นาย ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม กบอ. ถึงสถานการณ์น้ำล่าสุด ว่า มีการก่อตัวของไต้ฝุ่นที่ประเทศฟิลิปปินส์ และมีร่องความกดอากาศต่ำที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมา พาดผ่านตอนกลางของประเทศไทย ขณะที่ระดับน้ำในลำน้ำหลักของประเทศไม่มีที่ใดที่มีน้ำล้น ซึ่งสังเกตได้จาก จ.นครสวรรค์ และพระนครศรีอยุธยา ส่วนพื้นที่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ต่ำมาก จึงมีน้ำท่วมเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งประชาชนในพื้นที่เตรียมการโดยมีการเก็บเกี่ยวพืชผลไปล่วงหน้าแล้ว
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เราทำงานเชิงรุกในการช่วยเหลือประชาชน ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย, กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จะมีการประชุมร่วมกันที่ตึก สบอช. ในวันที่ 12 ก.ย. เวลา 13.00 น. เพื่อกำหนดจุดเสี่ยงเกิดอุทกภัย และจากนี้ไปเป็นเวลา 1 เดือนครึ่ง ปภ. และจังหวัดต้องตั้งศูนย์สั่งการล่วงหน้าในจุดที่มีความเสี่ยงก่อนจะเกิด เหตุขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งกำลังคนและเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ และเมื่อเกิดเหตุแล้วก็สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที
นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า พื้นที่กลางน้ำไม่มีปัญหาใดๆ และตอนนี้ใช้ลำน้ำหลักในการระบายน้ำเท่านั้น จึงยังไม่มีการปล่อยน้ำเข้าไปในทุ่งรับน้ำ ซึ่งต้องพิจารณาจากปริมาณน้ำเต็มลำน้ำสายต่างๆ ปริมาณน้ำท่วมภาคกลางตอนล่าง และปริมาณน้ำทะเลที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับสาเหตุที่มีน้ำท่วมในตอนนี้ เพราะมีฝนตก น้ำท่วมขัง และอาจมีน้ำป่าหลากเพื่อลงลำน้ำ แต่ยืนยันว่าตอนนี้ไม่มีน้ำล้นในแม่น้ำสายใด ยกเว้นที่ อ.บางบาล ซึ่งเป็นที่ต่ำกว่าลำน้ำ ส่วนกรณีน้ำท่วมเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย
โดยนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรองอธิบดีกรมชลประทาน อยู่ที่นั่นเพื่อตรวจสอบและควบคุมการซ่อมแซมพนังกั้นน้ำของเทศบาลฯที่พัง จากกระแสน้ำ โดยพยายามกู้สถานการณ์ให้ได้ภายในวันนี้ ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์น้ำขณะนี้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล และกำลังเข้าสู่การเตรียมการป้องกันอุทกภัยอย่างเต็มรูปแบบ โดยให้เจ้าหน้าที่หรือผู้แทนกระทรวงที่มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการน้ำเข้า มาประจำการที่ สบอช. จนกว่าปริมาณน้ำทั้งหมดในปีนี้จะหมดไป