"ธิดา" โชว์โมเดลการศึกษา

โพสต์ทูเดย์ 14 สิงหาคม 2555 >>>





ถูกถล่มอย่างหนักด้วยข้อหานำการเมืองครอบงำการศึกษา ภายหลัง สุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาที่คับคั่งไปด้วยนักวิชาการสายเสื้อแดง
ร้อนถึง “แดงตัวแม่” ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ออกมาปฏิเสธไม่รับตำแหน่งก่อนหน้านี้ พร้อมกับ “สอนมวย” ระบบการศึกษาไทย ผ่านรายการเหลียวหลังแลไปข้างหน้า ทางเอเชียอัพเดท เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา
ก่อนที่ ธิดา วิพากษ์ปัญหาระบบการศึกษาไทย ได้วิจารณ์สภาการศึกษาไทยที่เธอปฏิเสธไม่รับตำแหน่งว่า สภาการศึกษาไม่สมาร์ตหรือไม่ฉลาด เพราะเป็นที่รวมของคนที่มาพูดเรื่องโก้ๆ แล้วทำไม่ได้หรือทำแล้วไม่มีผล ตั้งมาก็เพื่อมากินเบี้ยประชุม ถ้าไม่ได้เอาผลของสภาการศึกษามาใช้ก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ต่างกับคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ธิดา กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ สร้างระบบโอเน็ต-เอเน็ต เพื่อป้องกันระบบการติวเข้มนอกโรงเรียน แต่แทนที่ระบบดังกล่าวจะลดลง แต่กลับวิกฤตหนักขึ้น เดิมติวเฉพาะสอบเข้า แต่วันนี้กลับติวกันตั้งแต่ชั้นอนุบาล ซ้ำมาตรฐานคะแนนสอบยังตกเกือบทั้งหมด อย่างไรก็ตามเห็นว่าไม่สมควรโทษผู้เรียน แต่ควรหันกลับมาพิจารณาตัวผู้สอนมากกว่าว่ามีคุณภาพพอหรือไม่
   “ลีกวนยู (อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศสิงคโปร์) บอกว่า เด็กสิงคโปร์ไม่มีใครโง่ เก่งทุกคน แต่ต้องโทษครูว่าสอนอย่างไรเด็กถึงสอบตกทั้งหมด เมื่อหันมามองแล้วเด็กไทยจะโง่ได้อย่างไร ดังนั้นวิธีแก้ก็ต้องแก้ที่ครูผู้สอน แต่ถามว่าต้องโทษครูทั้งหมดไหม ก็ไม่ใช่ ต้องไล่ขึ้นไปยังสภาการศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้วางนโยบาย”
ธิดา มองกระทรวงศึกษาธิการว่ายังเต็มไปด้วยแนวคิดอนุรักษนิยมที่เป็นผลพวงจากระบอบอำมาตย์และเผด็จการสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยจอมพลสฤษดิ์ มองว่า แนวคิดที่สามารถต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ได้คือ แนวคิดอนุรักษนิยม จึงทำให้กระทรวงศึกษาธิการถูกปลูกฝังความคิดล้าหลังมาจนถึงปัจจุบัน
   “สงสัยไหมว่าทำไมโรงเรียนสาธิตจึงมีคุณภาพ เป็นเพราะได้เศษเสี้ยวความคิดของเสรีนิยมเข้ามา ผู้สอนกับนักเรียนเหมือนเป็นเพื่อนกัน มีความเสมอภาคที่ไม่ห่างกันมาก นักเรียนจึงกล้ายกมือถาม ปรากฏว่าความใกล้ชิดระหว่างครูและนักเรียนทำให้ผลการเรียนดี เพราะเขาไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้เรียน แต่รู้สึกว่ารื่นรมย์ เพราะมาเรียนกับครูที่รัก ถามว่าโรงเรียนแบบนี้เป็นเสื้อแดงหรือ เป็นคอมมิวนิสต์หรือ มันไม่ใช่ แต่มันเป็นแบบอเมริกัน และโรงเรียนยังคงรักษาท่วงทำนองความเสมอภาคของแนวคิดเสรีนิยมไว้จนถึงช่วงหลัง”
ถามว่าจะมีครูแบบนี้ใน “โรงเรียน นปช.” หรือไม่ ? ธิดา ตอบว่า โรงเรียน นปช. เป็นโรงเรียนของนักต่อสู้ คนเป็นครูเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นนักต่อสู้ที่ผ่านการปฏิบัติจริง ต้องเรียนรู้ทฤษฎีและหลักการต่อสู้ของภาคประชาชนว่ามีที่มาอย่างไรตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ผู้ที่มีประสบการณ์พฤษภาฯ ’35 ก็จะเป็นหนึ่งองค์ความรู้ กลุ่มคนที่ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ก็จะเป็นอีกองค์ความรู้ ต้องแยกจากกันและสรุปบทเรียนให้ได้
   “สภาการศึกษาของไทยคุณต้องกลับไปสำรวจตัวเอง อย่ามากลัวว่า นปช. จะไปทำอะไรโรงเรียนของพวกคุณ ทีพวกคุณทำอะไรกับนักเรียนจนนักเรียนกลายเป็นแบบนี้ สำนึกกันบ้างหรือไม่ เรากำลังพูดระหว่างอนุรักษนิยมกับเสรีนิยม ดูตัวอย่างสาธิตกับโรงเรียนทั่วไป จะเห็นว่าแนวคิดเสรีนิยมก็ทำให้เกิดความแตกต่างแล้ว”
   “นี่ยังไม่ต้องพูดถึงโรงเรียน นปช. ที่เป็นโรงเรียนการเมืองของนักต่อสู้ที่มีเเนวคิดเสรีนิยม พูดตรงๆ ว่าต่อให้คุณจบดอกเตอร์ไม่ว่าเป็น กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.ประชาธิปัตย์ (รมว.ศึกษาธิการ (เงา) ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ (เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก) รวมทั้ง สมพงษ์ จิตระดับ (ครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) อย่างนี้ไม่มีมาตรฐาน มาเป็นครู นปช. ไม่ได้ เพราะว่าคุณไม่ใช่นักต่อสู้ของประชาชน” ธิดา ระบ