มติชน 4 กันยายน 2555 >>>
ไต่สวนยิงเสื้อแดงใต้ทางด่วน
วันเดียวกัน ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง ศาลนัดไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ยื่นคำร้องขอศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตนายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล อายุ 25 ปี อาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณใต้ทางด่วนถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จ การแห่งชาติ (นปช.) โดยพนักงานอัยการนำ นางอรณี ฉัตร์วีระสกุล ญาติผู้ตาย เบิกความสรุปว่า วันเกิดเหตุทราบว่า หลานชายขับรถไปส่งผู้ชุมนุมบริเวณใต้ทางด่วนสะพานพระราม 4 ขณะนั้นมีเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่ม ผู้ชุมนุม เป็นเหตุให้นายเกียรติคุณถูกยิงเสียชีวิต
จากนั้นพนักงานอัยการและ ทนายความของญาติผู้ตาย แถลงขอให้ศาลรวมไต่สวนการเสียชีวิตของนายเกียรติคุณเข้ากับคดีที่พนักงาน อัยการยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตนายประจวบ ประจวบสุข อายุ 42 ปี แนวร่วม นปช.ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณใต้ทางด่วนพระราม 4 เนื่องจากถูกยิงเสียชีวิตในวันเดียวกัน เวลาใกล้เคียงกัน สถานที่เดียวกัน และพยานหลักฐานชุดเดียวกัน ซึ่งศาลอนุญาตและนัดคู่ความเพื่อบริหารคดีในวันที่ 19 กันยายน เวลา 09.00 น.
ดีเอสไอส่งอีก 2 สำนวนให้ บช.น.
ที่กองบัญชาการตำรวจ นครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. ดูแลงานกฎหมายและสอบสวน กล่าวถึงความคืบหน้าคดีชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งมาให้ บช.น. ทำสำนวนชันสูตรว่า พนักงานสอบสวน บช.น. ทำเสร็จสิ้นแล้ว 20 สำนวน และส่งให้อัยการพิจารณาเพื่อให้ศาลไต่สวนเรียบร้อยแล้ว เหลืออีก 3 สำนวนที่กำลังสอบสวนหาหลักฐานเพิ่มเติม เนื่องจากคดียังไม่ชัดเจนว่าการเสียชีวิตเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หรือ ไม่ ประกอบด้วยคดีของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก นายสยาม วัฒนนุกูล และนายจรูญ ฉายแม้น
พล.ต.ต. อนุชัย กล่าวอีกว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ดีเอสไอส่งสำนวนการเสียชีวิตให้ บช.น. ชันสูตรพลิกศพอีก 2 ราย คือนายพรสวรรค์ นาคะไชย และนายมานะ แสนประเสริฐศรี ส่วนกรณีดีเอสไอแถลงว่าส่งมามากกว่านี้นั้น คาดว่าคงทยอยส่งตามมาในไม่ช้า
′ธาริต′ แจงขั้นตอนคดี ′พัน คำกอง′
ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน แถลงความคืบหน้าคดีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน จำนวน 98 ศพ ในเหตุการณ์ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ว่า คณะพนักงานสอบสวนร่วมกันสอบสวนคดีการเสียชีวิตของพลเรือน ทหารตำรวจในเหตุการณ์ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ต่อมาสอบสวนพบว่ามีการตายที่น่าเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ 18 ศพ จึงได้ส่งผลการสอบสวนไปยัง บช.น. และทาง บช.น.ได้ร้องขอเพิ่มเติมอีก 9 ศพ รวมเป็น 27 ศพ แล้วต่อมาพนักงานงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนแล้ว 19 ศพ ยังเหลืออีก 8 ศพ อยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนต่อไป ซึ่งคดีแรกนายพัน คำกอง ศาลนัดอ่านคำสั่งในวันที่ 17 กันยายน 2555 สาระสำคัญที่ศาลจะสั่ง จะระบุว่าผู้ตายชื่ออะไร ตายที่ไหน สาเหตุอะไรทำให้ตาย และที่สำคัญคือใครทำให้ตาย
นายธาริตกล่าวต่อว่า หลังจากศาลมีคำสั่ง วันที่ 17 กันยายนแล้ว คำสั่งพร้อมสำนวนของศาลจะถูกส่งกลับมายังดีเอสไอ จากนั้นดีเอสไอจะนำมาประกอบสำนวนที่ทำไว้เดิม โดยจะรวบรวมเป็นสำนวนหลัก ซึ่งในสำนวนจะมีทั้งสำนวนฆาตกรรม ใครผิดใครถูก จะต้องฟ้องใคร หรือไม่ฟ้องใคร ดีเอสไอจะเดินหน้าทำคดีต่อไป
เล็งส่งสำนวนให้ บช.น. เพิ่มอีก
นาย ธาริต กล่าวต่อว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ตำรวจ และอัยการ มีมติให้ส่งคดีไปยัง บช.น. เพราะมีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มอีก 9 ศพ โดยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมาดีเอสไอส่งสำนวนไปยัง บช.น.แล้ว 3 ศพ และในสัปดาห์นี้จะส่งเพิ่มอีก 6 ศพ ดังนั้น พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ตำรวจ และอัยการ เห็นว่ามีพยานหลักฐานสมควรน่าเชื่อว่าการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ รัฐ ทั้งสิ้น 36 ศพ
นายธาริตกล่าวต่อว่า สำหรับ 9 ศพ ที่คณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นให้ส่งไปยัง บช.น. เพื่อส่งศาลไต่สวนการเสียชีวิต ประกอบด้วย
1. นายพรสวรรค์ นาคะไชย
2. นายมานะ แสนประเสริฐศรี เสียชีวิตวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลา 15.00 น. พบศพบริเวณปากซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4
3. จ.อ.พงศ์ชลิต พิทยานนทกาญจน์ เสียชีวิต วันที่ 17 พฤษภาคม 2553 เวลา 01.00 น. บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ สีลม
4. นายสมศักดิ์ ศิลารักษ์
5. นายปิยะพงษ์ กิตติวงศ์
6. นายประจวบ ศิลารักษ์ ทั้ง 3 ราย เสียชีวิตวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 เวลา 16.50-17.00 น. บริเวณสวนลุมพินี
7. นายนรินทร์ ศรีชมพู เสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลา 11.10 น. บริเวณสวนลุมพินี
8. นายถวิล คำมูล และ
9. ชายไทย ไม่ทราบชื่อ ทั้ง 2 รายเสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม เวลา 10.00 น. บริเวณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์