ประชาไท 28 กันยายน 2555 >>>
(27 ก.ย.) ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาท อ.1008/53 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา โดยโจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 53 ระบุความผิดสรุปว่า
เมื่อวันที่ 29 ม.ค.-15 ก.พ. 2553 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้กล่าวปราศรัยหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ด้วยเครื่องกระจายเสียงต่อหน้าประชาชนกลุ่มคนเสื้อแดง และประชาชนที่รับฟังและชมโทรทัศน์ช่องพีเพิล แชนแนล ที่มีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ ทำนองว่า โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีที่สั่งฆ่าประชาชนและหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร และข้อความอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ
การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังว่า โจทก์เป็นคนมีจิตใจโหดเหี้ยม สั่งฆ่าประชาชน หนีทหาร เหตุเกิดทั่วราชอาณาจักร ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 326, 332
คดีนี้หลังจากศาลไต่สวนมูลฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่าที่จำเลยกล่าวปราศรัย เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2553 ทำนองว่า นายอภิสิทธิ์จะขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ต้องถูกดำเนินคดีหนีทหาร ใช้เอกสารเท็จสมัครเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร.นั้นเมื่อบุคคลทั่วไปรับฟังย่อมเข้าใจและรู้สึกว่าโจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลีกเลี่ยงและจงใจหนีการเกณฑ์ทหาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของชายไทยทุกคน โจทก์จึงไม่มีความน่าเชื่อถือศรัทธาไม่มีความเหมาะสมสง่างามที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยจำเลยย่อมตระหนักดีอยู่แล้วว่า การกล่าวปราศรัยนั้นจะกระทบชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ ข้อความที่จำเลยกล่าวจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์
แต่มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าการกระทำดังกล่าว จำเลยได้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมตามวิสัยของประชาชนที่จะกระทำได้หรือไม่เห็นว่า ตามที่โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายความจำเลย ฟังได้เพียงว่า โจทก์เป็นนักศึกษาในความดูแลของ ก.พ. โดย ก.พ. เป็นผู้ดำเนินการผ่อนผันให้โจทก์โดยมีแบบหนังสือผ่อนผันการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร (สด.41) แต่โจทก์ไม่มีหนังสือผ่อนผันดังกล่าวมาแสดงประกอบ
ส่วนที่โจทก์ตอบคำถามค้านอีกว่าโจทก์เคยแสดงเอกสารเกี่ยวกับการผ่อนผันเป็นบัญชีรายชื่อนักเรียนที่ไปศึกษาต่างประเทศซึ่งได้ยกเว้นหรือผ่อนผัน (สด.20) ต่อประธานรัฐสภา เมื่อพิจารณาเอกสารดังกล่าวพบว่ามีชื่อโจทก์อยู่ลำดับที่ 3 ระบุว่าได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผันเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2529 เพื่อไปศึกษายังประเทศอังกฤษระหว่างปี 2530-32 แต่เอกสารดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือผ่อนผันการตรวจฯที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะหนังสือผ่อนผันฯที่ถูกต้องจะต้องเป็น สด.41 ที่ลงนามโดย รมว.มหาดไทย หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนั้นในส่วนที่โจทก์ไม่ไปตรวจเลือกเข้ารับเกณฑ์ทหารโดยอ้างว่าได้รับการผ่อนผันจึงยังมีข้อพิรุธน่าสงสัยพอสมควร ส่วนที่โจทก์สมัครเข้าเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. โจทก์เบิกความว่าไม่เคยใช้เอกสารเท็จในการสมัครเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นการเบิกความลอยๆ ไม่มีเอกสารพยานหลักฐานใดมาสนับสนุน
ซึ่งขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นบุคคลสาธารณะย่อมตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ความประพฤติรวมถึงประวัติชีวิตความเป็นมาตามสมควรเพราะเป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความสนใจ ส่วนจำเลยเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน จึงเป็นปกติที่จำเลยจะต้องตรวจสอบเรื่องราวฝ่ายรัฐบาลและตัวโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิจะตรวจสอบแสดงความเห็นโดยสุจริต เพราะหากเป็นไปตามที่จำเลยปราศรัยย่อมแสดงว่าโจทก์จงใจประพฤติตนฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งจะขาดคุณสมบัติเป็น ส.ส. และนายกรัฐมนตรีได้ จำเลยซึ่งมีสิทธิวิจารณ์เรื่องของโจทก์ได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จำเลยสร้างขึ้นมาเอง โดยจำเลยได้ตั้งคำถามต่อโจทก์ก่อนจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่โจทก์กลับไม่ได้ชี้แจง จึงแสดงให้เห็นเจตนาจำเลยชัดเจนว่าจะตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว แม้โจทก์อาจจะได้รับการผ่อนผันการเกณฑ์ทหารและไม่ได้ใช้เอกสารเท็จใดๆ ในการสมัครเข้าเป็นอาจารย์ แต่เอกสารที่เกี่ยวข้องมีพิรุธน่าสงสัยหลายประการและยังไม่ปรากฏว่าเอกสารที่จำเลยนำมาอ้างนั้นโจทก์ได้โต้แย้งว่าเป็นเอกสารปลอมหรือเท็จ พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาจึงมีเหตุตามสมควรที่ทำให้จำเลยมีความสงสัยและเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่จำเลยปราศรัย การกระทำนั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตาม ป.อาญา ม.329 (1) (3)
ส่วนที่จำเลยกล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2553 ทำนองว่าโจทก์เป็นประธานนั่งประชุมวางแผนล้อมปราบประชาชน วางแผนสั่งปราบปรามประชาชนนั้นเห็นว่า การกล่าวปราศรัยดังกล่าวทำให้คนเสื้อแดงอาจมีความคิดคล้อยตามไปได้ว่าโจทก์กระทำการดังกล่าวจริงซึ่งจะทำให้บุคคลทั่วไปรู้สึกว่าโจทก์จิตใจโหดเหี้ยม อำมหิต เจ้าเล่ห์เพทุบายจนรู้สึกเกลียดชังโจทก์ ขณะที่จำเลยนำสืบกล่าวอ้างเพียงลอยๆ ไม่มีหลักฐานใดมาสนับสนุนว่าโจทก์กับพวกรวมประชุมวางแผนปราบปรามประชาชน ซึ่งแม้โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การกล่าวถ้อยคำของจำเลยเป็นการกล่าวยืนยันข้อเท็จจริงโดยไม่มีมูลความจริงใดๆ และเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกล่าวหาและใส่ร้ายโจทก์ จึงไม่เป็นการกระทำโดยสุจริตหรือติชมด้วยความเป็นธรรม แต่เป็นการปราศรัยเพื่อยั่วยุปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อก่อให้เกิดความเกลียดชังในตัวโจทก์ ซึ่งจำเลยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่จำเลยปราศรัยเป็นความจริง จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง
พิพากษาว่า ให้จำคุกจำเลย 6 เดือนและปรับ 50,000 บาท ตาม ม.328 แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยรับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้จำเลยโฆษณาลงคำพิพากษาใน นสพ.มติชนและเดลินิวส์เป็นเวลา 7 วัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ภายหลัง นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความนายอภิสิทธิ์ โจทก์ กล่าวว่า กรณีที่นายจตุพร กล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์ หนีทหารนั้น มีความชัดเจนว่าในคำพิพากษาของศาลที่ไม่ได้ระบุว่านายอภิสิทธิ์หนีทหาร หรือใช้เอกสารปลอมหรือเอกสารเท็จ เพียงแต่ระบุว่าเอกสารบางส่วนนั้นมีข้อพิรุธ ซึ่งตนเตรียมหารือกับนายอภิสิทธิ์ เพื่อยื่นอุทธรณ์ประเด็นนี้แน่นอน และหากจะมีผู้ใดนำคำพิพากษาในส่วนนี้ไปใช้ในประเด็นการเมืองก็ขอย้ำว่า คดีนี้ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด ส่วนกรณีที่นายจตุพรได้กล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์ วางแผนสั่งฆ่าประชาชนนั้นก็ชัดเจนว่าในคำพิพากษาระบุว่าการพูดลักษณะดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการปลุกปั่น ยุยง ซึ่งคำกล่าวหาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ศาลจึงได้พิพากษาจำคุกนายจตุพร
ด้านนายจตุพร แกนนำ นปช. กล่าวว่า จากกรณีที่ศาลมีคำพิพากษามานี้ หลังจากนี้จะระวังถ้อยคำและการปราศรัย
เมื่อถามถึงกรณีนายเทพพนม นามลี ประธานคณะกรรมการแนวร่วมประชาธิปไตย หรือแดงสุรินทร์ ยื่นเรื่องให้นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบคุณสมบัติของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รมว.มหาดไทย หลังจากคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนกระทรวงมหาดไทย (อ.ก.พ.) มีมติไล่ออกกรณีทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ขณะดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่นายยงยุทธ ยังไม่ยอมลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งกลุ่มแดงสุรินทร์ เกรงว่าหากนายยงยุทธ ยังทำกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ในฐานะหัวหน้าพรรค อาจมีคนนำผลการชี้มูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาร้องต่อ กกต. เพื่อให้ยุบพรรคเพื่อไทยนั้น
นายจตุพร กล่าวว่า ส่วนตัวไม่รู้จักกับนายเทพพนมแต่อย่างใด อีกทั้งนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ในฐานะประธาน นปช. ก็ไม่เคยแต่งตั้งให้มีแกนนำแดงสุรินทร์ ตามที่นายเทพพนม กล่าวอ้าง จึงไม่ทราบว่าการออกมาเรียกร้องดังกล่าวนั้นมีจุดประสงค์เพื่ออะไร พร้อมยืนยันว่า นายยงยุทธ สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ดี และทำประโยชน์ให้กับพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด
ขณะที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความนายจตุพร จำเลย กล่าวว่า จะยื่นอุทธรณ์คดีในส่วนที่ศาลพิพากษาจำเลยกระทำผิดหมิ่นนายอภิสิทธิ์ สำหรับประเด็นการหนีทหารหากจะมีการนำประเด็นนี้ไปตรวจสอบอีกครั้งในส่วนคำพิพากษาคดีนี้อาจจะเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการพิจารณาแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการตรวจสอบการเกณฑ์ทหารของกระทรวงกลาโหมจะพิจารณาจากเอกสารที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ ในการรับเลือกและการผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร