เป็นที่วิพากษ์พอสมควร เมื่อ บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม พา บิ๊กเล็ก พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผช.ผบ.ทบ. และ บิ๊กจิน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผช.ผบ.ทอ. เข้าทำเนียบ พบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา
เพราะหมายถึงเป็นการ "ประกาศ" และรวบรัดให้ พล.อ.ทนงศักดิ์ เป็นว่าที่ปลัดกลาโหม และ พล.อ.อ.ประจิน เป็น ผบ.ทอ.คนใหม่
ลำพังการนำ พล.อ.อ.ประจิน ไปแสดงตนในฐานะ ว่าที่ ผบ.ทอ. คนใหม่ นั้น ก็ไม่ถูกวิจารณ์มากนัก เพราะ พล.อ.อ.ประจิน แกนนำ ตท.13 นั้นเป็น "ตัวเต็ง" และมีความชอบธรรมที่จะเป็นแม่ทัพฟ้าคนใหม่อยู่แล้ว หลังจากที่ บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. แท็กทีมกับ ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ หนุน พล.อ.อ.ประจิน เป็น ผบ.ทอ.
ต่อให้ พล.อ.อ.สุกำพล จะไม่ค่อยแฮปปี้กับ พล.อ.อ.ประจิน ซึ่งเป็นน้องรักของ บิ๊กต๋อย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข อดีต ผบ.ทอ. แกนนำ คมช. ที่ปัจจุบันเป็นองคมนตรี เท่าใดนัก แต่ก็ไม่อาจต้านทานเสียงที่เป็นหนึ่งเดียวของ ผบ. เหล่าทัพได้
แต่กรณีของ พล.อ.ทนงศักดิ์ นั้น เป็นเสมือนการ "หักดิบ" เนื่องจากยังคงมีการแย่งชิงเก้าอี้ปลัดกลาโหม กันอยู่ แต่ พล.อ.อ.สุกำพล ก็เร่งพาเข้าพบนายกรัฐมนตรีก่อนเลยเพื่อเป็นการประกาศเป็นนัยๆ ว่า นี่แหละ ว่าที่ปลัดกลาโหม
ในมุมมองของ พล.อ.อ.สุกำพล ก็เพื่อเป็นการตัดปัญหาความขัดแย้งและการวิ่งเต้นในการโยกย้ายทหาร อีกทั้งทำให้เชื่อว่า บิ๊กเปี๊ยก พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกลาโหม ก็หนุน พล.อ.ทนงศักดิ์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.11 ให้มานั่งแทนด้วย เพราะมีอายุราชการแค่ 1 ปี
แม้ว่าเดิมจะเมียงมอง บิ๊กหนู พล.อ.อ.บุญยฤทธิ์ เกิดสุข รอง ผบ.สส. เพื่อนอีกคนที่พลาดเก้าอี้ ผบ.ทอ. ไว้ แต่เพราะมีอายุราชการ 2 ปี นานไป เพราะเก้าอี้ปลัดกลาโหม มักจะใช้เป็นเก้าอี้ในการแก้ปัญหาโยกย้ายก็ตาม
แต่ทว่า การเข้าพบนายกรัฐมนตรี ในวันนั้น ไม่มี พล.อ.เสถียร เข้าร่วมด้วย มีแต่ พล.อ.อ.สุกำพล เดินนำ และเป็นนัดหมายที่นัดกันไว้ล่วงหน้าถึง 4 วันแล้วด้วย
แม้ว่าในช่วงนั้น พล.อ.เสถียร จะไปราชการยุโรป ก็ตาม แต่ก็เกิดข่าวสะพัดว่า ไม่ได้มีการปรึกษาหารือ พล.อ.เสถียร ก่อนว่าจะเสนอใครเป็นปลัดกลาโหม แต่ พล.อ.อ.สุกำพล ใช้อำนาจ รมว.กลาโหม ตัดสินใจเลือกเลย
ท่ามกลางข่าวว่า พล.อ.เสถียร จะเสนอชื่อ บิ๊กกี๋ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกลาโหมที่เหลืออยู่คนเดียว ที่มีความชอบธรรม เพราะต้องเสนอ "คนใน" แม้ว่าจะเป็น ตท.14 และมีอายุราชการถึงปี 2558 ก็ตาม
จนทำให้เกิดกระแสข่าวของความขัดแย้ง ระหว่าง พล.อ.อ.สุกำพล กับ พล.อ.เสถียร เพราะเขาถูกมองว่าหากมีการปรับ ครม. จะมีชื่อของ พล.อ.เสถียร เป็นเต็งหนึ่ง รมว.กลาโหมเลยทีเดียว เพราะอย่าลืมว่า เขาเป็นหนึ่งในหัวหน้าทหารแตงโม ที่ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน
เหตุเพราะยังมีผู้ที่เหมาะสมที่จะเป็นปลัดกลาโหม ได้อีกหลายคน โดยเฉพาะที่ถกเถียงกันมากว่า ควรจะเป็นนายทหารที่ครองอัตรา "จอมพล" แล้วมากกว่าให้ พลเอก อย่าง พล.อ.ทนงศักดิ์ ขึ้นมา แม้ว่าในอดีต ก็มีนายทหารที่เป็น พลเอก ที่ขึ้นจาก พลเอก เป็นปลัดกลาโหม เลย ทั้ง พล.อ.ธีรเดช มีเพียร พล.อ.อู้ด เบื้องบน
แต่ก็มีข่าวว่า บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. นั้นต้องการจะดัน บิ๊กตี๋ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เสธ.ทหาร เพื่อน ตท.12 มาชิงเก้าอี้ด้วย
เช่นเดียวกับ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ที่อยากให้ บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ. เพื่อน ตท.12 ข้ามไปนั่งปลัดกลาโหม แต่ก็ยากฝ่ากระแสเสื้อแดงต้าน
ที่สำคัญ พล.อ.ทนงศักดิ์ เป็นนายทหารที่ไม่ธรรมดา แต่เพราะมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย ทั้งการเป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 3 ที่มักช่วยเคลียร์กับแกนนำเสื้อแดงในพื้นที่ และดองญาติเป็นน้องภริยาของ ส.ส.เพื่อไทย จ.พะเยา และถูกเรียกว่า อยู่ในสาย "เจ๊แดง" และเชื่อกันว่า พล.อ.เสถียร ซึ่งเป็นประธาน ตท.11 จะสนับสนุน
"ผมต้องยึดหลักการที่ถูกต้อง" เสียงกระซิบสั้นๆ จาก พล.อ.เสถียร ที่ยังไม่อาจบอกได้ว่าจะเสนอชื่อใครเป็นปลัดกลาโหมคนใหม่
พล.อ.ธนะศักดิ์ นัดหมายให้ ผบ. 3 เหล่าทัพ ส่งบัญชีรายชื่อโยกย้ายทหารให้ในวันที่ 10 สิงหาคม และจะส่งให้ รมว.กลาโหม ภายใน 15 สิงหาคม ก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีนโยบายที่จะทำให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม แต่ก็ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า จะทรงโปรดเกล้าฯ เมื่อใด
ท่ามกลางการจับตามองว่า การโยกย้ายนี้จะมีโผหลุดออกมาทั้งฉบับ เหมือนทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เพราะตราบใดที่ยังไม่มีโปรดเกล้าฯ การต่อสู้แย่งชิง และข่าวลือ ก็ไม่มีวันหยุด
แต่การที่ พล.อ.อ.สุกำพล นำ พล.อ.ทนงศักดิ์ และ พล.อ.อ.ประจิน เข้าพบนายกรัฐมนตรีก็ถือเป็นการสร้างประเพณีดูตัวผู้นำเหล่าทัพ ที่อาจกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไป เนื่องจาก พล.อ.อ.สุกำพล เห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจเคยเห็นหน้า แต่ไม่อาจรู้จักว่า ใครเป็นใคร และจะได้พูดคุย ดูแนวความคิด หรือที่เรียกว่าแสดงวิสัยทัศน์ให้ฟังด้วย
ทว่า ขณะเดียวกัน การทำเช่นนี้ ก็ทำให้ พล.อ.ทนงศักดิ์ กลายเป็นเป้าหมาย เพราะกำลังเป็นประเด็นวิพากษ์เรื่อง พลเอก และ จอมพล และมีแคนดิเดตที่เหมาะสมหลายคน ทั้งจาก บก.ทัพไทย และ ทบ. อีกทั้ง พล.อ.ชาตรี เองก็คงไม่แฮปปี้นัก ที่ถูกตัดหน้าและอาจถูกเตะพ้นทาง
จริงอยู่ แม้จะเป็นอำนาจ รมว.กลาโหม แต่ พล.อ.อ.สุกำพล ก็อาจจะต้องสอบถาม พล.อ.เสถียร ปลัดกลาโหม รวมทั้ง ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ เพราะจะต้องทำงานด้วยกัน
แต่คาดว่า พล.อ.อ.สุกำพล อาจมีการต่อรองกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อแลกบางเก้าอี้ใน ทบ. กับการส่ง พล.อ.ทนงศักดิ์ ไปเป็นปลัดกลาโหม ก็เป็นได้
หลังกลับจากแฮปปี้เบิร์ธเดย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ฮ่องกง เมื่อ 21 กรกฎาคม แล้ว ดู พล.อ.อ.สุกำพล มีความมั่นใจในการเป็น รมว.กลาโหม มากขึ้น หลังจากมีข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะควบ รมว.กลาโหม บ้าง บิ๊กโอ๋เล็ก พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต หัวหน้าฝ่าย เสธ. รมว.กลาโหม เพื่อน ตท.10 จะเป็น รมว.กลาโหม มาตลอด
แต่บ้างก็มองว่า พล.อ.อ.สุกำพล อาจเร่งสางงานให้เสร็จ ก่อนจะถูกเด้งพ้น รมว.กลาโหม ก็ได้ ทั้งเรื่องโผโยกย้ายทหาร ที่เร่งรวบรัดนำ พล.อ.ทนงศักดิ์ เข้าพบนายกฯ
รวมทั้งการนำคณะกรรมการสอบสวนฯ ยกชุดเปิดแถลงข่าวใหญ่พร้อมเอกสารเพื่อยืนยันว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลีกเลี่ยงการเป็นทหาร และใช้เอกสารเท็จในการสมัครเป็นนายทหาร อาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. เมื่อ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากที่เลื่อนมาหลายครั้ง
อันถูกมองว่า เป็นการสร้างผลงาน เพื่อสร้างความมั่นคงให้เก้าอี้ รมว.กลาโหม จนทำให้นายอภิสิทธิ์ จะฟ้องหมิ่นประมาท และมองว่า เป็นการทำตามใบสั่ง และเป็นเกมการเมือง
ทว่า เป้าหมายของการแถลงข่าว ไม่ใช่อยู่ที่การตอกย้ำการหลีกเลี่ยงการเป็นทหาร หรือไม่ได้เข้ารับการตรวจเลือกทหาร เพราะเป็นเรื่องเก่าที่หมดอายุความไปแล้ว
แต่เป้าหมายคือการยืนยันว่า มีการใช้เอกสารเท็จในการสมัครเป็นทหาร เป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. ที่ พล.อ.อ.สุกำพล ให้กรมพระธรรมนูญ พิจารณาว่า จะทำเรื่องในการขอถอดถอนยศร้อยตรี และเรียกเบี้ยหวัดเงินเดือนคืนได้หรือไม่ ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม
ไม่แค่นั้น พล.อ.อ.สุกำพล พยายามที่จะสะกิดต่อมจริยธรรม ด้วยการแฉ ร้อยตรีอภิสิทธิ์ ตอนเป็นอาจารย์ สังกัดส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อย จปร. นั้น ลาไปต่างประเทศ ลากิจ รวม 221 วัน ไปทำงานแค่ 35 วัน จนต้องถามว่า "รักที่จะเป็นทหารจริงหรือเปล่า" นั้น แสดงว่า นักเรียนนายร้อย จปร. (นนร.จปร.) ที่ได้เรียนกับอาจารย์อภิสิทธิ์ ต้องถือว่าโชคดีมาก
โชคดีที่ได้เห็นหนุ่มหล่อ จบอีตัน เมืองผู้ดี ที่จบเศรษฐศาสตร์มาหมาดๆ มาเป็นอาจารย์ สอนรัฐประศาสนศาสตร์ และรัฐศาสตร์ เนื่องจากในเวลานั้นมีอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์อยู่แล้ว นายอภิสิทธิ์ มาบรรจุเป็นอาจารย์รัฐประศาสนศาสตร์ ทั้งๆ ที่จบเศรษฐศาสตร์
จึงได้แต่ยืนหน้าโพเดี้ยม เปิดและอ่านตามตำราสอนเด็กนักเรียน แบบที่แทบจะไม่เงยหน้ามองหรือแม้แต่สบตานักเรียน ที่เขาเรียกว่า "นักศึกษา" จนทำให้นักเรียนนายร้อย จปร. รู้สึกแอนตี้
แถมทั้งอายุอานามก็ไม่ห่างกับนักเรียนทหาร ที่เป็นลูกศิษย์มากนัก จนถูกเรียกลับหลังว่า "...หน้าเด็ก"
ตอนแรก พวกนักเรียนนายร้อย จปร. ก็ตื่นเต้นที่จะมีอาจารย์ใหม่ เป็นพลเรือน เพิ่งจบอังกฤษ มาสอน แต่พอมาสอนแล้ว กลับน่าเบื่อมาก เอาตำรามาวางตั้งข้างหน้า แล้วก็อ่านให้นักเรียนฟัง แถมท่ายืน จะเอาแค่เท้าข้างหนึ่งวางบนฐานโพเดี้ยมเสมอ
จึงไม่แปลกที่การสอนของ อ.อภิสิทธิ์ ในเวลานั้น จะทำให้นักเรียนนายร้อย จปร. กว่าค่อนห้อง ต้องนั่งหลับ ประกอบกับการไม่ได้นอนเพราะอยู่เวรยามกันตอนกลางคืน จึงทำให้ยิ่งหลับใหล
ดังนั้น เมื่อหมดคาบเรียนแรก 50 นาที นักเรียนนายร้อย จปร. บางคนจะต้องรีบตะโกนบอกว่า "ได้เวลาพักแล้วครับ"
ในเวลาพัก 10 นาทีนั้น อาจารย์มาร์ค ก็จะเดินออกจากห้องเรียน แยกไปพัก ยกเว้นเมื่อมีนักเรียนเดินมาพูดคุยสอบถามในบางเรื่อง อ.มาร์ค ก็จะอยู่ตอบสักพัก แล้วก็รีบเดินหายไป
ยิ่งเมื่อเวลาหมดคาบเรียนที่สอง นักเรียนจะยิ่งต้องเร่งให้ อ.มาร์คเร่งจบการสอน เพราะพวกเขาต้องเร่งรวมแถวเพื่อเดินเปลี่ยนตึก เพราะถ้าช้าจะโดนนักเรียนนายร้อยรุ่นพี่ "แดก"
จึงอาจเรียกได้ว่า อ.มาร์ค แทบจำหน้าลูกศิษย์ไม่ได้เลย เพราะนอกจากก้มหน้าก้มตาอ่านตำราสอนแล้ว ยังไม่คิดที่จะปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนด้วย
"เราก็เข้าใจนะว่า อาจารย์เขาไม่ได้อยากมาสอน ไม่ได้อยากมาเป็นทหาร ก็สอนแค่ไม่กี่ครั้ง เท่าที่จำได้ ไม่เคยเห็น อ.อภิสิทธิ์ สวมเครื่องแบบทหารยศร้อยตรีเลย ตอนมาสอน ก็แต่ตอนที่ใส่ "หูกระทะ" ตอนเข้ามาเป็นนายทหารใหม่ๆ ยังเป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือนอยู่ ยังไม่ได้แต่งเครื่องแบบเขียวเลย พอได้ข่าวอีกที ก็ลาออกไปแล้ว" ลูกศิษย์คนหนึ่งเล่า
ท่ามกลางเสียงซุบซิบว่า เป็นทหารแค่ไม่ถึงปี แล้วลาออก จะต้องเสียค่าปรับหรือไม่ เท่าใด เพราะตามระเบียบจะต้องเป็นทหารอย่างน้อย 2 ปี
แต่เพราะความสนิทสนมของบิดาของนายอภิสิทธิ์ กับผู้นำกองทัพในยุคนั้น ภายใต้การนำของ บิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทบ. และแผงอำนาจ จปร.5
ไม่แค่นั้น ผลการแถลงข่าวของ พล.อ.อ.สุกำพล ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ทบ. มีความพยายามในการปกปิดผลการสอบสวนเรื่องของนายอภิสิทธิ์ มาตลอด
เพราะในปี 2542 ซึ่งเป็นยุคของ บิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็น ผบ.ทบ. ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ก็ปิดเงียบเรื่องนี้ และไม่มีการลงทัณฑ์ แม้คณะกรรมการจะเสนอให้ลงทัณฑ์ก็ตาม ยิ่งในยุค 3 ป. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. ก็ยิ่งเงียบ โดย พล.อ.อนุพงษ์ ย้ำว่า "หมดอายุความไปแล้ว" เท่านั้น
อีกทั้งยังสะท้อนการแบ่งแยกเป็นขั้วใน ทบ. เพราะกว่าที่คณะกรรมการสอบสวนฯ ของกลาโหม ที่ พล.อ.อ.สุกำพล แต่งตั้งนั้น จะได้เอกสารต้นขั้ว สด.9 และเอกสารต่างๆ ของนายอภิสิทธิ์ ที่เขตพระโขนง จากสัสดีกรุงเทพฯ มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ได้นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อ้างแค่คำสั่ง รมว.กลาโหม ไม่ได้ผล ต้องให้บิ๊กใน ทบ. สั่งการ นั่นจึงเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนการแถลงข่าวจาก 24 กรกฎาคม มาเป็น 27 กรกฎาคม
งานนี้ดูๆ ไม่มีทหารคนไหนอยากเอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะเกรงว่า หากอำมาตย์พลิกเกมและหนุนพรรคประชาธิปัตย์ กลับมาเป็นรัฐบาลอีก พวกเขาจะเดือดร้อน
แต่เกมการเมืองในการเช็กบิลนายอภิสิทธิ์ เช่นนี้ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. ลำบากใจ เพราะก่อนหน้านั้น เขาออกมาบอกว่า ผลการสอบสวนของ ทบ. เมื่อปี 2542 จบไปแล้ว สรุปว่า "ไม่มีมูล" ทั้งๆ ที่ผลสอบสวนนั้น เสนอให้มีการลงทัณฑ์ทางวินัย พันเอกหญิง คนหนึ่ง และดำเนินคดีอาญาต่อ พันตรี อีกคนหนึ่ง
เรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นนี้ จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ อารมณ์ไม่ดี แถมทั้งมีเหตุรุนแรงในภาคใต้ช่วง "รอมฎอนเดือด" มาตลอด ยิ่งเมื่อโจรใต้ 16 คนใช้ปิกอัพ 3 คันยิงกราดใส่ทหารชุดลาดตระเวนด้วยมอเตอร์ไซค์ 2 คันที่กำลังกลับฐาน ที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี เมื่อ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา และมีภาพจากวงจรปิดให้เห็นปฏิบัติการที่อุกอาจชัดเจน จนสะเทือนใจคนไทยทั้งประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ จึงยิ่งอารมณ์เสีย แต่ก็ไม่อาจทำอะไรได้ เพราะทหารในพื้นที่ก็ปฏิบัติตามยุทธวิธีที่เขาแนะนำทุกอย่างหมดแล้ว จึงได้แต่โวยตำรวจปัตตานี ที่ปล่อยภาพจากวงจรปิดให้สื่อนำมาเผยแพร่ ที่ยิ่งเป็นการสร้างเครดิตให้โจรใต้ ที่อาจทำให้เพิ่มแนวร่วม ทั้งในและนอกประเทศ และทำให้ประชาชนหวาดกลัว ทหารก็เสียขวัญ พร้อมขอให้ทีวีทุกช่องและสื่อหยุดการเผยแพร่ภาพเหล่านั้น
แถมอารมณ์เสียที่สื่อและคอลัมนิสต์วิพากษ์การแก้ปัญหาใต้อย่างไม่เข้าใจ ทั้งการกล่าวหา ทหารเลี้ยงไข้ ทหารยังไม่รู้ว่าตัวเองสู้อยู่กับใคร
แต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปรี๊ดสุดกลับเป็น "โปรยข่าว" ของสื่อบางฉบับ ที่มองการแถลงข่าวของ รมว.กลาโหม ยันนายอภิสิทธิ์หนีทหารนั้น เป็นเสมือนการสะท้อน "ความผิดพลาดของ ทบ." จนสั่งให้ลูกน้องจัดการให้สื่อแก้ข่าวให้ได้ พร้อมกรีดด่ากลางที่ประชุม
โดยทั่วไปแล้ว การประชุมสรุปสถานการณ์รายวันของ ทบ. หรือที่เรียกว่า Morning Brief ทุกเช้า จะเป็นเวทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ระบายอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ต่อเหตุการณ์และข่าวที่เกิดขึ้น รวมทั้งการกวดขันติดตามการสั่งการต่างๆ มากมาย จนได้ฉายา "ผบ.ทบ.ร้อยเรื่อง" จนกลายเป็นเวทีเดี่ยวไมโครโฟน และมักด่าสื่อแบบเรียงตัวรายฉบับ เรียกว่านานๆ ทีที่จะได้เห็น บิ๊กตู่ ยิ้มอารมณ์ดีในเวทีนี้
แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้เป็นประธานการประชุมเองทุกครั้ง เพราะจะมอบหมายให้ รอง ผบ.ทบ. หรือห้าเสือ ทบ. คนอื่นๆ เข้าแทน แต่หากมีเรื่องสำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มักจะมี "จดหมายน้อย" ฝากข้อความมาถึงที่ประชุม
แต่ที่ฮาคือ การประชุมนี้มีการถ่ายทอดผ่านระบบ Teleconference ไปยังกองทัพภาคต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ทว่า กลับให้ถ่ายทอดแค่เฉพาะภาพเท่านั้น ไม่เปิดเสียงให้ฟัง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องการให้ได้ยินเวลาตำหนินายทหารชั้นผู้ใหญ่อาจทำให้เสียการปกครองของนายทหารที่ถูกตำหนิ และกลัวข่าวในห้องประชุมรั่วไหลด้วย จนทำให้แต่ละกองทัพภาคต่างๆ ต้องหัดอ่านปากกันแล้ว
ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ พยายามไม่พาดพิงเรื่องการเมือง ในเวทีนี้ เพราะกลัวข่าวรั่วก็ตาม แต่ก็มักอดไม่ได้ มักจะต้องเหน็บ ประชด พาดพิง เปรยๆ เสมอๆ
มอร์นิ่ง บรี๊ฟ จึงกลายเป็นดัชนีชี้วัดอุณหภูมิใน ทบ. และอุณหภูมิการเมือง โดยเฉพาะความร้อนในหัวใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นอย่างดี แบบที่ใครๆ ก็ต้องเงี่ยหูฟัง