เส้นทางการเมือง ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เส้นทาง "ศาล"

มติชน 24 สิงหาคม 2555 >>>




การที่ศาลออกหมายเรียกตัว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไปให้ปากคำในการไต่สวนกรณีคนขับแท็กซี่เสียชีวิตในเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 มีความสำคัญ
เป็นความสำคัญในลักษณะประวัติศาสตร์ เหตุเพราะก่อนหน้านี้ไม่ว่าเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ก็ไม่เคยมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น
เหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 อาจไม่ทำให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องประสบเหมือนกับที่ จอมพลถนอม กิตติขจร ประสบ เหมือนกับที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ประสบคือ ต้องอำลาจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
แต่ก็ต้องยอมรับว่า จอมพลถนอม กิตติขจร ไม่เคยต้องขึ้นศาลจากเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็ไม่เคยต้องขึ้นศาลจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 แต่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องขึ้นศาล ต้องถูกเรียกตัวไปสอบปากคำครั้งแล้วครั้งเล่าเหมือนกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
กรณีการเสียชีวิตของแท็กซี่ในเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 อาจเป็นเพียงกรณีเดียว ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ขอเลื่อนการให้ปากคำให้ทอดยาวไปอีก 15 วัน ด้วยเหตุผลที่ต้องเตรียมความพร้อม
น่ายินดีที่ศาลก็อนุญาตให้เพราะเห็นใจและเข้าใจในความจำเป็นของทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
เมื่อไม่พร้อมก็รอได้ แม้ว่าการออกหมายเรียกไปให้ปากคำของทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกบุรรณ มิได้ไปในสถานะแห่งจำเลย เพราะเสมอเป็นเพียงการไต่สวนตามสำนวนสอบสวนของพนักงานสอบสวนแห่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล
แต่เชื่อได้เลยว่า นับจากนี้เป็นต้นไปทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกบุรรณ จะต้องใช้เวลากับการเดินทางไปศาลอย่างไม่ขาดสาย ลำพังมีคนตาย 98 ศพ ก็หนักหนาสาหัสอย่างยิ่งแล้ว
นี่คณะพนักงานสอบสวนอันประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เจ้าหน้าที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พนักงานอัยการ ยังขยายกรอบให้ผู้บาดเจ็บร่วม 2,000 มีสิทธิฟ้องได้ นั่นหมายถึงร่วม 2,000 คดี
ต้องยอมรับว่า ในประวัติศาสตร์ยุคใกล้มีการปราบปรามการชุมนุมของประชาชนอันนำไปสู่การตายและบาดเจ็บจำนวนมาก 4 หน
หนหนึ่ง เมื่อเดือนตุลาคม 2516 อันส่งผลให้ จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเดินทางไปต่างประเทศหนหนึ่ง เมื่อเดือนตุลาคม 2519
อันส่งผลให้คณะปฏิรูปการปกครองฉวยโอกาสก่อรัฐประหารโค่นรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หนหนึ่ง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535
อันส่งผลให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต้องลาออกจากตำแหน่งและมีการแต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เข้ามาดำรงตำแหน่งหนหนึ่ง เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553
แม้ว่าหลังการตาย 98 ศพ บาดเจ็บร่วม 2,000 คน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะยังอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ภายหลังการยุบสภาและมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคประชาธิปัตย์ก็พ่ายแพ้ยับเยิน และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็อยู่ในฐานะฝ่ายค้าน และต้องไปศาล
ผลจากการตายและบาดเจ็บของประชาชนอาจไม่มีผลสะเทือนในเดือนพฤษภาคม 2553 ทันที แต่ก็ต้องยอมรับว่าสถานะและการดำรงอยู่ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว อาจไม่ต้องลาออกเช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีรายอื่นๆ แต่ก็ต้องไปศาล