เจาะใจ "แซม-ยุรนันท์" เกร็ดสาแหรกทายาท "คณะราษฎร"- ชิงสุกก่อนห่าม หรือจะรอถั่วสุกงาไหม้ สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว

มติชน 8 สิงหาคม 2555 >>>




24 มิถุนายน 2475 นอกจากจะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบเดิมสู่ระบอบใหม่ของสยาม อันเป็นจุดเปลี่ยนของอดีตในระดับรัฐชาติแล้ว วันเดียวกันนั้น ก็เป็นจุดเปลี่ยนในความสัมพันธ์ ระหว่าง “ผู้ใหญ่”-“ผู้น้อย” ที่เคย เป็นผู้ให้และผู้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูในความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่ง แม้สายสัมพันธ์บางคู่จะขาดลง แต่ภาพรวมยังคงเค้าลางความสัมพันธ์เดิม จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ “คณะราษฎร” ประกอบด้วยหลายภาคส่วนทั้ง พลเรือน ทหาร ข้าราชการ หนึ่งใน ผู้ก่อการในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คือ พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี ผู้มีส่วนเริ่มในขบวนการโดยตั้งต้นย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น 7 ปี
“มติชนออนไลน์” สัมภาษณ์ ยุรนันท์ ภมรมนตรี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หนึ่งในบุตรชาย พล.ท.ประยูร ผู้มีบทบาทในการวางแผนและปฏิบัติการในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อีกแง่มุมหนึ่งในความทรงจำของของคนเจนเนอเรชั่นนี้

คุณพ่อของคุณยุรนันท์ เล่าเหตุการณ์ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 24 มิ.ย. 2475 อย่างไร

การเตรียมการมีการพูดคุยกันล่วงหน้า 7 ปี คุณพ่อเป็นเพื่อนสนิทกับจอมพล ป พิบูลสงคราม อยู่แล้ว เป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นเดียวกัน เรียนกันมาตั้งแต่เด็ก
คุณพ่อเกิดมามีพี่ชายฝาแฝด คุณปู่คุณย่าก็พาไปฝากตัว กับรัชกาลที่ 6 ซึ่งตอนนั้นเป็นมกุฎราชกุมาร ไปถวายงานรับใช้ ทั้ง 2 พี่น้อง
คุณพ่อเล่าเกร็ดน่ารักๆ ในวัยนั้น ว่า ตอนเป็นเด็ก 7-8 ขวบ ทำหน้าที่โบกพัด นั่งใกล้ๆ ย่าเหล (สุนัขทรงเลี้ยง) อยู่ใต้โต๊ะเสวย พระองค์ท่านก็ทรงมีเมตตา
แล้วพอโตขึ้นมาอีกหน่อย คุณย่าก็เข้าไปกราบพระองค์ท่าน บอกว่า อยากให้ลูก เข้าไปเรียนเป็นนักเรียนนายร้อย
พระองค์ท่านก็เมตตา โดยพาพ่อและพี่ชาย ไปฝากที่โรงเรียนนายร้อยทหารด้วยพระองค์เองและลงพระปรมาภิไธยในสมุดพก แทบทุกอาทิตย์ ตลอดมา จนถึงเติบใหญ่ จะต้องบวช ก็ประทานบวชให้เป็นนาคหลวง บวชให้ที่วัดพระแก้ว โดยเสด็จไปบวชด้วยพระองค์ท่านเอง จนกระทั่งเรียนจบ ก็ไปกราบท่าน ท่านก็รับเป็นมหาดเล็กที่จะดูแลรับใช้ส่วนพระองค์ดูแลอยู่ในวัง
ส่วนพี่ชายก็ ดูแลต้นห้อง ถือเป็นพระเมตตาสูงสุดของครอบครัวเราอยู่แล้ว จนกระทั่งพระองค์ท่านขึ้นครองราชสมบัติ คุณพ่อและพี่ชายก็ได้ถวายงาน รับใช้อยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่หลายๆ เรื่องจึงขอกราบลา ไปเรียนต่อต่างประเทศ
คุณพ่อได้ไปเรียนที่เยอรมัน ฝรั่งเศส และสวิสเซอร์แลนด์ จนกระทั่งไปเจอ คุณปรีดี พนมยงค์ ไปเจอ คุณควง อภัยวงศ์ ไปเจอ จอมพลป.พิบูลสงคราม  ซึ่งเป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว และอีกหลายๆ ท่าน แต่ละคน ก็มีเรื่องราว ที่เล่าสู่กันฟัง เกี่ยวกับชาติบ้านเมือง พูดถึงกัน คุณพ่อ ก็อาจจะกว้างขวาง เพราะรับใช้เจ้านายมา ทั้งในส่วนของ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และในสายของทหารในฐานะ นักเรียนทหาร ทำให้มีเพื่อนฝูงมากมาย
ก็ไปคุยกับคนโน้น คนนี้ หาแนวทางร่วมกันว่าทิศทางที่จะทำให้ประเทศไทย อยู่รอด ในภาวะที่ทั่วโลก กำลังเกิดวิกฤต คุณพ่อเขียนเล่าไว้ในหนังสือมากมาย แต่ละประเทศเป็นอย่างไร  และเห็นฝรั่งเศส ก้าวไกล เพราะผ่านวิกฤต มาเยอะแยะมาก ชนชั้นในสังคมของฝรั่งเศส ไม่มาก เพราะเคยเกิดระยะชนชั้นมาแล้วในสมัยก่อน ทำให้เกิดช่องว่างมากมหาศาล จนฝรั่งเศส ที่คุณพ่อและนักเรียนไทยหัวก้าวหน้าหลายคนไปเรียน ได้เห็นว่าช่องว่างของประเทศฝรั่งเศสมีน้อย

เหตุการณ์ วันที่ 24 มิ.ย. 2475 รับฟังจากคุณพ่ออย่างไร

มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ไปเชิญ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต จากวังบางขุนพรม มาที่พระที่นั่งอนันตสมาคม  ส่วนคุณพ่อ เป็นคนคอยเฝ้าอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม คุณพ่อดูแลพระองค์อย่างปลอดภัย แล้วท่านก็ได้สอบถาม เรื่องราวต่างๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น คุณพ่อก็กราบทูลได้ประมาณหนึ่งว่ามีการทำแบบนี้ แต่ว่า ได้มีการกลั่นกรองดูแล้วว่า ไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ จึงคิดว่า ไปในทิศทางที่ดี ซึ่งท่านก็ทรงถามว่า รู้ไหมว่า ถ้าทำผิดแบบนี้ อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าทำผิดพลาดโทษถึงประหารชีวิต เพราะเป็นการกบฏ ถึงแม้จะทำสำเร็จ ก็ระวังเถอะ วันหนึ่งจะฆ่ากันเองตายเหมือนประเทศฝรั่งเศส สุดท้ายก็เอา กิโยตินมาตัดคอกันเอง ระวังนะ คิดตรงนี้รอบคอบหรือยัง
คุณพ่อกราบทูลว่า ผ่านการกลั่นกรองมานาน เป็นความหวังดี ของคนที่หวังดีต่อประเทศชาติ และคิดว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ น่าจะนำพาสิ่งที่ดีกลับมา มี 3 ประการที่คุณพ่อตั้งไว้คือ 1 เงื่อนไขที่ถูกกำหนดเอาไว้ โดยผู้ก่อการทั้งหมด คือ นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีรากฐานประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ โดยจะไม่มีการเป็นสาธารณรัฐโดยเด็ดขาด เงื่อนไขตั้งแต่แรก
เงื่อนไขที่ 2 คือกำหนดการยึดอำนาจด้วยการปฏิวัติ ไม่ใช่การจราจล เน้นว่า ต้องด้วยดี ไม่มีเสียเลือดเสียเนื้อ และ 3 คือ ร่วมมือกันปกครองบริหารประเทศ ด้วยความสุจริต งดเว้นหาประโยชน์ส่วนตัว ไม่อคติกับอะไร และก็ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วตัว นี่คือการพูดคุยกันตั้งแต่เริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
คุณพ่อได้เล่าไว้ในหนังสือ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” ตอนหนึ่งว่า “กรมพระนครสวรรค์ฯ จ้องข้าพระเจ้า ด้วยพระเนตร ดุเดือด รับสั่งว่า ประยูร แก เอากับเขาจริงๆ หรือ พระยาอธิกรบอกฉัน ฉันก็ไม่เชื่อ ฉันตั้งชื่อ ทำขวัญแกมาตั้งแต่เกิด เลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก แกโกรธที่ฉันไม่ไปเผาศพพ่อแกใช่ไหม...”
พอทุกคนออกไปหมด พ่อก็วางปืน ก้มลงกราบพระบาท ให้รู้ว่าจริงๆ เคารพ แต่หน้าที่ ก็คือ หน้าที่ พ่อก็เล่าให้ฟังว่าภารกิจของพ่อ คืออะไร ท่านก็บอกว่า แกเป็น กบฏ โทษถึงประหารนะ พ่อก็กราบทูลว่า ว่า ไม่ได้กบฎ  ไม่ได้ล้มราชบัลลังก์

ได้เรียนรู้อะไรจากคุณพ่อ

คุณพ่อรักชาติมาก ที่จริงก็ตั้งแต่รุ่นคุณย่า แม้จะเป็นฝรั่ง แต่คุณพ่อผูกพันกับไทยมาก คุณย่าเป็นไทยมาก ครอบครัวเรา ตั้งแต่บรรพบุรุษ ได้รับความเมตตา อย่างสูงจากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง พระบรมวงศานุวงศ์ ให้ความเมตตาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ทวด เรื่อยมาในรากของตระกูลยาวนาน เวลาร้องเพลงชาติใครไม่ยืน คุณย่าเป็นฝรั่ง ก็จะลงโทษ แล้วเรื่องนี้ก็เกิดมาถึงยุคคุณพ่อ เมื่อเพลงชาติขึ้น ลูกต้องยืน คนอื่นไม่ยืน พ่อก็ทำโทษ แล้วต่อให้นั่งอยู่ในรถ หรือคุณพ่อขับรถในช่วงที่เพลงชาติขึ้น คุณพ่อจอดรถ แล้วลุกขึ้นยืนเคารพธงชาติ ไม่สนใจข้างหลังจะบีบแตร นี่เป็นเรื่องจริงจัง ของคุณพ่อมาก แล้วผมติดมา จนกระทั่งวันหนึ่งความคิดค่อยๆ ลดลง เพราะกลายเป็นตัวประหลาดของคนรอบข้าง
หลายๆ คนเวลานี้ บอกว่ารักชาติ แต่ส่วนใหญ่ ไม่เห็นแสดงออก แล้วจะรู้ได้ยังไง ว่ารักยังไง  แม้กระทั่งวันชาติไทยวันที่เท่าไหร่ หลายคนอาจจะยังตอบไม่ได้
ครอบครัวได้รับการสอนมาตั้งแต่บรรพบุรุษว่า ชาติ สำคัญที่สุด  ข้อ2  คือ ศาสนา คุณพ่อใบหน้าลูกครึ่ง แต่ว่า ทุกวันเกิดลูกทุกคน พ่อเป็นคนเตรียมของใส่บาตร ทุกครั้งด้วยตัวเอง เราจะจำวันเกิด พ่อตื่นมา มีการ์ดวางอยู่และมีของใส่บาตร ซึ่งคุณพ่อไปใส่เองทุกครั้ง ดอกไม้ธูปเทียน ปลากระป๋อง ไข่เค็ม เราจำได้ว่าของใส่บาตร จะมีแพทเทิร์นของพ่อ จะประมาณนี้ แล้วถ้าพ่อเห็นพระเดินตามถนนจะยกมือไหว้ทุกครั้ง ผมก็ไหว้
ส่วนพระมหากษัตริย์อยู่เหนือสิ่งอื่นใด ครอบครัวเราได้รับพระเมตตามามาก จนกระทั่งถึงวันนี้ การแต่งงาน เรายังได้รับมงคลสูงสุดในชีวิตครอบครัว คือได้รับพระราชทานน้ำสังข์ จากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นที่รักยิ่ง และได้รับพระราชทานโอวาท ในการใช้ชีวิตคู่และได้รับพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้เป็นขวัญถุงในการดำรงชีวิต ในการแต่งงาน ก็ถือว่าเป็นสุดยอด เป็น 3 สิ่งที่อยู่ในธงไตรงค์ เรายึดมั่นตรงนั้น เรื่อยมาตลอด เป็นคัมภีร์ชีวิต 

พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีมวลชน เป็นคนเสื้อแดง โดยเสื้อแดงบางเฉด ก็ถูกกล่าวหาว่ามีแนวคิดล้มเจ้า ในฐานะ ส.ส. พรรคนี้ รู้สึกอย่างไร

พรรคเพื่อไทย คือพรรคการเมือง มีกลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มอื่นๆ สนับสนุน เป็นหนึ่งในพรรคการเมือง ถ้าจะบอกว่า พรรคเพื่อไทย ไม่เกี่ยวกับคนเสื้อแดง ก็คงไม่ใช่ทั้งหมด มีบางส่วนที่เกี่ยวกันไว้ แต่ต้องขอเรียนว่า ข้อกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทย หรือคนเสื้อแดง จะมาล้มเจ้าหรือไม่ ผมทำงานที่พรรคเพื่อไทย ไม่เคยได้ยินใครพูดถึงว่าจะล้มเจ้า และไม่เคยได้ยินใครมาพูดกระทบกระเทือนสถาบัน เพราะถ้าได้ยิน เราก็จะแสดงความไม่พอใจให้เห็นเด่นชัด อาจจะถึงขนาดตอบโต้รุนแรง เพราะผมได้รับการอบรบมาแบบนั้นและเราก็อบรมลูกหลานมาเช่นนั้นเหมือนกัน เชื่อเถอะว่า ถ้าพรรคมีอาการอันมิควรแบบนี้ เราจะเป็นคนแรกที่เดินออกไปและสาบแช่งด้วย แต่เมื่อพรรคโดนกล่าวหาโดยไม่มีความจริง แล้วถ้าเดินจากไป ก็ไม่แฟร์

ความสัมพันธ์ระหว่าง คุณพ่อ กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นอย่างไร

ทั้ง 2 ท่านเป็นเพื่อนสนิทกัน คุณพ่อก็พูดเสมอว่า จอมพล ป. ทำให้เกิดแนวคิดชาตินิยม คนไทยต้องเกิดความนิยมและภูมิใจในชาติตัวเอง นิยมความเป็นไทยและเอกลักษณ์ไทย เพราะส่งถึงความภาคภูมิใจ ตอนผมอยู่กระทรวงศึกษาธิการ ก็เสนอว่า ให้เคารพธงชาติ พร้อมกัน 8 โมงเช้า แต่ข้าราชการกระทรวงบอกว่า แต่ละโรงเรียน มีความสะดวกไม่พร้อมกัน บางที่อาจจะพร้อม 8.15 น. ทุกวันนี้ วันชาติ ถูกปรับมา วันที่ 5 ธันวาคม ความรู้สึกคนไทยทั้งประเทศ รวมที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
คุณพ่อมองว่า การเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ให้มีช่องว่าง ที่ประชาชนรับความทุกข์ไปเต็มๆ คนไปร่ำเรียน กลับมาถ้าไม่ได้แสดงความคิดเห็นอะไร แล้วผู้ใหญ่ตัดสินทั้งหมด คลังสมองของประเทศ ก็น้อยลง ประชาชน ไม่มีโอกาสได้พูดคุยว่าเขาอยากได้อะไร เราจึงชิน กับการที่ ได้รับการหยิบยื่นแล้วแต่จะเมตตา
คุณพ่อได้เห็นทั้ง 2 ชนชั้น เราเกิดจากครอบครัวที่เป็นอำมาตย์มากๆ แต่เมื่อไปเห็น ประเทศใหญ่ๆ จึงเห็นบทเรียนว่า อย่าให้ช่องว่างห่างขนาดนี้ แต่คุณพ่อก็ปฏิเสธคอมมิวนิสต์มาก เพราะที่ไปประเทศยุโรป ก็เห็นว่า ประเทศ ที่ยากจน จากการทำสงคราม สุดท้ายคอมมิวนิสต์เข้ามาแทรกแซงมากขึ้น แล้วพออ่อนพริ้ว คอมมิวนิสต์ เป็นลัทธิที่โหดเหี้ยม ไม่มีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เขาพยายามจะทำให้คนเท่ากัน ซึ่งจริงๆ ไม่มีทางเท่ากัน พอเกิดขึ้นจริงๆ คอมมิวนิสต์ผู้นำ กับ ประชาชนชน ก็ไม่มีทางเท่ากัน อยู่ดี แล้วเขาสามารถฆ่าคนตายโดยไม่ต้องมีมนุษยธรรมใดๆ ไม่มีศาสนา ไม่ได้ยึดอะไร ยึดแต่ความเท่ากัน แต่ที่ผ่านมา พ่อพูดถูกว่า ความเท่ากันนั้นไม่มี จะด้วยอะไรก็แล้วแต่จะมีความต่าง แต่อย่าให้ต่างจนช่องว่างห่างมาก
พ่อพูดเสมอว่าการปเลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย ที่สำคัญที่สุดคือการศึกษา ถ้าคนเราการศึกษาใกล้เคียงกัน ชีวิตจะไม่ต่างกันมาก ฉะนั้น กระทรวงแรกที่คุณพ่อดูแลคือกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจะให้คนมีความรู้ใกล้เคียงกัน เมื่อคนมีข้อมูลใกล้กัน การตัดสินใจเรื่องเดียวกัน จะไม่ต่างกันมาก เมื่อไม่ห่างกันมากจึงเหมาะกับประชาธิปไตย เมื่อต่างกันก็โหวตเสียงข้างมากจึงชนะไป

สังคมไทยผ่านยุคที่จะยึดถือในแนวคิดชาตินิยมมาแล้วหรือเปล่า


ผมคิดว่าชาตินิยม ไม่มีคำว่าเก่า เราควรภูมิใจในความเป็นชาติเรา ไม่งั้นเราจะเปราะบาง ในการที่จะถูกดึงไปเป็นวัฒนธรรมตะวันตก จีน เกาหลี ตราบใดที่เรายังไม่ทราบความนิยมในชาติเราว่า คนไทยต้องแต่งตัว แบบไหน ไม่งั้นเป็นประเทศที่อ่อนไหว ตามกระแสโลกาภิวัฒน์ ง่ายมาก เราพร้อมจะเป็นอะไรก็ได้หมด เพราะเราหาตัวตนไม่เจอ ว่าเราคืออะไร คุณพ่อก็โดนตลอด เพราะคุณพ่อหน้าเป็นลูกครึ่ง ออกไปทางฝรั่งมากด้วยซ้ำ คุณพ่อจะของขึ้น เวลาพูดถึงเรื่องรักชาติ คุณพ่อมีความคิดรุนแรงในเรื่องชาตินิยมคุณย่าเอง ก็กำหนดว่าเวลาเสียชีวิตให้ทำพิธีแบบไทย อยู่วัดไทย 

การเริ่มต้นของคณะราษฎร

เริ่มต้น คำว่า คณะราษฎร ไม่เคยอยู่ในหัวท่านเลย เริ่มต้นทุกคนมากจากนายทหารชั้นผู้ใหญ่และนักเรียน ที่มองว่าประเทศจะไปในทิศทางไหน แล้วมารวมกันว่า ถ้าเกิดแบบนี้จะลำบาก ฉะนั้น นักเรียนต่างแดน จึงคุยกันว่าทำยังไงประเทศจะมีรัฐธรรมนูญ มีสภา ได้ฟังเสียงประชาชน โดยไม่แตะต้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพียงแต่ให้ท่านมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
7 ปี ที่พูดคุยกัน บางคน ก็ถามว่ายังคิดอยู่เหรอ แต่ทุกคนก็คิดคล้ายเดิมแต่รายละเอียดต่างกัน
คุณพ่อไม่แตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์แน่นอน เพราะคุณพ่อได้รับการชุบเลี้ยงมา อย่างมหาศาล

คุณพ่อเล่าอย่างไร ต่อข้อวิจารณ์ชิงสุกก่อนห่าม

มี 2 คำ คือ คำว่าชิงสุกก่อนห่าม หรือ กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ ตกลงจะเลือกอะไร คุณพ่อเคยพูดว่า อยู่ที่ว่าผู้ใหญ่ที่พูด หรือคนที่พูดจะมองมุมไหน บางคนบอกว่ายังไม่ถึงเวลา ก็บอกว่าชิงสุกก่อนห่าม บางคนบอกว่า ถ้ารอช้า บ้านเมืองจะเสียหายมากไปกว่านี้ ก็บอกว่า กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ บางเรื่องกว่าจะสุกงอมก็ไหม้ไปแล้ว แล้วทั้งหมดก็พังกินไม่ได้ ฉะนั้น เป็นความอ่อนไหว เหตุการณ์ผ่านมา แล้วเรามาวิเคราะห์กัน เรื่องบางเรื่อง ความคิดสถานการณ์ในขณะนั้น มีผลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น ตอบไม่ได้ว่า ผ่านมาแล้วสำเร็จหรือล้มเหลว แต่ เชื่อว่าแนวคิดของผู้ริเริ่ม เป็นแนวคิดที่ดี สิ่งที่ท่านได้บอกว่าก็จริง เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง