มติชน 23 สิงหาคม 2555 >>>
ภายหลังที่สมาชิกวุฒิสภาได้ลงคะแนนทางลับในการเลือกตั้ง "รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1" เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ผลคือ "นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย" ส.ว.สรรหา จากภาคเอกชน เบียดชนะ นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี ไปแบบหืดจับ 73-69 คะแนน เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 จาก ส.ว.สรรหา เข้ามาถ่วงดุลการทำงานวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา ในฐานะว่าที่ประธานวุฒิสภา และนางพรทิพย์ โล่ห์วีระ จันทร์รัตนปรีดา ส.ว.ชัยภูมิ ในฐานะรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ทำให้ภาพของการทำงานของประมุขสภาสูงมีทั้ง ส.ว.เลือกตั้ง และ ส.ว.สรรหา ไม่ได้ผูกขาดเฉพาะ ส.ว. สายใดสายหนึ่ง
ภารกิจต่อไปของวุฒิสภาที่่น่า จับตาดูหลังจากนี้ นั่นคือ การประชุมวุฒิสภาในวันที่ 27 สิงหาคม ในการพิจารณาเรื่องด่วนเพื่อดำเนินการถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังจากที่ ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนการสอบสวนกรณีการแทรกแซงข้าราชการประจำให้ไปช่วยราชการที่กระทรวงวัฒนธรรมจำนวน 19 คนมาให้วุฒิสภา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา
ในวันที่ 27 สิงหาคมจะเป็นวันแรกของกระบวนการพิจารณาถอดถอนตามรัฐธรรมนูญที่มีกำหนดเวลา ไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานจาก ป.ป.ช. และคาดว่า จะสามารถลงมติเพื่อถอดถอด "นายสุเทพ" ได้ภายในเดือนกันยายน โดยต้องใช้มติ 3 ใน 5 ของสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด 146 คน ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนี้ หรือประมาณ 90 เสียง
ที่ผ่านมาวุฒิสภาได้ดำเนินการกระบวนการถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว 3 ครั้ง คือ
1. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ในกรณีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551
2. นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในกรณีออกแถลงการณ์ร่วมการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ตามรัฐธรรม มาตรา 190 และ
3. นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีมีพฤติกรรมขัดต่อกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 11(3) เนื่องจากการทำหน้าที่ขาดความเที่ยงธรรมขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทำให้เสื่อมเสียต่อตำแหน่งหน้าที่
แม้การดำเนินการถอดถอนผู้ดำรง ตำแหน่งทางการเมืองทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา ส.ว. จะถูกมองว่าเป็นแค่ "เสือกระดาษ" เพราะไม่สามารถถอดถอนบุคคลใดได้เลย เนื่องจากเสียงในการถอดถอนของ ส.ว. มีไม่ถึง 3 ใน 5 ของ ส.ว. ที่มีสิทธิออกเสียง
สมชาติ พรรณพัฒน์ ส.ว.นครปฐม ให้ความเห็นว่า การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามข้อกฎหมายต้องใช้เสียงค่อนข้างมาก ที่ผ่านมาการถอดถอนก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ ส.ว. แต่ละคนว่าจะลงมติออกมาอย่างไร เพราะกระบวนการไต่สวนมีหลายขั้นตอน แต่ที่ผานมาข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นพอผ่านขั้นตอนตรวจสอบมักพบว่าความผิดไม่ชัดเจน และมักเป็นข้อกล่าวหาทางการเมือง จึงไม่ถึงขั้นที่จะต้องถูกถอดถอน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ส.ว. ทุกคนจะยึดบรรทัดฐานเรื่องความถูก-ผิดเป็นสำคัญ โดยปราศจากการเมืองเข้ามาครอบงำ
กรณีถอดถอน "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ในครั้งนี้ถือเป็นครั้ง 4 ของ ส.ว. ที่มีมาจากรัฐธรรมนูญ 2550 และเป็นครั้งแรกของ "ประมุขสภาสูง" ที่มาจาก ส.ว.เลือกตั้ง จึงเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ในการทำหน้าที่ที่สำคัญของสมาชิก "สภาสูง" ในการแสดงบทบาทถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยยึดหลักตามตัวบทกฎหมาย ตามข้อมูลข้อเท็จจริงและหลักฐานต่างๆ ประกอบการตัดสินใจภายใต้วิจารณญาณที่เป็นอิสระปราศจากการครอบงำจากฝ่ายต่างๆ ผลแห่งการถอดถอน "สุเทพ เทือกสุบรรณ" จึงน่าติดตามยิ่ง