งานเข้าติดกัน 2 งานซ้อน สำหรับคู่หูคีย์แมนแห่งพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
เริ่มตั้งแต่ถูกพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชุดของ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เรียกตัวไปให้การคดีสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 เป็นเหตุให้มีคนตาย 98 ศพ บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน
นายอภิสิทธิ์ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ใช้เวลาให้ปากคำนาน 7 ชั่วโมง นายสุเทพ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ใช้เวลานาน 12 ชั่วโมง
ในการตอบข้อซักถามของพนัก งานสอบสวนที่ตั้งไว้ 40 คำถาม เพื่อนำไปสู่คำตอบว่าใครคือ "ผู้สั่งการ" แท้จริงในเหตุการณ์นองเลือดเมื่อกว่า 2 ปีก่อน
แล้วก็ยังไม่ทันหายเหนื่อยจากการเข้าให้ปากคำต่อดีเอสไอ ทั้ง "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ก็ยังต้องไปขึ้นเบิกความเป็นพยานต่อศาล ในคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายพัน คำกอง แท็กซี่เสื้อแดงซึ่งถูกยิงเสียชีวิตย่านราชปรารภ 1 ใน 98 ศพพฤษภาเลือด
คดีชันสูตรพลิกศพนายพัน คำกอง เป็น 1 ใน 22 คดีร่วมกับ อาทิ คดี 6 ศพในวัดปทุมวนาราม คดีลุงชาญณรงค์ พลศรีลา คดี ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือ น้องอีซา คดีพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ คดีนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น คดีนายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี ฯลฯ เป็นต้น ที่อยู่ในชั้นไต่สวนของศาล
อย่างไรก็ตามในการเข้าให้ปากคำต่อพนัก งานสอบสวนดีเอสไอ ทั้งนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ถือว่าได้เตรียมตัวมาดี การให้ข้อมูลแต่ละเหตุการณ์เป็นไปอย่างรอบคอบรัดกุม แม้จะต้องเผชิญกับคำถามไล่ต้อนมากกว่า 40 คำถาม แต่ก็ไม่ได้หลุดปากเพลี่ยงพล้ำใดๆ
โดยเฉพาะนายสุเทพ ที่นำแฟ้มเอกสารหนากว่า 300 หน้าเข้าชี้แจงต่อพนักงานสอบสวน ล้วนเป็นเอกสารคำสั่งของ ศอฉ. ในขณะนั้น และบันทึกการประชุมแต่ละครั้ง
ยืนยันว่าตนเองในฐานะ ผอ.ศอฉ. เป็นคน เซ็นลงนามทั้งหมด ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนายอภิสิทธิ์ที่เพียงแต่เข้าร่วมประชุมรับฟังรายงานเป็นบางครั้งคราวเท่านั้น
หลายช่วงหลายตอนนายสุเทพยังกล่าวย้ำถึง "ชายชุดดำ" กลุ่มคนลึกลับที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม และเป็นคนใช้อาวุธยิงประชาชน ไม่ใช่ฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ
เกือบทั้งหมดในคำให้การของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ จึงเป็นข้อมูลเก่าที่ประชาชนในสังคมได้ยินได้ฟังมาตลอด 2 ปีหลังเกิดเหตุการณ์
เพียงแต่ครั้งนี้พนักงานสอบสวนจดบันทึกไว้อย่างละเอียด ทั้งยังบันทึกภาพวิดีโอระหว่างการให้ถ้อยคำไว้ทุกขั้นตอน
ถ้อยคำที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนจะมีผลผูกพันไปถึงคดีอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต จึงไม่แปลกที่ทั้ง 2 คนจะพิถีพิถันมากเป็นพิเศษ
ข่าวจากห้องสอบสวนแจ้งว่า 7 ชั่วโมงของนายอภิสิทธิ์ แบ่งเป็นการให้ปากคำตอบข้อซักถามราว 3 ชั่วโมง อีก 4 ชั่วโมง เป็นการตรวจทานคำให้การอย่างละเอียดก่อนลงชื่อรับรองความถูกต้อง ต้องจับตาดูต่อไปว่าคำให้การของ "อภิสิทธิ์- สุเทพ" จะส่งผลต่อรูปคดีอย่างไร
การที่นายสุเทพยืนยันว่านายอภิสิทธิ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคำสั่งใดๆ ของ ศอฉ. จะช่วยกันนายอภิสิทธิ์พ้นจากความรับผิดชอบในฐานะนายกรัฐ มนตรีขณะนั้น ได้หรือไม่ ยังเป็นเรื่องน่าสงสัย
นอกจากอภิสิทธิ์-สุเทพ ที่สังคมเฝ้าจับตาไม่แพ้กัน คือการเข้าให้ปากคำของ ส.อ.คชารัตน์ เนียมรอด และ ส.อ.ศฤงคาร ทวีชีพ 2 พลแม่นปืนที่มีภาพปรากฏอยู่ในคลิปย่านบ่อนไก่เมื่อเดือน พ.ค. 2553
ทั้ง 2 คนถูกแยกสอบ แต่ให้การตรงกันว่าได้ใช้ปืนเอ็ม 16 ยิงจริง แต่เป็นการยิงขู่และใช้ "กระสุนซ้อม" ส่วนกล้องที่ติดกับปืนก็เป็นแค่กล้อง "บีบีกัน"
ผู้ถูกสอบปากคำจะให้การอย่างไรก็แล้วแต่ ถือว่าเป็นสิทธิ์ แต่ในสายตาผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนมองแวบเดียวก็ดูออกว่ากระสุนที่ยิงออกไปนั้น เป็นกระสุนซ้อมหรือกระสุนจริง
นอกจากนี้คลิปภาพการเล็งปืนยิง ประกอบเสียง ? ล้มแล้วๆ ? ที่พลแม่นปืนคนหนึ่งร้องบอกอีกคนหนึ่ง ยังเป็นหลักฐานชัดเจน ยิ่งกว่าคำอธิบายใดๆ
เช่นเดียวกับคำเบิกความต่อศาลของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพในคดีนายพัน คำกอง ที่อ้างตรงกันว่าไม่เคยมีคำสั่งให้ "สลายการชุมนุม" แม้แต่ครั้งเดียว
มีแต่การ "ขอคืนพื้นที่" และ "กระชับวงล้อม" ที่ไม่ใช่การใช้กำลังกระทำการอันเป็นอันตรายใดๆ ต่อผู้ชุมนุม ก่อนวกกลับมาลงที่ผู้ก่อ การร้ายและชายชุดดำว่า เป็นต้นเหตุการตาย 98 ศพ
คำให้การของอภิสิทธิ์-สุเทพ สอด คล้องหรือสวนทางกับภาพเหตุการณ์ในขณะนั้นที่ถูกตีแผ่ไปทั่วโลกอย่างไร เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องใช้วิจารณ ญาณเอาเอง
นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพถือเป็นพยานสำคัญ 2 ปากสุดท้ายในกรณีนายพัน คำกอง ก่อนศาลจะนัดฟังคำสั่งในวันที่ 17 ก.ย. นี้ว่า การตายของแท็กซี่เสื้อแดงรายนี้ เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอและตำรวจท้องที่เกิดเหตุรวบรวมทำสำนวนส่งให้อัยการสั่งฟ้องหรือไม่
เมื่อผลคำสั่งเป็นอย่างไรแล้วจะเข้าสู่กระบวนการหาตัวคนสั่งการอยู่เบื้องหลังความตายดังกล่าว มาดำเนินคดีลงโทษทางอาญาต่อไป
เป็นอย่างนี้ไปจนกว่าจะครบ 22 คดี 22 ศพในเบื้องต้น และอาจจะมีตามมาอีกในส่วนของ 76 ศพที่เหลือ ยังไม่นับรวมกับอีกเกือบ 2,000 คนที่ได้รับบาดเจ็บซึ่งเริ่มมีการท ยอยเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่ออดีตนายกฯ และอดีต ผอ.ศอฉ. บ้างแล้ว
ข้อหาพยายามฆ่า ถ้าดูจากยอดภูเขาน้ำแข็งที่เริ่มโผล่มาให้เห็น เชื่อว่าลึกลงไปจากนี้ทั้งนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการเดินเข้า-ออกศาลอาญา
แต่จะในฐานะพยานเหมือนที่ผ่านมา หรือจะยกระดับฐานะเป็นอย่างอื่น เป็นฉากต่อไปที่ต้องติดตามด้วยความลุ้นระทึก