ทีมข่าว นปช.
18 สิงหาคม 2555
อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ และ พีระ ลิ้มเจริญ ร่วมออกรายการเหลียวหลังแลไปข้างหน้าเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2555
อ.ธิดา เห็นว่า การศึกษาไทยเน้นเรื่อง "เทคนิค" เช่น สอนอย่างไรให้เด็กเก่ง แต่กลับไม่ใส่ใจใน "รากเหง้าของความคิด" เพราะ ก.ศึกษาธิการ ถูกครอบงำด้วยความคิดแบบอนุรักษ์นิยม นอกจากนี้ยังกล่าวถึงข่าวก่อนหน้าที่ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ซึ่งอ้างว่า ตนเองเป็นคนเสื้อแดงได้กล่าวหาว่า ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็น ผอ.โรงเรียน นปช. ทั้งที่ความจริงเขาแค่เคยเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงเท่านั้น
มงคลกิตติ์เป็นเลขาธิการของภาคีเครื่อข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นแห่งชาติ (ภตช.) ซึ่งคล้ายกับงานของ วีระ สมความคิด ก่อนหน้านี้ คนพวกนี้มักคิดว่า นักการเมืองเป็นพวกคอรัปชั่นจึงพยายามที่จะจัดตั้งกลุ่มต่างๆเพื่อตรวจสอบการคอรัปชั่นของนักการเมือง กลุ่มคนประเภทนี้ไม่เคยอยู่ในสารบบของคนเสื้อแดง ASTV และฝ่ายตรงข้ามพยายามใส่ร้ายว่า โรงเรียน นปช. สอนหลักสูตรล้มเจ้า-คอมมิวนิสต์
โรงเรียน นปช. มีเป้าหมายสอนหลักสูตรการเมืองประชาธิปไตยให้กับคนรากหญ้า (ไพร่) ยกตัวอย่างความสำเร็จของโรงเรียนสาธิตที่อยู่ในระดับมาตรฐานโลก ขณะที่โรงเรียนภายใต้ ก.ศึกษาธิการ กลับล้าหลังอย่างมาก ทั้งนี้โรงเรียน นปช. ไม่ใช่โรงเรียนในระบบ หลักสูตรของโรงเรียน นปช. เป็นที่เปิดเผย มีการฝึกอบรม ทำเวิร์คช็อป สัมมนา โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความคิดทางการเมืองเพื่อให้การทำงานเป็นเอกภาพ
ความคิดทางการเมืองต้องนำหน้า "เทคนิคทางการศึกษา" หากความคิดทางการเมืองก้าวหน้าเทคนิคทางการศึกษาก็ก้าวหน้าตามไปด้วย แต่ถ้าความคิดทางการเมืองล้าหลังก็ไม่มีทางที่เทคนิคทางการศึกษาจะก้าวหน้าได้ ความคิดแบบ "จารีตนิยม" จะสอนให้คนต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ จึงเน้นการ "ท่องจำ" เป็นหลักซึ่งไม่เอื้อต่อการคิดแบบ "วิเคราะห์" เท่าที่ควร เพราะกลัวความคิดที่แตกต่าง
ตัวอย่างเช่นกรณี กาลิเลโอ กาลิเลอิ (นักดาราศาสตร์อิลาเลี่ยน) ถูกคุมขังจนตาบอด เพราะเห็นต่างจากศาสนจักรที่เชื่อว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และกรณี ชาลส์ ดาร์วิน (นักธรรมชาติวิทยาอังกฤษ) ที่เห็นว่า บรรพบุรุษของมนุษย์คือ "ลิง" ดังนั้นมนุษย์จึงไม่ได้ถูกสร้างมาจากพระเจ้า ต่อมาเมื่อโลกเข้าสู่ยุคทุนนิยม สู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงส่งผลให้การเมืองการปกครองต้องเปลี่ยนแปลงตาม
ประวัติศาสตร์ในปัจจุบันเป็นของ "ผู้ชนะ" ซึ่งผู้ชนะย่อมต้องเขียนให้ตนเองเป็นฝ่ายถูกต้อง จึงไม่มีพื้นที่ประวัติศาสตร์ให้กับผู้แพ้ ทั้งกรณีของสมเด็จพระเจ้าตากสิน, เหตุการณ์ 14 ต.ค. 16-6 ต.ค. 19 และความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านยังถูกปิดบังอยู่ ยกตัวอย่างกรณีของ "ย่าโม" ที่ในประวัติศาสตร์ไทยยกย่องให้เป็น "วีรสตรี" และมอง "เจ้าอนุวงศ์ (กษัตริย์ลาว)" เป็น "กบฎ" แต่ในประวัติศาสตร์ลาวกลับยกย่องให้เจ้าอนุวงศ์เป็น "วีรบุรุษ"
วิชาประวัติศาสตร์ไทยยังเป็นแบบอนุรักษ์นิยมที่ไม่ยอมรับความจริง ซึ่งต่างจากอังกฤษที่แม้ประวัติศาสตร์จะเป็นแบบอนุรักษ์นิยม แต่ก็ยังยอมรับความจริง ประชาชนจึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ สิ่งนี้เกิดจากในยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2500) ที่ระบบการศึกษาไทยปลูกฝังความคิดแบบอนุรักษ์นิยมเพื่อต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ เมื่อโลกเปลี่ยนไปเป็นระบอบทุนนิยม แต่การศึกษาไทยยังถูกครอบงำด้วยความคิดจารีตนิยมแบบเดิม การปฏิรูปการศึกษาไทยที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงการปรับพื้นที่ให้กับกลุ่มอำนาจใน ก.ศึกษาธิการ เท่านั้น
ในยุคที่ ปชป. ดูแล ก.ศึกษาธิการ มีครั้งหนึ่ง ปชป. เคยมีแนวคิดที่จะยกเลิกการอุดหนุนอาชีวะศึกษา ซึ่งจะทำให้อาชีวะต้องสูญหายไป ทั้งที่ภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) จำเป็นต้องใช้แรงงานฝีมือ จนทำให้ปัจจุบันเกิดการขาดแคลนแรงงานฝีมือจนต้องแย่งตัวกันตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ขณะที่เด็กไทยปัจจุบันสนใจแต่จะเรียนปริญญา แต่เมื่อจบการศึกษากลับหางานทำไม่ได้ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ปชป. ไม่มีวิสัยทัศน์ทางด้านการศึกษา
ปัจจุบันคุณภาพการศึกษาไทยเทียบกับต่างประเทศไม่ได้ ขาดแนวทางการผลิตบุคคลากรเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงขอถามกลับทั้ง ปชป. และสภาการศึกษาว่า จะมีวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร
(รับชมรายการย้อนหลัง: สถานี นปช.)