ข่าวสด 10 กันยายน 2555 >>>
วันที่ 9 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าคดีการเสียชีวิตของประชาชน และ เจ้าหน้าที่ จำนวน 98 ศพ และบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ว่า ในช่วงนี้ทางพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ครั้งนั้นมาให้ข้อมูล ล้วนเป็นกลุ่มบุคคลที่เคยร่วมเป็นคณะกรรมการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่มีนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นผอ.ศอฉ.ในขณะนั้น โดยบุคคลที่ดีเอสไอเรียกมาสอบปากคำไปแล้ว ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ, นาย สุเทพ, พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก และอดีตโฆษก ศอฉ. รวมทั้ง พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีต ส.ว. ที่เป็นตัวแทนเข้าไปเจรจากับแกนนำเสื้อแดง
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับบุคคลต่อไปที่ดีเอสไอส่งหนังสือเชิญมาให้ปากคำภายในเดือน ก.ย. นี้ ประกอบด้วย นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะเลขานุการศอฉ. นัดสอบปากคําวันที่ 12 ก.ย. และ นายปณิธาน วัฒนายากร อดีตโฆษกประจำสำนักนายกฯ นัดวันที่ 24 ก.ย. หลังจากนั้นดีเอสไอจะออกหมายนัดนายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นบุคคลที่นําข้อมูลผลการเจรจาของ พล.อ.เลิศรัตน์ ไปเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ โดยพนักงานสอบสวนต้องการทราบว่า หลังจากรายงานให้รัฐบาลขณะนั้นทราบแล้ว ทําไมยังเกิดเหตุกระชับพื้นที่ขึ้นอีกในวันที่ 19 พ.ค. จนทําให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจํานวนมาก รวมทั้งเตรียมสอบนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะกรรมการ ศอฉ. ด้วย แต่ยังไม่ได้กำหนดวันที่แน่ชัด
ส่วนกรณีที่ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หนึ่งในแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่าได้รับเอกสาร เป็นหนังสือคำสั่ง ศอฉ. ที่ 9/2553 ลงนามโดยนายสุเทพ ผอ.ศอฉ. เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2553 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแต่งตั้งพลซุ่มยิง 39 นาย ให้ออกปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่มีการชุมนุมปี 2553 และเตรียมนำเอกสารหลักฐานนี้ไปมอบให้ดีเอสไอ ในวันที่ 10 ก.ย. เพื่อให้ตรวจสอบว่า พลซุ่มยิง 39 นาย ที่ได้รับการแต่งตั้งจากศอฉ. ออกไปปฏิบัติการจุดใดบ้าง และใช้อาวุธปืนชนิดใดนั้น จากการตรวจสอบล่าสุดเกี่ยวหนังสือคำสั่งดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้
ตามที่ ผอ. ศอฉ. ได้อนุมัติโครงสร้างการจัดการอำนาจหน้าที่ ศอฉ. เพื่อแก้ไขสถาน การณ์ฉุกเฉินที่มีความรุนแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร, จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ (อ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางพลี อ.พระประ แดง อ.พระสมุทรเจดีย์ อ.บางบ่อ และ อ.บางเสาธง) จ.ปทุมธานี (อ.ธัญบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว อ.สามโคก อ.ลำลูกกา และ อ.คลองหลวง) จ.นครปฐม ( อ.พุทธมณฑล) และ จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.วังน้อย อ.บาง ไทร อ.บางปะอิน และ อ.ลาดบัวหลวง) แล้วนั้น
เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจของ ศอฉ. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์ จึงอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมโครงสร้างการจัดของ ศอฉ. ตามคำสั่ง ศอฉ.ที่ 9/2553 ลงวันที่ 7 เม.ย.2553 ดังนี้
1. กำลังตำรวจเดิมเป็นหน่วยขั้นควบคุมทางยุทธการกับกองกำลังรักษาความสงบเรียบ ร้อยให้เปลี่ยนชื่อนามหน่วยเป็น กองกำลังตำรวจ และเป็นหน่วยขึ้นตรงกับ ศอฉ. โดยกำหนดให้ ผบ.ตร./ ผู้ช่วย ผอ.ศอฉ. (6) เป็นผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจ
2. ให้เพิ่มเติมการจัดหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษ (ฉก.ปพ) เป็นหน่วยขึ้นตรงของ ศอฉ. ดังนี้
2.1 โครงสร้างการจัดของ ฉก.ปพ ประกอบด้วย 4 ส่วนงานหลัก ประกอบด้วย
2.1.1 ส่วนบังคับบัญชา
2.1.2 ส่วนอำนวยการ
2.1.3 ส่วนปฏิบัติการประกอบด้วย 4 ส่วนงานย่อย ดังนี้
หน่วยปฏิบัติการพิเศษกองทัพบก (นปพ.ทบ.) หน่วยปฏิบัติการพิเศษกองทัพเรือ (นปพ.ทร.) หน่วยปฏิบัติการพิเศษกองทัพอากาศ (นปพ.ทอ.) หน่วยปฏิบัติการพิเศษตำรวจ (นปพ.ตร.) โดยหน้าที่ความรับผิดชอบของ ฉก.ปพ. คือ ปฏิบัติการพิเศษ เพื่อบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่รับผิดชอบของ ศอฉ. และให้เป็นไปตามประกาศ ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ศอฉ.ได้ประกาศไว้ และปฏิบัติการอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจาก หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า จากคำสั่งข้างต้นดังกล่าว นำมาสู่การแต่งตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ จำนวน 39 นาย แบ่งเป็นส่วนบังคับบัญชา ส่วนปฏิบัติการ มีจำนวน 9 นาย และหน่วยปฏิบัติการชุดที่ 1-5 มีจำนวน 30 นาย แบ่งย่อยเป็นชุดละ 6 นาย โดยในแต่ละชุดมีเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรเป็นหัวหน้าชุด และชั้นประทวน 5 นายมีตำแหน่งเป็นพลยิง