′ดีเอสไอ′ แยกสำนวน 98 ศพ

มติชน 10 กันยายน 2555 >>>


′ดีเอสไอ′ รอศาลตัดสินคดี ′พัน คำกอง′ 17 ก.ย. ก่อนแยกสำนวน 98 ศพ เล็งแจ้งข้อหาฆ่าคนตายกับ ′มาร์ค-สุเทพ′ ฐานผู้สั่งการสลายการชุมนุม พร้อมทำ 2,000 สำนวนคนบาดเจ็บจากการสลายม็อบ เป็นคดีพยามฆ่า

′ดีเอสไอ′ แยกสำนวน 98 ศพ

เมื่อวันที่ 9 กันยายน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงความคืบหน้าคดีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนจำนวน 98 ศพ จากเหตุการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ว่า ได้ประชุมหารือกับ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดี ดีเอสไอในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนแล้ว โดยดีเอสไอมีแนวทางการสอบสวน หลังศาล มีคำสั่งคดีนายพัน คำกอง ในวันที่ 17 กันยายน จะมีการแยกสำนวนการสอบสวนคดีฆาตกรรมเป็นรายคดี โดยแบ่งตามสถานที่เกิดเหตุและ ผู้เสียชีวิตออกเป็นแต่ละสำนวน จะยึดหลักการกระทำผิดต่างกรรม ต่างวาระ
   "ถ้าจุดเดียวกันมีผู้เสียชีวิตหลายคน จึงเชื่อ ได้ว่าผู้ทำให้เสียชีวิตต้องเป็นกลุ่มเดียวกัน จึงเห็นควรรวมคดีเป็น 1 สำนวน เช่น กรณีการเสียชีวิต 6 ศพ ในวัดปทุมวนารามวรวิหาร และดำเนินคดีฆาตกรรมกับผู้
กระทำให้เสียชีวิต โดยแจ้งข้อกล่าวหาฆ่าคนตายกับผู้ก่อเหตุ แต่เรื่องดังกล่าวมีข้อกฎหมายอาญามาตรา 70 เกี่ยวข้อง ทหาร ที่ปฏิบัติภารกิจในครั้งนั้นเป็นการทำตามคำสั่ง จึงอาจจะไม่ต้องรับผิดตาม มาตรา 70" นายธาริต กล่าว

เล็งแจ้งข้อหาผู้สั่งการสูงสุด

นายธาริตกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเริ่มเกี่ยวข้องกับบุคคลสั่งการหรือผู้ออกคำสั่ง และประเด็น ดังกล่าวมีการร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับ ผู้ออกคำสั่งการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากคำสั่งดังกล่าวนั้น พนักงานสอบสวนจะแยกเป็นอีก 1 คดี ซึ่งพนักงานสอบสวนจะพิจารณาในเรื่องของเจตนาในการกระทำให้เสียชีวิตตามกฎหมายอาญา มาตรา 59 โดยจะต้องวิเคราะห์ว่าเป็นเจตานาเล็งเห็นผลหรือไม่ เพื่อจะนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาฆ่าคนตายโดยเจตนาต่อไปกับผู้สั่งการสูงสุด
นายธาริตกล่าวว่า ตามกฎหมายอาญา มาตรา 70 เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องกับออกคำสั่งการระดับสูงสุด ในครั้งนี้คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ทั้งนี้ ทุกอย่างเป็นไปตามพยานหลักฐาน

ตั้งข้อหาพยายามฆ่า 2 พันคดี

นายธาริตกล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้ร้องมายัง ดีเอสไอว่าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม ซึ่งมีทั้งได้รับบาดเจ็บ และบาดเจ็บสาหัสกว่า 2,000 ราย พนักงานสอบสวนก็จะแยกสำนวนเป็นรายคดีเช่นกัน หากจะนับ ตามรายชื่อผู้บาดเจ็บก็ประมาณ 2,000 สำนวนคดี หากคำสั่งศาลระบุว่าสาเหตุที่ทำให้เสีย ชีวิตเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานสอบสวนก็แจ้งข้อกล่าวหาพยายามฆ่ากับผู้เกี่ยวข้องทั้ง 2,000 สำนวน หากการตายเกิด ต่างสถานที่และวันเวลา แต่เท่าที่ทราบบาง สถานที่มีผู้เสียชีวิตพร้อมกันหลายคน ก็ใช้หลักเดียวกับการดำเนินคดีฆาตกรรมคือรวมสำนวนคดี
นายธาริตยังกล่าวว่า สำหรับประเด็นการเรียกพลซุ่มยิงอีก 39 ราย ที่ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ ส.ส.เพื่อไทย นำมามอบให้นั้น เป็นหน้าที่ของ พนักงานสอบสวนที่จะตรวจสอบเอกสารหลักฐานว่าถูกต้องหรือไม่ หลังจากนั้นต้องจัดลำดับการเข้าไปสอบปากคำบุคคลก่อน และมอบหมาย พ.ต.อ.ประเวศน์ ดำเนินการ
ทั้งนี้ในส่วนของคดีนายพัน หากศาลไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำความผิดได้ สำนวนการไต่สวนจะถูกส่งมายังพนักงานสอบสวนเพื่อ หาพยานหลักฐานเพิ่มเติมว่า ใครเป็นผู้กระทำให้เสียชีวิต จากนั้นพนักงานสอบสวนก็จะส่งสำนวนไต่สวนกลับไปให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลไต่สวนอีกครั้งหนึ่ง หากสอบสวนไประยะหนึ่งแล้วยัง ไม่สามารถหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็จะงดการสอบสวนชั่วคราว แต่หากพนักงานสอบสวนสอบไปได้ระยะหนึ่ง ปรากฏหลักฐานว่าเป็นการฆ่ากันเอง ไม่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ต้องส่งศาลก็ทำสำนวนไปตามปกติ