บทสรุปคดี "ชาญณรงค์" 1 ต.ค. ไต่สวนนัดสุดท้าย

มติชน 21 กันยายน 2555 >>>


ศาลอาญานัดไต่สวนชันสูตรการเสีย ชีวิต คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการชันสูตรศพ นายชาญณรงค์ พลศรีลา ผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ถูกยิงเสียชีวิต หน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ ซอยรางน้ำ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เป็นนัดสุดท้ายในวันที่ 1 ตุลาคม เวลา 09.00 น.
คดีนี้พนักงาน สอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) นำสำนวนการสอบสวนเสนอพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2554 ภายหลังพยานพนักงานอัยการพิจารณาแล้วได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาไต่สวนการ ชันสูตร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เพื่อทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย
ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2555 ศาลอาญานัดไต่สวนครั้งแรกในคดีนี้ โดยมีนางสุริยันต์ พลศรีลา ภรรยา และ น.ส.นิพาดา พลศรีลา บุตรสาว เดินทางมาร่วมไต่สวนและยื่นคำร้องขอเป็นผู้ร้องร่วม
ศาลอาญาพิจารณา เอกสารหลักฐานแล้วเห็นว่าทั้งสองเป็นภรรยาและผู้สืบสันดานของผู้ตายโดยชอบ ด้วยกฎหมายจึงอนุญาตให้เป็นผู้ร้องร่วมในคดี และให้มีสิทธิในการซักค้านพยานและนำพยานหลักฐานเข้านำสืบ โดยพนักงานอัยการขอนำพยานสำคัญซึ่งเป็นผู้เห็นเหตุการณ์เข้าสืบจำนวน 41 ปาก ใช้เวลานำสืบ 7 นัด ส่วนทนายความฝ่ายผู้ร้องร่วมขอนำพยานเข้านำสืบจำนวน 15 ปาก
ในการไต่สวนอัยการนำพยานที่สำคัญ อาทิ นายนิค นอสติทซ์ นักข่าวอิสระชาวเยอรมัน เป็นประจักษ์ เข้าเบิกความถึงวินาทีที่นายชาญณรงค์ถูกยิง พร้อมยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ลงมือยิง โดยวิถีกระสุนมาจากแนวบังเกอร์ทหารที่ตั้งอยู่บริเวณปากซอยถนนรางน้ำ นอกจากนี้ยังมีพลอากาศตรี นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม แพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพ เบิกความถึงบาดแผลว่า มีบาดแผลฉกรรจ์ 2 แห่ง คือ แผลจากการถูกกระสุนหัวหุ้มทองแดง เจาะเข้าบริเวณท้องขวาส่วนบน ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่ออวัยวะภายใน จนเป็นสาเหตุการเสียชีวิต
ขณะ ที่ พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ นาคามาตย์ สว.สส.สน.พญาไท (ขณะนั้น) เบิกความย้ำว่า หลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดย ศอฉ. ทหารได้วางกำลังตั้งศูนย์บัญชาการที่สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ มักกะสัน ตรงถนนราชปรารภ พร้อมกับวางรั้วลวดหนามตลอดแนวกั้นเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่แยก ราชประสงค์ โดยติดป้ายข้อความว่า "เขตการใช้กระสุนจริง" ทั้งที่ถนนราชปรารภ ตรงหน้าโรงแรมอินทรา และบริเวณซอยรางน้ำ รวมทั้งตำรวจก็ไม่สามารถเข้าพื้นตรวจที่เกิดเหตุได้ โดยช่วงการสืบสวนหาข่าวเห็นทหารพกอาวุธปืนเอ็ม 16 และทราโว่ ติดลำกล้องในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งพยานทั้ง 2 ปากดังกล่าว เบิกความลำดับถึงสถานที่เกิดเหตุ ผู้ที่ทำให้เสียชีวิต ทิศทางกระสุน บริเวณที่ทหารประจำการอยู่ซึ่งไม่มีผู้ใดเข้าได้ ชนิดของกระสุนปืน บาดแผลที่ทำให้เสียชีวิต ที่จะนำไปสู่การทำคำสั่งของศาลอาญาในคดีที่สองต่อไป