กลิ่นอายความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป ดูจะชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากระเบิดเวลาการเมืองหลายลูกที่ถูกซุกไว้กำลังรอวันปะทุ หลังจากพรรคเพื่อไทยเดินหน้าไม่ถอนร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ออกจากการพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวาระที่ 3 และไม่ถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... ออกจากวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่อยู่ระหว่างรอพิจารณาขั้นรับหลักการในวาระแรก
แต่กระนั้นพรรคร่วมรัฐบาลได้เบรกอุณหภูมิการเมืองไม่ให้ร้อนแรงขึ้น โดยให้คาร่างพ.ร.บ.ปรองดองไว้ในสภา และเลื่อนร่างกฎหมายอื่นที่ค้างการประชุมตั้งแต่สมัยที่แล้วขึ้นมาพิจารณาก่อน ขณะที่ให้ชะลอลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 พร้อมทั้งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อหารือแนวทางแก้รัฐธรรมนูญว่าจะแก้เป็นรายมาตราหรือไม่ หากจะแก้จะแก้มาตราไหน รวมทั้งศึกษาผลดีผลเสียอย่างรอบคอบ เพื่ออธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่ามันเกิดปัญหาอะไรขึ้น และจะทำอย่างไรให้ได้ผลดีที่สุด ก่อนที่จะรณรงค์สร้างความเข้าใจกับประชาชนโดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีมือไม้มากที่สุดเป็นผู้ดำเนินการ
ท่าทีที่ดูผ่อนคลายลงของรัฐบาลถูกตั้งคำถามตามมาในเรื่องของการจัดทำเวทีรับฟังที่หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการนั้น จะมีความเป็นกลางจริงหรือไม่ ข้าราชการในพื้นที่จะไม่มีความเอนเอียงไปในแนวเดียวกับนักการเมืองที่เป็นเจ้ากระทรวงหรือ โดยปุจฉาดังกล่าวได้เสนอทางออกของสานเสวนาดังกล่าว ควรเป็นเวทีที่ให้ความรู้แก่ประชาชน ว่าเหตุใดต้องแก้รัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในสายตารัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหน อย่างไร และต้องการที่จะแก้ไขมาตราใดบ้าง อย่าให้สังคมเกิดความสงสัยว่าเป็นเวทีกล่อมประชาชนว่าจะล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อเขียนใหม่เพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง
หากรัฐบาลมีความจริงใจและเป็นประชาธิปไตยพูดให้ชัดว่าจะแก้ไขอย่างไร และควรให้ตัวแทนทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกสี เข้าร่วมในการเสวนาในทุกเวทีสาธารณะ(หรือจะให้มีการถ่ายทอดสดก็คงมิผิด) ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งให้แก่ประเทศ ด้วยเหตุที่ว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งประเทศมีส่วนร่วม เป็นการทำงานตามกระบวนการประชาธิปไตยมากกว่าจะให้กระทรวงมหาดไทยแอบไปดำเนินการเฉพาะกลุ่มผู้สนับสนุน เช่น กลุ่มคนเสื้อแดง หรือกะเกณฑ์คนมาลงชื่อแก้ไขกฎหมาย โดยใช้กองทุนต่างๆ บังหน้า เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่มีทางจบและบ้านเมืองก็ยังคงไม่สงบ
นับเป็นสัญญาณที่ดีกับการก้าวถอยในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายปรองดองของรัฐบาล แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลและรัฐสภามีเจตจำนงที่จะรับฟังความคิดเห็น ซึ่งก็ต้องพยายามทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อใจและไว้วางใจ ว่าสิ่งที่รัฐบาลผลักดันนั้นเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ประชาชน บนพื้นฐานของประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ละเมิดรัฐธรรมนูญ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อทุกฝ่ายได้ร่วมกันพิจารณาหาทางออกที่เหมาะสมให้แก่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป ภายใต้บริบทของการทำความเข้าใจและการร่วมมือกันของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง