คมชัดลึก 8 สิงหาคม 2555 >>>
เสวนาวันรพีดุนักวิชาการชี้สื่อเลือกข้างชัด แนะยึดจรรยาบรรณก่อนเสนอข่าวเป็นเกราะกันฟ้องร้อง ด้าน "ประสงค์" เผยสื่อควรทบทวนการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในการเสนอข่าว
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 ส.ค. ที่ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะนิติศาสตร์ได้จัดการเสวนาวิชาการวันรพี 2554 เรื่อง "สื่อไม่พอดี รัฐไม่พอใจ ทำอย่างไรจะไปด้วยกัน" โดยมีนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและอดีตบรรณาธิการอำนวยการนสพ.มติชนและประชาชาติธุรกิจ ผศ.ดร.จันจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ ผศ.วนิดา แสงสารพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผอ.เว็บไซต์ประชาไท ร่วมเสวนา
ผศ.ดร.จันจิรา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการทำงานของรัฐหรือไม่ ตอบได้ว่า ประเทศไทยยึดหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยจึงมีการวางระบบควบคุมการใช้อำนาจรัฐที่จะกระทำต่อประชาชน โดยมีกฎหมายการใช้อำนาจรัฐไว้ด้วย ส่วนสื่อควรนำสังคมหรือสังคมควรนำสื่อนั้น ส่วนตัวมองว่าอยากเรียกร้องสื่อให้มีความก้าวหน้า ตอนนี้ชัดว่ามีการแบ่งแยกอุดมการณ์ทางการเมืองในสังคมมากขึ้น สื่อก็เช่นกัน วันนี้ความชัดเจนเรื่องนี้ลงไปจนถึงในวัดกันแล้ว แต่ท่าทีของสื่อนั้นจะนำพาสังคมให้แตกแยกหรือเปลี่ยนผ่านไปในทางสันติ วันนี้มีสื่อเลือกข้างชัด และรัฐบาลจัดงบประมาณไปซื้อโฆษณากับสื่อ รัฐบาลไทยรักไทยใช้งบหนึ่งพันล้านบาทเศษในช่วงหกเดือนสุดท้าย รัฐบาลประชาธิปัตย์ใช้งบประมาณซื้อโฆษณากับสื่อในเก้าเดือนแรกสองพันกว่าล้านบาท ขอถามว่าแบบนี้ทำให้สื่อเลือกข้างหรือไม่ และเมื่ออีกฝ่ายเป็นรัฐบาลสื่อแขนงนั้นก็ไม่พอใจ แต่สื่ออีกฝ่ายอาจพอใจก็ได้
รศ.อุบลรัตน์ กล่าวว่า ช่องว่างที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น หากถามว่าสื่อไม่พอดีในสายตาของฝ่ายใด เพราะโดยวิจารณ์ มีการตอบโต้คือไม่ซื้อสื่อนั้น ๆ รวมทั้งการจับกุมและฟ้องร้อง ถามว่าสื่อมีหน้าที่ใดบ้างนั้น สื่อมีหน้าที่เฝ้าระวังภัยให้สังคม รับใช้อำนาจรัฐ และตรวจสอบรวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งเหล่านี้ดุลย์กันอยู่ แม้ประเทศไทยจะเป็นนิติรัฐและประชาธิปไตย แต่คล้ายว่ารัฐพยายามจะเข้ามาใช้สื่อมาเป็นกระบอกเสียง ส่วนการตรวจสอบเป็นหน้าที่ที่สำคัญจนสร้างความไม่ลงตัวระหว่างสื่อกับรัฐ ซึ่งมาจากหลายอุดมการณ์การเมืองและหลายเฉดสีที่ปรากฏในการเมืองไทยช่วงที่ผ่านมา แต่เมื่อสื่ออาสาวางหน้าที่ไว้ในการตรวจสอบและวิจารณ์การใช้อำนาจของรัฐก็ต้องมีการรับผิดและรับชอบทางกฎหมาย การรับผิดชอบทางจารีตประเพณี แม้บางเรื่องกฎหมายไม่ระบุ แต่ต้องทำตามประเพณี การรับผิดชอบตามที่สังคมคาดหวัง คือทำสิ่งที่ใหม่กว่าจารีต
รศ.อุบลรัตน์ กล่าวว่า ตอนนี้สื่อเริ่มตรวจสอบนโยบายรัฐตามที่หาเสียงไว้ สังคมไทยมีความเป็นดราม่าทางการเมืองสูงมาก ละครการเมืองไทยเล่นกับอารมณ์เยอะ และนายกฯหญิงจะมีบุคลิกทำงานอย่างไร ส่วนแนวทางการทำงานของสื่อในความสัมพันธ์ทางการเมืองเศรษฐกิจของไทยนั้น วัฒนธรรมอำนาจนิยมไทยไม่เปิดให้สื่อทำหน้าที่ได้หลายเรื่องหากถามว่าสื่อล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่มากไปนั้น สื่อเป็นสถาบันอย่างหนึ่งของสังคม รวมทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพราะต่างมีอาคารและเนื้อที่ แสวงหากำไรจากการขายเนื้อหาโฆษณา บริบทแบบนี้อำนาจของสื่อจะมีส่วนหรือไม่ เช่น ข่าวพาดหัวการเมืองที่อาจจะทำให้ใครบางคนสะดุ้งได้ เพราะมีอำนาจสูงกับสังคม การละเมิดจรรยาบรรณ สื่อใช้อิทธิพลตัวเองละเมิดคนอื่นได้ง่าย ๆ เช่น การเสนอไม่ลงภาพคนตายหรือเจาะข่าวคนดัง แต่ยิ่งทำก็ยิ่งยาก แต่บางประเทศก็ไม่มีการทำอย่างที่สื่อไทยทำ คำตอบคือค้าขายกับเรื่องนี้ได้ แต่ทำไมไม่มีการเจาะข่าวเหตุที่เฮลิคอปเตอร์ตก สื่อมีอำนาจเหนือคนตัวเล็ก แต่ยอมกับคนที่มีอำนาจใหญ่กว่า หากคนจำนวนมากแสดงความไม่พอใจกับสื่อในการเสนอข่าวที่ไม่เหมาะสม สื่อก็จะยอมขอโทษ เพราะ นสพ. ยักษ์ใหญ์ในไทยเคยเสนอข่าวอาชญากรรมที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และตอนแรกไม่ยอมขอโทษ แต่เมื่อมีโทรศัพท์เข้าไปมาก ๆ หนึ่งสัปดาห์ต่อมาบทนำของนสพ.ฉบับนั้นก็ขอโทษกับข่าวดังกล่าวแล้วเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สื่อแม้จะไม่ยอมอำนาจนอกระบบและอำนาจรัฐ แต่สื่อจะฟังเสียงประชาชนเสมอ
นางสาวจีรนุชกล่าวต่อมาว่า ตนโดนจับในช่วงการทำสื่อตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แม้ตนจะศึกษาเรื่องนี้อย่างดีก็ตาม ปัจจุบันสื่อมีความหมายที่หลากหลายและขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ เช่น สื่อประชาชน โซเชียลมีเดีย ประเทศที่ปิดกั้นสื่ออย่างหนัก เช่น จีน นั้น อ้าย เหว่ย เหว่ย ศิลปินจีนที่มีผลงานวิจารณ์รัฐบาลจีนโดนจับ แต่ได้รับการปล่อยตัวนั้นมีเงื่อนไขห้ามทวีตและติดต่อคนอื่นๆ มันเป็นเงื่อนไขที่อัศจรรย์ใจ เท่าที่คุยกับนักข่าวจีนและทนายความนั้น ทราบว่า อ้ายไม่คุยกับนักการทูตกับนักข่าวต่างประเทศเลย เพราะมีการข่มขู่จากผู้ใช้อำนาจ โดยคนแวดล้อมของอ้ายอาจจะโดนดำเนินคดีได้เลย เรื่องนี้คล้ายกับประเทศไทย เพราะคนที่พูดแล้วโดนดำเนินคดีจะไม่กล้าพูดอีกเพราะคนแวดล้อมจะได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งมาจากความไม่พอดีของรัฐ
หลังการรัฐประหาร การจัดอันดับเสรีภาพของสื่อไทยนั้นดิ่งลงมา โดยฟรีดอมเฮ้าส์จัดอันดับไทยอยู่ในระดับนอทฟรี หลังจากก่อนหน้านี้อยู่ในระดับพอมีเสรีภาพบ้าง ส่วนสื่อทางอินเตอร์เน็ตนั้น กฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดนบังคับใช้มากจนทำให้สื่อไทยอยู่ในภาวะล่อแหลม หากมองมุมสังคมไทยทั่วไปจะมองว่าสื่อไทยมีเสรีภาพมากก็ตาม
แต่ส่วนตัวมองสื่อไทยว่ามีเสรีภาพภายใต้วัฒนธรรมอำนาจ เช่น อำนาจรัฐบวกศาล อำนาจปืน อำนาจทุน การทำงานของสื่อนั้นไม่ใช่แค่รัฐไม่พอใจแต่ประชาชนก็ไม่พอใจด้วย เมื่อเป็นแบบนั้นประชาชนก็หาทางเลือกในการเสพสื่อตามเทคโนโลยีที่อำนวย และวันนี้รัฐโดนท้าทายในการกุมข้อมูล เช่น วิกิลีกส์ แต่รัฐประชาธิปไตยควรโปร่งใส
ส่วนตัวหวังว่าสังคมไทยน่าจะปรับตัว ยืดหยุ่นเพียงพอ แข็งแรงขึ้นในระบบท่ามกลางความหวั่นไหวด้านต่าง ๆ อดทนกับความเห็นแตกต่างที่มากขึ้น ถามว่าสื่อต้องแคร์สื่อและต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมหรือไม่นั้น สื่อทำหน้าที่สนองตอบความพอใจที่ไม่มีเส้นมาตรฐานของผู้อ่าน แต่สังคมไทยอยู่กับกระแสความพอใจหากสื่ออยู่ในกระแสอาจเป๋ไป เพราะบางกระแสในสังคมไทยน่ากลัว เพราะมีต้นทุนทัศนคติในการเคารพคนอื่นต่ำมากแต่ใช้ความพอใจของตัวเองเป็นตัวตั้งหากไม่มีการถ่วงดุล แต่สื่อต้องมีหลักของตัวเองยึดไว้ เพราะข่าวที่สื่อไทยสนองตอบกระแสสังคมและละเมิดสิทธิคนอื่นมาจากวงจรอุบาทว์และมาตรฐานของคนในสังคมไทยนั้นมันสะท้อนเเบบงูกินหาง กฎหมายและความหมายที่ใช้กับสื่อมีความคลุมเครือมาก อำนาจกฎหมายเข้ามาคุกคามและใช้วิธีศาลเตี้ยเข้ามาด้วย แต่คนในกระบวนการกฎหมายกลับตอบรับเรื่องนี้ด้วยที่ไปจัดการกับประชาชนที่แสดงความเห็นในเว็บไซต์โดยไม่มีการคุ้มครองเลย รวมทั้งกฎหมายสื่อและสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นนั้น วันนี้มีนักกฎหมายเข้ามาต่อสู้ในเรื่องนี้น้อยมาก
นายประสงค์กล่าวว่า เมื่อพูดถึงอำนาจรัฐ ต้องแยกด้วยว่า ขอบเขตจะมีอย่างไร แม้รัฐบาลจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่แกนนำที่ขึ้นมาเป็นนายกฯต้องไปปรองดองกับชนชั้นนำ รัฐบาลที่คิดว่ามาจากประชาชนสิบห้าล้านคนจะใช้อำนาจปิดกั้นสื่อหรือไม่ สื่อมีสามประเภทคือ นสพ. รัฐบาลชุดที่แล้วแทบไม่เข้าไปยุ่ง เว้นแต่ช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน วิทยุและทีวี เว้นแต่ช่วงปิดพีทีวี แต่วิทยุชุมชนแปดพันกว่าแห่งนั้น โดนปิดจริงๆคือไปวิจารณ์สถาบัน และสื่อออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ต ที่โดนปิดไปมากเหตุผลคือวิจารณ์สถาบัน ถามว่าสังคมจะเอาอย่างไรกับเรื่องสถาบันเพราะสังคมมีสองกลุ่มที่สุดโต่งอยู่ หากตกผลึกปัญหาจะหายไปครึ่ง อันดับของสื่อไทยที่ตกลงมาจากตรงนี้ ส่วนทีวีนั้น โดนมาตั้งแต่สมัยทักษิณที่มีคนหัวขาว สมัยที่ผ่านมาคนตัวเตี้ยจะโทรไป
นายประสงค์กล่าวว่า วันนี้พูดแต่การเมืองกับสื่อ แต่สิ่งที่ไม่พูดกันเลยคือการละเมิดสังคมของสื่อ เช่นเรื่องสิทธิของเด็ก ตัวอย่างคือ ลูกของดาราชายและดาราหญิงที่เถียงกัน สื่อกลับไม่เคยโดนลงโทษเลย ถามว่าทีวีบางรายการที่ส่งผลกระทบรุนแรงมีระบบควบคุมอย่างไร เช่น เรยา ละครไทยมักมีปัญหาหลังฉายทุกครั้ง แต่เซนเซอร์ภาพยนตร์หรือดีวีดีกลับดำเนินการก่อนทุกครั้ง ตรงนี้อยากนำนักกฎหมายและนักนิเทศศาสตร์มาคุยกันในเรื่องนี้ สังคมไทยมีปัญหาเรื่องความไม่พอดีกันหลายเรื่อง ทางออกที่ดีคือต้องมาคุยกันทุกฝ่าย ตนยึดหลักว่า สื่อต้องเสนอข่าวและข้อเท็จจริง เพราะความจริงมันหายากมาก แต่สื่อไม่ควรละเมิดสิทธิส่วนบุคคล จุดเด่นของสื่อใหม่ที่เกิดขึ้นคือการตอบโต้ระหว่างผู้อ่านกับกอง บก. แต่เวลาแสดงความเห็นในเว็บบอร์ดนั้นมักจะมีการบริภาษกันอย่างเมามัน เพราะเวลาวิจารณ์อะไรนั้นควรวิจารณ์บนถ้อยคำสุภาพและถูกต้อง
ผศ.วนิดา กล่าวว่า ปัญหาของสื่อยุคนี้ซับซ้อน สื่อน่าสงสารเพราะเวลาเกิดสิ่งไม่ดี สังคมก็โทษสื่อ หากเสนอข่าวที่มีข้อมูลโจมตีอีกฝ่ายก็จะโดนฟ้องร้อง คำว่าพอดีกับพอใจนั้น ขอบเขตของสื่ออยู่จุดใด ต้องเริ่มที่รัฐธรรมนูญ และสิทธิของประชาชนในการรับทราบ แต่ภายใต้นิติรัฐการกำหนดขอบเขตเสรีภาพจะมีไว้กว้าง ๆ แต่ไม่เกินกรอบที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งจรรยาบรรณวิชาชีพที่กำหนดแนวทางการทำหน้าที่ของสื่อไว้
แต่ยุคนี้ประชาชนและนักกฎหมายยังสับสนกับคำว่าปิดสื่อ ปิดเว็บ แทรกแซงสื่อ ประเด็นคือปิดกั้นการแสดงเสรีภาพทางความคิดเห็นของประชาชน เพราะข่าวสารที่เสนอจากสื่อเดิมไม่พอ จึงไปหันสื่อใหม่เพื่อแสดงความเห็น ยุคนี้ใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อและใช้เว็บไซต์มาเสนอข่าวแต่อาจกระทบสิทธิส่วนบุคคลจนทำให้เกิดความเข้าใจผิด หากสื่อกำหนดบทบาทของตัวเองโดยไม่สนใจว่าใครเป็นรัฐบาล ภายใต้จรรยาบรรณจะเป็นเกราะป้องกันตัวเองและไม่ขัดต่อกฎหมาย รัฐและฝ่ายต่าง ๆ จะฟ้องร้องไม่ได้ เวลาที่พูดถึงสื่อนั้น สังคมประชาธิปไตยต้องให้เสรีภาพกับสื่อและเป็นฐานันดรที่สี่ กฎหมายหลายฉบับก็รองรับไว้มาก แต่จริยธรรมของสื่อแต่ละแขนงก็มีอยู่ในตัวเอง สื่อมีสองมิติคือ รับใช้รัฐและประชาชน ไม่ใช่รับใช้รัฐบาล รวมทั้งควรรับผิดชอบกับสังคมควบคู่กันไป
นายประสงค์ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวมองว่าหากสื่อตั้งเป้าทำหน้าที่ภายใต้จรรยาบรรณวิชาชีพ ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด และควรใช้เสรีภาพของสังคมควบคู่กันไป หากงบประมาณของรัฐที่ไปให้กับสื่อนั้น รัฐธรรมนูญห้ามไว้ในมาตรา 45 แต่ก็มีลงโฆษณาจากภาครัฐ แต่วันนี้หากสื่อเลือกข้างและประกาศตัวออกกับสังคมชัดก็เป็นสิ่งดี แต่ควรเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายมีโอกาสโต้แย้งชี้แจงข่าวสารด้วย และต้องยอมรับว่าสื่อคือธุรกิจ เพราะในสหรัฐอเมริกาก็มีเรื่องแบบนี้แล้ว