นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ให้ความเห็นเมื่อวันที่ 19 กันยายน ถึงกรณีคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แถลงรายงาน ฉบับสมบูรณ์ ที่ตรวจสอบและค้นหาความจริงเหตุการณ์ช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา มีสาระสำคัญดังนี้
เข้าใจว่า คอป. ต้องการตอบโจทย์ 4 โจทย์
โจทย์แรกคือเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น เกิดจากฝ่ายไหนบ้าง ซึ่งเขาตอบ 2 โจทย์ คือทั้งสองฝ่ายที่นำไปสู่ความรุนแรง ก็คือการชุมนุมที่เขาเรียกว่ามีชายชุดดำหรือกลุ่มคนใช้อาวุธประกอบอยู่ แล้วเขาก็ตอบโจทย์นี้ อันที่สองเขาถามว่าแล้วกองทัพใช้กำลังเกินสมควรกว่าเหตุหรือไม่ ในการจัดการกับการชุมนุม เขาก็ตอบว่าใช้เกินสมควร ตอบสองโจทย์นี้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้ง 2 ฝ่ายมีส่วนร่วม ซึ่งแต่เดิมโจทย์สองโจทย์นี้ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างกล่าวอ้างว่าตัวเองถูก อีกฝ่ายหนึ่งผิด คำถามต่อมาคือ ทั้ง 2 ฝ่าย เชื่อที่ คอป. พูดหรือเปล่าก็เป็นเหตุผลอีกชุดหนึ่ง อย่างที่บอกว่าความจริงมันมีหลายชุด แต่ละฝ่ายก็มีชุดความจริงเป็นของตัวเอง แต่ว่า คอป. พยายามจะพิสูจน์ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมาว่ามีความจริงอีกชุดหนึ่งซึ่งแตกต่างจาก 2 ฝ่ายนี้ที่เชื่อ ดังนั้นใครก็ตามที่อยากรู้ว่ามันคืออะไรกันแน่ต้องไปอ่าน 2 โจทย์นี้ให้มันชัด อันนี้คือประเด็นที่หนึ่ง
ประเด็นที่สอง ในรายงานได้พูดถึงรากเหง้าของความขัดแย้ง ว่าทำไมถึงเกิดความรุนแรงขึ้น ส่วนนี้มีคนศึกษาน้อยมาก อ่านน้อยมาก เขาพูดตั้งแต่โครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การเข้าไม่ถึงอำนาจ การแบ่งปันทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม โครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจ เขาพูดไว้หมดเลยในเรื่องโครงสร้างทางสังคม อันนี้หมายถึงการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคต ซึ่งตรงนี้มีคนดูน้อย
ประเด็นที่สาม เขามีข้อเสนอแนะเฉพาะหน้าและในระยะยาว เช่น ข้อเสนอแนะเฉพาะหน้าในเหตุการณ์ คือ เอาความจริงมา แต่ว่าความจริงบางส่วนต้องเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งเขาก็นำความจริงมาพิสูจน์ มายืนยัน ต่อไปต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม หมายความว่าทุกฝ่ายต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ใครที่ถูกล่าวหาหรือที่เชื่อว่ามีส่วนให้เกิดความรุนแรง ถึงขั้นชีวิตและทรัพย์สิน ของผู้คน ซึ่งเป็นความผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลังจากเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ท่านจะเยียวยาก็ต้องว่ากันทีหลังว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร หรือจะนิรโทษกรรมต้องว่ากันภายหลัง
ประเด็นสุดท้ายคือข้อเสนอเรื่อง การเยียวยา พูดชัดเจนทั้งเยียวยาเฉพาะหน้าและเยียวยาระยะยาว เช่น ข้อเสนอในระยะยาว ต้องปรับโครงสร้างของทหารและการปรับกฎหมายเกี่ยวกับมาตรา 112 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ทำให้เกิดความขัดแย้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีจุดมุ่งหมายที่นำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งเขาต้องตอบโจทย์ตรงนี้
รายงานชุดนี้คือความจริงชุดหนึ่ง แน่นอน ว่าเขามีความจริงอีกชุดหนึ่งที่เขาต้องการอธิบายว่าเหตุแห่งความรุนแรงทั้ง 2 ฝ่าย น่าจะมีส่วนจริงอยู่ในข้อเสนอนี้ แต่ว่าจะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้ยาก ดังนั้น ต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่นิรโทษกรรมก่อนที่จะพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม
อีกข้อหนึ่ง ที่สำคัญมากในข้อเสนอของ คอป. คือ การใช้สื่อ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง 8 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เฉพาะในเหตุการณ์ปี 2553 ตั้งแต่ปี 2547-2548 เป็นต้นมา สื่อได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ สื่อโซเชียลมีเดีย จะเห็นได้ว่าสื่อถูกนำไปใช้ผลิตความเกลียดชัง ความโกรธแค้น ตรงนี้จะสร้างความรุนแรง สร้างการเผชิญหน้าต่อไปในอนาคต
ข้อนี้สังคมจะต้องตระหนัก เพราะบางคนเลือกเชื่อสื่ออันใดอันหนึ่งที่ตัวเองอยากเชื่อ สื่อจะต้องรับผิดชอบต่อสังคม จะต้องไม่เป็นสื่อที่ผลิตความเกลียดชัง ผลิตความโกรธ ผลิตการเลือกปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความรุนแรง
ถ้ากลไก สื่อทำหน้าที่เหล่านี้อยู่ก็มีโอกาสที่จะนำไปสู่ความเข้าใจเรื่องราวตรงกันบ้าง ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่จำเป็นจะต้องเห็นตรงกันทั้งหมด แต่อย่างน้อยสิ่งที่ คอป. เสนอมาก็ควรนำไปทบทวนดู ว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อมันควรจะถูกทบทวนบ้างหรือเปล่า แต่ตอนนี้เท่าที่ดูปฏิกิริยาทั้ง 2 ฝ่ายยังคงยืนยันความจริงของตัวเอง
ถ้าอ่านรายงานโดยลดอคติบางอย่างไป ผมคิดว่ามันจะทำให้เราเข้าใจเรื่องราวได้มากขึ้น คือ อธิบายโดยไม่ได้เข้าข้างใดข้างหนึ่ง เขาแค่อธิบายความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่าเกิดเหตุอะไรบ้าง และเกิดจากฝ่ายไหน และไม่ได้ระบุตัวบุคคลชัดๆ ลงไป เพราะเป็นการตรวจสอบเหตุการณ์ ไม่ใช่ตรวจสอบความผิด แบบต้องเอาขึ้นศาลแน่นอน
ในระยะแรก ทุกฝ่ายอาจจะรู้สึกผิดหวัง เพราะว่า คอป. ไม่ได้นำเสนอเข้าข้างตัวเอง อย่างกรณีไต่สวนคดีพัน คำกอง คือการไต่สวนเบื้องต้นของการตาย หลังจากนี้ต้องดำเนินคดีต่อ เพราะทุกคดีที่ตายระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ เกิดจากอะไร เพราะฉะนั้นหลังจากเอาคนที่ทำให้ตาย มาฟ้องต่อ เดินหน้าต่อในทางคดี ต้องพิสูจน์ต่อกันในศาลมันยังไม่จบ แค่จุดเริ่มต้น ในขั้นตอนนี้คนที่เสียชีวิตทั้งหมด ต้องถูกไต่สวนการตายหมด รวมถึง พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ด้วย ว่าใครทำให้ตาย
หลังจากนั้นจึงนำไปสู่การ ฟ้องร้องต่อไปว่าตกลงจะเป็นอย่างไร ศาลต้องพิสูจน์หลังจากนี้ว่าใครเป็นคนยิงกันแน่ อันนี้เป็นขั้นต้นเท่านั้น แต่คนมองตรงนี้ว่าเป็นการตัดสิน ยังไม่ใช่ ยังไม่ยุติ ตอนนี้มีคดีไต่สวนอยู่หลายคดี ต้องเดินหน้าไปทั้งหมด
ที่สำคัญทุก คดีอย่าเลือกปฏิบัติว่าเอาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมาก่อน อันนี้จะเป็นการปฏิบัติที่ตรงไปตรงมา โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา จึงจะทำให้การสร้างความปรองดองทั้งสังคมเกิดขึ้น เพราะว่าการไต่สวนในส่วนของการตายเป็นจุดเริ่มต้นของการให้ความเป็นธรรมกับ คนที่เสียชีวิตว่าตกลงใครทำให้เขาเสียชีวิต
หลังจากนั้นจึงนำไปสู่ การลงโทษอันนี้เป็นหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สุด ซึ่งสังคมไทยเดินหน้าเรื่องนี้น้อย เดินช้าด้วย 2 ปีมาแล้วทำไมไม่ไต่สวนการตาย ทำไมดีเอสไอถึงไม่ตอบคำถามนี้ หรือว่าทำไมกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น ตำรวจกับอัยการจึงชักช้าอยู่ตรงนี้ตั้งนานแล้ว ความยุติธรรมที่จะให้กับคนตายทำไมไม่คิดถึง
สถานการณ์สิทธิมนุษยชน ในประเทศไทยโดยรวมยังไม่กระเตื้องขึ้น ถ้าพูดถึงสิทธิมนุษยชนในเชิงโครงสร้างยังมีปัญหาอย่างมากมาย เช่น โครงสร้างในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม ยังมีปัญหา หรือจะสิทธิทางการเมืองในภาคใต้ ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังกันและกัน และนำไปสู่ความรุนแรง อันนี้เป็นสถานการณ์ทางด้านสิทธิมนุษยชนใหม่ที่เราเผชิญมาท่ามกลางความขัด แย้งที่ผ่านมา
แม้วันนี้ที่สุดของความเกลียดชังโกรธแค้นก็คือ ไปทำลายความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายหนึ่ง การไม่เชื่อคุณค่าความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายหนึ่ง เห็นว่ามนุษย์อีกฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรู ตรงนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะเป็นตัวบ่มเพาะความรุนแรงที่จะตามมาก็คือทำลายมนุษย์คนอื่นที่เห็นว่า เป็นศัตรู เป็นฝ่ายตรงข้ามได้ทันที โดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อน
ความรุนแรงแบบนี้ที่ผ่านมา อาจจะอยู่ในรัฐ แต่ตอนนี้ขยายความรุนแรงไปสู่สังคมอย่างกว้างขวาง จากความขัดแย้งในเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ยังดำรงอยู่ อันนี้คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างที่สุด คงต้องใช้เวลาอีกยาวมาก
การหาความจริงมีองค์กรหลายๆ องค์กรที่ตั้งกันขึ้นมา
ศูนย์ ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) เป็นการให้ข้อมูลที่ดีมาก สำหรับคนที่เสียชีวิต หรือคนที่กำลังถูกดำเนินคดี ซึ่งข้อมูลเขาชัดเจน ผมคิดว่าเป็นข้อมูลที่ดีมาก เป็นประโยชน์ของสังคม
ประเมินคุณค่าระหว่าง ศปช. กับ คอป.
ให้ คุณค่ากันคนละแบบ ของ ศปช. เป็นข้อมูลทางด้านนั้นที่ชัดเจน อย่างที่ผมบอกตอนแรก คอป. เขามีสมมติฐาน ซึ่งเขาทำออกมาเพื่อตอบโจทย์ของเขา แต่ ศปช. แค่ตอบโจทย์ว่าใครถูกทำให้ตายที่ไหน ผลกระทบเป็นอย่างไร เขาตอบโจทย์นี้ ซึ่งคนละโจทย์กัน เพราะฉะนั้นทั้ง 2 ฝ่ายก็มีความจริงคนละชุด ซึ่งควรนำมาประกอบกัน
กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้การดูข้อมูลหลายๆ ด้านมาถ่วงดุลกัน
จะให้ฝ่ายที่ขัดแย้งกันมารับว่าตัวเองสร้างความรุนแรง เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ผมไม่เชื่อว่าคนที่สร้างความรุนแรงเขาจะยอมรับ เพราะถ้าเขายอมรับ อันนั้นจะนำไปสู่การอภัยกันได้ แล้วมันจะปรองดองกันได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครยอมรับว่าตัวเองใช้ความรุนแรง มีแต่คิดว่าตัวเองชอบธรรม
ก็คิดว่าตัวเองถูกต้อง ไม่เห็นต้องอภัยให้กันรอให้อีกฝ่ายอภัยอย่างเดียว ผมเข้าใจว่าข้อมูลที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้มาต้องมาดูกันอย่างละเอียดอีกที เราในฐานะมนุษย์ต้องใช้มโนธรรม คือใช้ความเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ ถอดหมวกเรื่องจุดยืนทางการเมือง และดูข้อเท็จจริง ผมคิดว่าจะทำให้เรามีสติปัญญา มีวุฒิภาวะ สังคมไทยจะต้องนำงานทุกชิ้นมาทำให้เกิดสติปัญญา แล้วรู้จักผิดชอบชั่วดี อันนี้ผมคิดว่าเป็นประเด็น
แนวโน้มที่จะคลี่คลายไปในทางที่ดี
ถ้าไม่เร่งสถานการณ์ ไม่ไปจุดชนวน น่าจะคลี่คลายได้ ปรากฏการณ์ด้านบวกก็มีอยู่ อย่างข้อเสนอของ ศปช. หรือ คอป. ผมคิดว่ามีทั้งคนที่ปฏิเสธและยอมรับ แต่ไม่ได้ถือว่าไม่เอาเลยก็ยังไม่มี เห็นสถานการณ์เหล่านี้อยู่ในสังคมมีด้านที่จะต้องเดินหน้า ด้านที่ต้องกลับมาพิจารณาร่วมกัน ยังเห็นอยู่ เพียงแต่ว่าเรื่องที่ไม่ควรเร่ง เช่นนิรโทษกรรม ผมคิดว่ากฎหมายปรองดองที่พูดถึงเป็นตัวเร่ง คนที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อสังคมทุกฝ่ายควรตั้งสติให้มากหน่อย เพราะผลเสียหายไม่ได้เกิดกับคนรุ่นเรา แต่เกิดกับสังคมไทยทุกรุ่นที่จะตามมา