รวมบทวิเคราะห์รายงาน คอป.-เสนอรวมข้อมูลดิบจากทุกฝ่ายในหอจดหมายเหตุ

ประชาไท 24 กันยายน 2555 >>>




23 ก.ย.55 เวลาประมาณ 13.00 น. มีงานเสวนา รัฐประหาร 19 กันยา กับอาชญากรรมโดยรัฐ กรณีการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53 จัดโดยศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) และกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ที่ตึกเอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมากจนล้นห้องประชุม

อ่านรายงานส่วนของ พวงทอง ภวัครพันธุ์

"ความจริงจากคลิป"

เวียง รัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตัวแทน ศปช. กล่าวถึงเหตุการณ์บริเวณราชปรารภ ว่า ขณะที่รายงานของ คอป.ระบุว่าความรุนแรงเริ่มเมื่อมีเอ็ม 79 ลงในคืนวันที่ 14 พ.ค. ที่บริเวณราชปรารภ และจากรายงานข่าวของไทยพีบีเอสที่ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. เวลา 18.30 น. มีผู้ชุมนุมทุบกระจกรถบรรทุกทหาร ขณะขับผ่านบริเวณแยกดินแดง พร้อมบรรยายว่า เมื่อเสียงปืนดังขึ้นทำให้ทหารล้มลง แต่จากการตรวจสอบของ ศปช. พบว่า เป็นการยิงขึ้นฟ้าและแย่งปืนจากทหาร เพื่อมอบให้ตำรวจ แต่ไม่มีสื่อใดรายงานข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้เกิดการตีความว่า คนเสื้อแดงยิงทหารล้มลงบาดเจ็บ ทั้งนี้ จากคำให้การในศาล ยืนยันตรงกันว่าทหารล้มเพราะถูกดึงลงมา และร่างกายไม่มีรอยกระสุน
นอกจากนี้จากการเก็บข้อมูลของ ศปช. พบว่า ก่อนเหตุการณ์ความวุ่นวายดังกล่าว มีผู้โดยสารรถแท็กซี่ในบริเวณนั้นถูกยิงและได้รับบาดเจ็บ 1 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือนายไชยันต์ วรรณจักร อายุ 21 ปี ซึ่งทำงานร้านอาหารญี่ปุ่นในสุขุมวิท ถูกยิงเสียชีวิตขณะขี่มอเตอร์ไซค์เพื่อกลับบ้านแถวอนุสาวรีย์ชัย นอกจากนี้ยังมีนายทิพเนตร ที่ใบมรณบัตร ระบุเวลาเสียชีวิต 23.00 น. แต่คาดว่าเสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกันกับนายไชยันต์
นอกจากนี้ คืนวันที่ 14 พ.ค. ยังมีอาสาสมัครกู้ภัยและผู้ไม่เกี่ยวข้องถูกยิงเสียชีวิต อาทิ นายบุญทิ้ง ปานจิรา อาสาสมัครกู้ภัยวชิรพยาบาล ซึ่งถูกยิงบริเวณปั๊มเชลล์ จากการเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บ ทั้งที่มีป้ายวชิรพยาบาลชัดเจน ไม่มีอาวุธ ขณะที่บริเวณใกล้แอร์พอร์ตลิงก์ สื่อรายงานว่า มีรถตู้ นปช.ฝ่าด่านทหาร เข้ามา ถูกยิงกระจกแตกรอบด้าน จากข้อมูล ศปช. พบว่าสมร ผู้ขับรถตู้ เพิ่งส่งผู้โดยสารต่างชาติที่ ร.ร.แกรนด์เชอราตัน แต่ถูกทหารยิงกระหน่ำ อาจด้วยความเข้าใจว่าเป็น นปช.บุกและเพิ่งมีเอ็ม 79 ลงเมื่อสองทุ่ม นอกจากนี้ยังมีนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ กับ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี ซึ่งออกมาดูเหตุการณ์ และถูกลูกหลงจนเสียชีวิต โดยสรุปในวันที่ 14 พ.ค. ตั้งแต่ 17.30 น. มีผู้เสียชีวิต 11 ศพ  ทั้งนี้ ไม่รวมผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก
เช้าวันที่ 15 พ.ค. มีผู้เสียชีวิตอีก 3 ราย เช่น กรณีเฌอ สมาพันธ์ ศรีเทพ อายุ 17 ปี ซึ่งไม่มีอาวุธ มีพยานบอกว่า ถูกยิงที่ศีรษะ ตัวหมุนและล้มลง เข้าใจว่า ขณะเกิดเหตุสมาพันธ์ค่อยๆ เข้าไปทางทหารเพื่อดูเหตุการณ์ ถาม คอป. ว่า นี่คือการยั่วยุของคนเสื้อแดงหรือ
ตอนบ่ายมีอีก 3 ศพ จากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหาร เช่น กรณีชาญณรงค์ พลศรีลา ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต โดยมีภาพว่า มีเพียงยางรถยนต์กับหนังสติ๊ก ถามว่าในช่วงกลางวันแสกๆ ทหารที่มีกล้องติดปืนจะไม่เห็นหรือว่าเขาถืออะไร น่าประหลาดใจว่า ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า ทหารใช้อาวุธผลักดันผู้ชุมนุม ผู้สื่อข่าว ออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย
บ่ายวันเดียวกันยังมีนายธนากร ญาติของกำปั้น บาซู ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตขณะอยู่ในคอนโดเดอะคอมพลีท ชั้นที่ 24 เข้าใจว่า ยื่นหน้าออกมาดูเหตุการณ์ วิถีกระสุนเข้าทางขวา ออกทางซ้าย แปลว่ายิงมาจากทางทหาร ส่วนกำปั้นซึ่งจะเข้าไปช่วยเหลือก็ถูกกระสุนยิงเข้าไปแขน
ดังนั้นจะเห็นว่า ศอฉ.บิดเบือนความจริง สร้างข้อมูลเท็จ โดยอ้างว่า มีการยิงเอ็ม 79 ทหารจึงต้องใช้อาวุธ ทั้งที่ ศปช. พบว่ามีผู้เสียชีวิตก่อนหน้านั้น ขณะที่สื่อก็รายงานบิดเบือนหรือผิดพลาดโดยเจตนา โดยรายงานว่าเป็นการปะทะระหว่าง นปช. กับทหาร ทั้งที่อาวุธที่ นปช. คือ หนังยาง ระเบิดเพลิง เมื่อทหารยิงมาก็ระบุว่า "กองกำลังไม่ทราบฝ่าย" มีคนใส่ชุดทหาร ก็รายงานว่า "แต่งกายคล้ายทหาร" ใช้คำว่า "ก่อความรุนแรง" "แดงเหิมบุกหนัก" และจากการที่ 19 คนที่เสียชีวิตบริเวณราชปรารภ ไม่มีอาวุธแม้แต่คนเดียว ยกเว้นชาญณรงค์ที่มีหนังสติ๊ก  ถามว่าใครรับผิดชอบต่อการตายของคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่เหล่านี้

คดีประชาชนเกือบ 2,000 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจกว้าง หว่านแหจับ-ข่มขู่-ซ้อม  

เสาวลักษณ์ โพธิ์งาม ทีมงาน ศปช. กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมในการดำเนินคดีกับประชาชนว่า การจับกุมจำนวนมากเกิดขึ้นจากการประการศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีเกือบ 2,000 คน เป็นผู้หญิงและเยาวชนอายุต่ำว่า 18 ปีอย่างละเกือบ 200 คน ในจำนวนนั้นมีเยาวชนที่ถูกข้อหารุนแรงมากคือ วางเพลิงเผาเซ็นทรัลเวิลด์ และรวมถึงคนต่างชาติเช่น ลาว พม่า เขมร ด้วย โดยมีชาวเขมรถูกกล่าวว่าเป็นผู้ก่อการร้าย โดยศาลพิพากษายกฟ้องข้อหาก่อการร้าย
ปัญหาในการดำเนินคดี ชั้นจับกุมและชั้นศาล จะพบว่า ส่วนมากเกิดในกรุงเทพฯ โดยทหารจับกุม และแทรกแซงกระบวนการของพนักงานสอบสวน อยู่ประจำโรงพักในวันเกิดเหตุจำนวนมาก ส่วนในต่างจังหวัดมีการสนธิกำลัง ทหาร อส. ตำรวจ เกือบทั้งหมดถูกจับในวันที่ 19 พ.ค. 53 จากการเก็บข้อมูลพบว่า มีจำนวนไม่น้อยที่ทหารใช้วิธีซ้อมทรมาน บังคับข่มขู่ให้รับสารภาพ จำกัดสิทธิในการเจอทนาย ดังนั้น จะเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างมาก ในขณะที่การส่งฟ้องนั้นอัยการดำเนินการรวดเร็ว จับเช้าฟ้องเย็น หรือฟ้องวันรุ่งขึ้นทันที โดยตำรวจใช้หลักฐานส่วนใหญ่เพียงบัตร นปช. สัญลักษณ์ นปช. หนังสติ๊ก ฯลฯ และอ้างว่าเปิดโอกาสเต็มที่ในการต่อสู้ชั้นศาล ขณะเดียวกันก็ไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหา ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการสู้คดี ส่วนในชั้นพิจารณาคดีของศาลพบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ยกฟ้อง โดยที่จำเลยติดคุกมาเกือบสองปี หรือมีกรณีที่สั่งลงโทษโดยที่จำเลยติดคุกเกินกำหนดมานานนับปี
เสาวลักษณ์ กล่าวว่า ข้อเสนอของ คอป. พูดถูกส่วนหนึ่งเกี่ยวกับระบบตุลาการ ระบบกฎหมายไทย ซึ่งมีปัญหาหมักหมมมานานและถูกนำมาใช้จนเกล่อในทางการเมือง จนประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม  ข้อเสนอคือ ให้ปรับปรุง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมซึ่งพูดลอยๆ และผิวเผิน โดยไม่มีความจริงใจ เพราะหากจริงใจในการเสนอจะต้องเชื่อมโยงกระบวนการยุติธรรมกับประชาชน เช่นมีสิทธิเลือกตั้งประธานศาลฎีกา อัยการสูงสุด

จี้เปิดเผยข้อมูลดิบทั้งหมด รวมหอจดหมายเหตุ

สาวตรี สุขศรี จากนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนจากคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า คอป. ถูกตั้งคำถามทั้งทัศนคติที่ปรากฏในรายงานและที่ทางของรายงาน และยังมีปัญหาเรื่องความมีส่วนได้เสีย เนื่องจากมีคณะกรรมการชุดหาข้อเท็จจริงที่เคยอยู่ในกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งอาจส่งผลการเลือกเฟ้นประเด็นในการนำเสนอ และไม่ได้ข้อมูลจากผู้เสียหาย เพราะเขาถือเป็นคู่ขัดแย้ง อาจจะในฐานะผู้สนับสนุน ตัวการร่วม หรือแม้แต่กองเชียร์
นอกจากนี้ยังพบว่า คอป. เทน้ำหนักให้กับข้อมูลจากภาครัฐ ทั้งระดับปฏิบัติการและสั่งการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องให้น้ำหนักพอๆ กันกับข้อมูลฝั่งผู้เสียหายด้วย หากแต่พบว่าข้อมูลฝ่ายประชาชนปรากฏน้อยมาก อีกทั้งข้อมูลจำนวนมากมาจากหนังสือพิมพ์ ซึงไม่สอดคล้องกับงบประมาณจำนวนมากที่ได้ไป อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนที่ลึกซึ้งและเป็นประโยชน์ เช่นข้อมูลจากตำรวจสหรัฐ
สาวตรี กล่าวว่า ศปช. ทำรายงานออกมา 1,300 กว่าหน้า ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นข้อมูลดิบ แต่ในรายงายของ คอป. 300 กว่าหน้ามีการวิเคราะห์ ใส่ทัศนคติ ความคิดเห็น รวมถึงที่มาประมาณ 30 กว่าหน้า เหลือเนื้อหาจิงๆ ประมาณ 200 หน้า คำถามที่ต้องถามในฐานะประชาชนคือ ข้อมูลดิบที่นำมาวิเคราะห์อยู่ที่ไหน ส่วนนี้ไม่ปรากฏในรายงาน เป็นข้อมูลสาธารณะ และหลายส่วนมีความสำคัญมาก เช่น รายงานของตำรวจสหรัฐเกี่ยวกับการวิเคราะห์วิถีกระสุน ประชาชนควรเรียกร้องว่าให้มีการเก็บข้อมูล หลักฐานเหล่านี้ไว้ในหอจดหมายเหตุเพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาและให้คนรุ่น หลังได้ศึกษาเปรียบเทียบ โดยหอจดหมายเหตุดังกล่าวจะต้องมีการเก็บข้อมูลดิบ พยานหลักฐานของทุกฝ่าย ทุกคณะกรรมการ
สาวตรี ยังกล่าวถึงการเลือกเน้นบางส่วนในรายงาน คอป. ช่วงแรกเกี่ยวกับรากเหง้าของปัญญาหาที่ระบุว่า เหตุการณ์ทั้งหลายเป็นวิวัฒนาการความขัดแย้งที่ยืดเยื้อไล่ตั้งแต่ รธน.40 ช่วงรัฐบาลทักษิณ เรื่อยมาจนปัจจุบัน จะเห็นได้ชัดเจนว่าจงใจให้น้ำหนักและให้รายละเอียดเฉพาะบางช่วงเวลาเท่านั้น เช่น ช่วงที่พูดเรื่องกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญไม่โปร่งใส่ ก็อธิบายแต่คดีซุกหุ้น แต่หลังจากนั้นมีเหตุการณ์อื่นเรื่อยมาที่สะท้อนปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าคดียุบพรรค ปลดนายกฯ สมัคร กลับไม่มีการพูดถึง หรือกรณีการพูดเรื่องปิดสนามบินนั้นมีเพียงบรรทัดเดียว แต่กลับเน้นเรื่องการปิดการประชุมอาเซียนครึ่งค่อนหน้า หรือกรณีการยกผังล้มเจ้าประมาณ 4-5 บรรทัด แต่ไม่มีการสรุปว่าเป็นของกำมะลอ
   “ที่สำคัญ คอป. ไม่ได้พูดถึงวันบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ เป็นวันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการทำลายพยานหลักฐานสำคัญของคดี ในฐานะนักกฎหมาย การทำลายพยานหลักฐานเป็นเรื่องร้ายแรง และมีผลอย่างสำคัญในการเกิดข้อขัดแย้งเรื่องข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏ” สาวตรี กล่าว
สาวตรีกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในรายงานฉบับนี้ไม่มีพูดถึงจำนวนคดีตามมาตรา 112 ที่เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่คำเดียว และยังบอกว่า ปัญหาหนึ่งที่เป็นรากเหง้า คือการยกสถาบันขึ้นอ้างเพื่อหาประโยชน์เข้าตัว แต่ คอป. ไม่เคยวิเคราะห์ถึงบทบาทและการแสดงออกของสถาบันเลยแม้แต่คำเดียว ยกเรื่องความเข้าใจผิดต่อสถาบันแต่ไม่เคยยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น กรณีการเสด็จไปงานศพเหยื่อเหตุการณ์ 7 ตุลาของสมเด็จพระบรมราชินีนารถ
ประเด็นของชายชุดดำ มีข้อสังเกตเพิ่มว่าหลายท่านเชื่อว่าจากพยานหลักฐานมีชายชุดดำจริง แต่วันนี้เราไม่รู้ แม้แต่พนักงานสอบสวนก็ยังระบุไม่ได้ว่าว่าชายชุดดำเป็นพวกไหน เป็นคนของใคร เพื่อความเป็นธรรมคือ เราอาจบอกว่าพบชายชุดดำที่นู่นที่นี่ แต่การที่ คอป. เขียนว่ามีการสัมพันธ์กับผู้ชุมนุม แม้ คอป. จะไม่ฟันธงว่าเป็นพวกใคร แต่ลักษณะการเขียนแบบนั้นใครอ่านก็เห็น ส่งผลทางจิตวิทยาในการสืบคดีว่า คนเสื้อแดงอาจตายจากชุดดำก็ได้, คนชุดดำอาจมีความสัมพันธ์กับคนเสื้อแดง, แม้ความตายของประชาชนจะเกิดจากเจ้าพนักงาน แต่มีความเป็นไปได้ว่าเจ้าพนักงานเขาป้องกันตัว
   “คอป. เต็มไปด้วยนักกฎหมาย ไม่รู้หรือว่าเขียนแบบนี้จะให้ผลอะไรในทางกฎหมาย เขารู้ นักกฎหมายอ่านแล้วบอกได้เลยว่าเขารู้ มันชัดเจนกับผลสามประการดังกล่าว หากเป็นคดีเจ้าพนักงานมีโอกาสหลุดสูงมาก เพราะมีชายชุดดำเต็มไปหมด” สาวตรี กล่าว
สาวตรีกล่าวอีกว่า การแสวงหาข้อเท็จจริงก็ดี การวิเคราะห์ปัญหารากเหง้าก็ดีเกี่ยวข้องกับทัศนคติ หากจะหาข้อเท็จริงว่าทำไมเกิดเหตุการณ์ สิ่งหนึ่งที่ คอป.ต้องทำ และต้องทำอย่างกว้างขวางด้วย คือพยายามสัมภาษณ์ทุกฝ่ายให้มากที่สุด เพื่อจับให้ได้ว่า พวกเขามีทัศนคติอย่างไรต่อสิ่งทีเกิดขึ้น ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายประชาชน แต่ไม่มีบทสัมภาษณ์ลักษณะนั้นเลย แต่เต็มไปด้วยทัศนคติของ คอป. เองอย่างค่อนข้างชัดเจนว่าเทไปทางไหน
สำรับในส่วนข้อเสนอของ คอป. นั้น สาวตรีเห็นว่า คอป. เน้นการบรรยากาศความสามัคคี และนำมาอยู่เหนือความจริง ข้อเท็จจริง พร้อมระบุให้ยุติกระบวนการต่างๆ ที่จะสร้างความขัดแย้ง แม้จะเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อความเป็นธรรม
   “ตัวเขาเองเกลียดกลัวความขัดแย้ง แต่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องความขัดแย้ง ต่อรอง เรียกร้องสิทธิต่างๆ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม” สาวตรี กล่าว
ส่วนข้อเสนอ คอป. ที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมนั้น เป็นความเห็นที่ตรงกับนิติราษฏร์ซึ่งเคยเสนอไปแล้วว่า ไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิงต่อวิธีตรากฎหมายนิโทษให้ทุกฝ่ายดังที่เคยทำในอดีต เพราะลักษณะดังกล่าวทำให้ประชาชนพ้นความรับผิด แต่ให้ผู้สั่งการและปฏิบัติการสลายการชุมนุมก็พ้นจากการรับผิดพร้อมกันไป ด้วยการทำแบบนี้ยิ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้สูญเสีย เสนอว่าเราต้องมีการจัดแยกกลุ่มที่จะได้รับการนิรโทษกรรม โดยต้องมีการตราหมวดที่ว่าด้วยข้อขจัดความขัดแย้ง ซึ่งไม่ควรบัญญัติเพียง พ.ร.บ. แต่ควรไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้มีการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะจะเสนอให้ดึงเอาคดีบางคดีจากมือศาล มาวิเคราะห์ในคณะกรรมการพิเศษ หมวดนี้ต้องมีรายละเอียดที่ไม่มีการนิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ และจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมายปกติ และนิรโทษกรรมทันทีแก่ประชาชนที่ฝ่าฝืนกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน และกฎหมายความมั่นคงในสถานการณ์ชุมนุมและการเดินขบวนประท้วงเป็นมูลเหตุจูง ใจทางการเมือง 

มอง "สิทธิมนุษยชน" ในรายงาน คอป.

กฤตยา อาชวนิจกุล ศูนย์สิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รายงานของ คอป. ระบุในกรอบการทำงานว่า จะยึดหลักสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย นิติรัฐ และความปรองดองแห่งชาติ โดยจะดูมาตรฐานการสลายการชุมนุม การใช้อาวุธ ว่าเป็นไปตามสมควรแก่เหตุหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าในรายงานไม่ได้ตอบคำถามนี้
กฤตยา ระบุว่า รายงานของ คอป. เอาคำสั่ง ศอฉ. รวมถึงคำพูดของผู้ชุมนุมมาใส่ไว้ แต่กลับไม่วิเคราะห์ว่าเรื่องการสลายการชุมนุมถูกต้องตามมาตรฐานสากลหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีการเขียนถึงเหตุการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่หน่วยรบพิเศษยิงปะทะกับคนชุดดำ สองคนในหน้า 149 ซึ่ง คอป. อ้างอิงจากเอกสารการบรรยายของ คอป. เอง ว่า ตามหลักวิชาการแล้ว เป็นเรื่องที่รับไม่ได้
สิ่งที่ คอป. ขาด คือไม่ได้ใช้หลักสิทธิมนุษยชนเป็นตัวตั้ง คอป.เริ่มรายงานจากเหตุการณ์บุกยึดสถานีดาวเทียมไทยคม เมื่อ 9 เม.ย. 53 เป็นตัวตั้ง แต่ไม่วิเคราะห์การประกาศ พ.ร.บ.มั่นคง ว่าเหมาะสมได้สัดส่วนไหม ทั้งยังอ้างอิงคำสั่งศาลแพ่งว่าการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่คำสั่งนี้ขัดหลักสากล และสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ
กฤตยา กล่าวว่า คอป. เลือกเล่าเรื่องที่คิดว่าชอบและเห็นว่าถูก แต่ไม่เล่าตามเนื้อผ้า ทั้งที่สิ่งที่เกิดขึ้น ตามหลักสากล ทหารไม่ควรถูกนำมาใช้ควบคุมฝูงชนแต่แรก ศอฉ. ไม่มีสิทธินำอาวุธสงครามเข้ามาในที่ชุมนุมที่ไม่มีความรุนแรงแต่แรก แทนการชี้ว่า การทำเช่นนี้ของ ศอฉ. อาจทำให้เกิดการต่อต้านของผู้ชุมนุม คอป. กลับระบุในโทนว่า ผู้ชุมนุมทำให้ทหารสูญเสียเกียรติและศักดิ์ศรีจากเหตุการณ์ที่ไทยคม ทำให้ทหารมีความชอบธรรมในการใช้กำลังเอาคืนได้
กฤตยา กล่าวว่า คอป. มีนักกฎหมายจำนวนมาก แต่กลับหลีกเลี่ยงวิเคราะห์ความเหมาะสมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การเหวี่ยงแหปิดสื่อ การตัดสินของรัฐบาลและ ศอฉ. ในการขอคืนพื้นที่ ความได้สัดส่วนของอาวุธที่ใช้กับจำนวนผู้ชุมนุม ซึ่งราวกับเป็นการทำสงคราม
ประเด็นสิทธิการชุมนุม คอป. ผลักความรับผิดชอบให้แกนนำและผู้ชุมนุม ส่วนตัวมองว่าหากมีการพูดให้ใช้ความรุนแรง ก็สามารถดำเนินคดีอาญาปกติได้ แต่ไม่ควรเหมารวมว่าชุมนุมไม่สงบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ คอป. ยังพูดถึงการยิงสกัดเจ้าหน้าที่กู้ชีพจนบาดเจ็บและเสียชีวิตน้อยมาก
กรณีการติดป้ายใช้กระสุนจริง รายงาน คอป. ระบุว่า ศอฉ. ปฏิเสธการติดป้ายนี้ แต่ข้อมูลของ ศปช. พบว่า อภิสิทธิ์เคยให้สัมภาษณ์สื่อ นสพ.ว่าติดป้ายเพราะไม่ต้องการให้คนไม่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่
คำสั่งลับที่ภายหลังมีการนำมาเผยแพร่ ยังระบุแนวห้ามผ่านเด็ดขาด ทำเครื่องหมายให้ผู้ชุมนุมรับทราบ หากขัดขืน ให้ดำเนินการได้ทันที มองว่า เป็นคำสั่งปลายเปิด ซึ่งนำสู่ความรุนแรง โดยรายงานของ คอป. ไปสรุปว่า การกระทำทั้งหลายเป็นการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่เอง
กฤตยา กล่าวว่า รายงาน คอป. มีข้อแข็งที่เป็นประโยชน์ เพราะทำให้เห็นภาพที่ไม่ได้มองเห็น แต่ยังมีข้อมูลอีกจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในรายาน ทั้งนี้ กลัวว่าข้อมูลจะถูกทำลาย จึงเรียกร้องว่าอย่าทำลายข้อมูลเหล่านี้และขอให้อัพโหลดข้อมูลสู่เว็บไซต์ ให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลได้ และไม่ควรจบแค่ฉบับที่ 1 โดยสามารถนำงบที่เหลือ 11.4 ล้านบาทมาทำรายงานส่วนนี้ต่อไป
ทั้งนี้ กฤตยาย้ำว่าการปรองดองจะเกิดได้เมื่อชดเชยให้เหยื่อที่สูญเสียแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ การปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเรียกร้องการให้อภัยโดยคนที่จะได้ประโยชน์จากการให้อภัยไม่เคยสำนึกผิด หรือยอมรับผิดแม้แต่น้อย
ต่อคำถามว่า ศปช. จะวิจารณ์การชุมนุมของ นปช.ที่ทำให้ผู้ชุมนุมเป็นเหยื่ออย่างไร พวงทอง ตอบว่า ที่ผ่าน แกนนำ นปช. ถูกวิจารณ์อย่างมากว่าพาคนมาตาย แกนนำย่อมมีความรู้สึกผิด แม้ไม่ได้เป็นผู้ทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิต แต่ก็เป็นความรับผิดชอบของแกนนำ ที่ไม่สามารถดูแลความปลอดภัยผู้ชุมนุมได้ แกนนำจึงควรขอโทษ แต่ที่ คอป. เสนอให้สองฝ่ายขอโทษ อยากให้คณิต ณ นคร และสมชาย หอมลออ เดินไปหาอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ และกองทัพที่วางยุทธการทางทหารว่าถึงเวลาที่ต้องออกมากล่าวขอโทษประชาชนเสียที
กรณีมีการระบุว่า การชุมนุมที่ยืดเยื้อของ นปช. นำสู่ความรุนแรงและการบาดเจ็บ พวงทอง ระบุว่า ต้องเข้าใจว่า เป็นความต่อเนื่องของการเมืองก่อนรัฐประหาร ที่ปฏิเสธการแก้ไขปัญหาในระบบรัฐสภา และจุดสูงสุดที่การสนับสนุนรัฐประหาร ปูแนวทางสู่การเคลื่อนไหวต่อมาดังกล่าว  ดังนั้น ถ้าจะประณามการชุมนุมของ นปช. ต้องมองต้นเหตุเหล่านี้ด้วย