอร์แลนด์ หนึ่งในผู้สื่อข่าวที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกกระสุนปืนยิงในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมวันที่ 19 พ.ค. 53 ได้เข้าให้ปากคำกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยในช่วงเช้าวันนี้ได้ชี้จุดเกิดเหตุที่ตนเองถูกยิงบริเวณถนนราชดำริใกล้กับสวนลุมพินี และระบุว่าตนถูกยิงเข้าที่บริเวณด้านหลังในขณะที่กำลังรายงานข่าวทางโทรศัพท์ มาสกล่าวว่า ทิศทางของกระสุนมาจากบริเวณที่ทหารประจำการอยู่บริเวณสี่แยกราชดำริ พร้อมระบุ ไม่เห็นชายชุดดำหรือกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในบริเวณดังกล่าว จึงค่อนข้างมั่นใจว่าทหารน่าจะเป็นผู้ยิง
ในการเข้าให้ปากคำเป็นพยานในครั้งนี้ มาสมาในฐานะพยานเหตุการณ์ในคดีการเสียชีวิตของนักข่าวชาวอิตาเลียน ฟาบิโอ โปเลนกี ในเหตุการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 53 และมาในฐานะผู้เสียหาย เนื่องจากเขาถูกกระสุนปืนยิงเข้าบริเวณหลังด้านขวา ซึ่งผลการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญระบุว่า กระสุนดังกล่าวเป็นกระสุนจากปืนเอ็ม 16
ทั้งนี้ มาสเป็นผู้บาดเจ็บเพียงคนเดียวในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค. ปี 53 ที่ยังคงมีกระสุนเป็นหลักฐานชัดเจน แต่ในครั้งนี้ เขากล่าวว่า ยังไม่ได้นำกระสุนมามอบให้ทางดีเอสไอเนื่องจากยังเก็บรักษาไว้ที่บ้านในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย แต่จะนำมาให้ถ้าหากจำเป็นต่อการสืบสวนคดี
มาสกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การเดินทางมาในครั้งนี้ เพื่อต้องการมาให้ปากคำแก่ทางการไทย และบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น เพื่อให้สามารถค้นหาความจริงว่าใครเป็นผู้กระทำผิดในเหตุการณ์ดังกล่าว และหวังว่า การให้ปากคำในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อคดีการเสียชีวิตของช่างภาพชาวอิตาเลียน ฟาบิโอ โปเลนกีด้วย
มิเชล มาส เป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้กับหนังสือพิมพ์และสถานีวิทยุโทรทัศน์ของเนเธอแลนด์มากว่า 10 ปี โดยรายงานข่าวจากพื้นที่สงครามต่างๆ มากว่า 10 ปี ทั้งการสู้รบในโคโซโว บริเวณยุโรปตะวันออก เขตการสู้รบของชนกลุ่มน้อยในพม่า และรายงานข่าวในประเทศไทยมาได้ 9 ปีแล้ว แต่มาสกล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เขาได้รับบาดเจ็บระหว่างการรายงานข่าว
นักข่าวดัตช์ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ในระหว่างที่ตนรายงานข่าวบริเวณถนนราชดำริบริเวณใกล้กับสวนลุมพินีเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 53 ไม่คิดเลยว่าตนเองจะถูกยิง เนื่องจากคาดหวังว่าน่าจะมีสัญญาณเตือนจากทหารในการเคลียร์พื้นที่ เช่น การประกาศโดยใช้ลำโพง การใช้กระสุนยาง หรือการยิงปืนขึ้นฟ้า ซึ่งตนมองว่าเป็นมาตรการที่ทหารมักจะใช้ในหลายๆ ประเทศเมื่อต้องการสลายการชุมนุมประชาชน แต่ทหารก็กลับยิงปืนโดยใช้กระสุนจริง ซึ่งทำให้เขาเองแปลกใจมาก