"ดร.นันทวัฒน์-โคทม" แนะทางออก "กม.ปรองดอง"

มติชน 7 สิงหาคม 2555 >>>




แนะทางออก ′กม.ปรองดอง′ รายงานพิเศษ ข่าวสด 7 ส.ค. 2555 ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ที่รัฐบาลยังไม่ถอนออกจากสภา ทำให้ฝ่ายตรงข้ามมองรัฐบาลด้วยความหวาดระแวง กลัวจะลักไก่หยิบขึ้นมาพิจารณา
ประเด็นนี้จึงถูกจับตา จะเป็นชนวนทำให้สถานการณ์ทางการเมืองระอุขึ้นอีกหรือไม่ มีความเห็นจากนักกฎหมายมหาชน และนักสันติวิธี  ถึงทางออกในเรื่องนี้

ศ.ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ บ.ก.เว็บไซต์ www.pub-law.net

การจะพิจารณาหรือไม่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง สภาเป็นฝ่ายที่รู้ดีที่สุดว่าควรหยิบยกมาพิจารณาตอนไหน ถ้าเห็นว่าเรื่องปากท้องของประชาชนมีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่าก็ค้างไว้แล้วพิจารณาเรื่องอื่นก่อน
อย่างไรก็ตาม ผมไม่เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง จะมีประโยชน์หากยังไม่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เพราะกฎหมายปรองดองใช้ได้กับบางคนเท่านั้น ถามว่าญาติของคนที่ถูกยิงที่หน้าวัดปทุมฯ เขาจะยอมรับหรือไม่ เขาก็ไม่ยอมรับและยังมีความโกรธแค้น หากเป็นเช่นนั้นร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง จะมีประโยชน์อะไร และผมยังไม่เชื่อว่าการปรองดองที่พยายามทำกันอยู่จะแก้ปัญหาอะไรได้ นอกจากจะทำได้ยากแล้วหากต้องการให้เกิดผลดีในทางปฏิบัติก็ยิ่งยากเข้าไปอีก
ปัญหาพื้นฐานที่เราต้องทำความเข้าใจก่อนจะคิดทำการปรองดองคือ พยายามทำความเข้าใจในพฤติ กรรมของมนุษย์ว่าเมื่อต้องเผชิญปัญหาต่างๆ ที่ร้ายแรง หรือต้องเจอข้อขัดแย้ง ส่วนใหญ่มักจะสู้รบกันก่อน เมื่อไม่ชนะแล้วจึงค่อยหันกลับมาเจรจาสงบศึก การปรองดองจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายที่มนุษย์ส่วนหนึ่งใช้เพื่อให้ได้ข้อยุติในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ผมคงไม่สามารถฟันธงได้ว่าการให้สภาพิจารณากับไม่พิจารณาแบบไหนจะเป็นผลดี เพราะยังมีความขัดแย้งในสังคม ยังไม่ยอมรับกันและกัน
ผมยังยืนยันว่ารัฐสภาควรรอข้อสรุปของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน เพื่อให้เกิดการยอมรับ เพราะเราจะเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นว่ากฎ หมายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมาก กว่าคนบางกลุ่มหรือไม่
จากนั้นจึงมาดูว่าจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เลยหรือต้องถอนออกไป และเชื่อว่าหากรอข้อสรุปของ คอป. จะช่วยลดความขัดแย้งจากฝ่ายที่เห็นต่างได้
เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขณะเป็นนายกฯ เป็นคนที่แต่งตั้งนายคณิต เป็นประธาน คอป. เอง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเข้ามาเป็นนายกฯ ก็ให้ คอป. ทำหน้าที่ต่อ เท่ากับทั้ง 2 ฝ่าย ต้องยอมรับสิ่งที่ คอป. สรุปออกมา
นายอภิสิทธิ์ ต้องฟัง ต้องไว้ใจ แม้จะค้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ก็ตาม ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ต้องยอมรับหากผลสรุปออกมาว่าไม่เหมาะสมที่จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เพราะเป็นคนที่ยืนยันให้ คอป. ทำงานต่อ
เมื่อฝ่ายการเมืองรับได้ปัญหานอกสภาน่าจะ เบาบาง ที่สำคัญคนในสภาต้องออกมาแถลงให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นคนที่เลือกนายคณิตมาเอง
ความขัดแย้งเรื่องการพิจารณาหรือไม่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ผมเห็นว่าเป็นความไม่รอบ คอบของรัฐบาลที่รีบร้อน เพราะคำตอบที่ดีที่สุดแก่ประชาชนและควรต้องทำมากที่สุดคือรอ คอป.
หากข้อสรุปของ คอป. สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ปรองดอง ก็หยิบยกมาพิจารณา แต่หากไม่สอดคล้องก็ถอนออกไป ตอนนี้ก็ประกาศให้ชัดว่าจะไม่ทำอะไรเพื่อลดความระแวง

โคทม อารียา
ผอ.สำนักสันติวิธี ม.มหิดล

การคาไว้หรือถอนร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง ไม่ใช่สาระสำคัญของการเดินหน้าสู่ความปรองดองของสังคมไทย เพราะรัฐบาล มีสิทธิ์คาไว้จนหมดวาระสมัยประชุม หรือหากถอนออกไปก็สามารถยื่นเข้ามาใหม่เมื่อไรก็ได้
ส่วนที่กลุ่มพันธมิตรประชา ชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมชุมนุมหากสภาหยิบยก พ.ร.บ.ปรองดอง มาพิจารณา ก็หวังว่าจะไม่เป็นชนวนนำไปสู่ความรุนแรงอีก พันธมิตรต้องใช้สิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นไปอย่างสันติวิธี ไม่ทำอะไรเกินเลยเหมือนก่อน
รายงานฉบับสุดท้ายของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ครบวาระการทำงานไปแล้วเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา จะเป็น ′ตัวตั้งต้น′ของส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ผ่านมาได้
อย่างการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือการเผาตึกรามบ้านช่อง จะทราบได้หรือไม่ว่าเกิดจากการกระทำของใครและอย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับข้อเท็จจริง ยอมรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้นและมีการออกมาขอโทษ ทำให้บรรยากาศในสังคมที่ร้อนระอุบรรเทาลงมาได้
จากนั้นเข้ากระบวนการถกแถลงทั้งในภาคประชาชนและนักการเมือง เพื่อให้เกิดการคืนดี และให้สังคมเกิดความกระจ่างจากทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาจย้อนเหตุการณ์กลับไปตอนรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 หรือตั้งแต่พันธมิตรเริ่มออกมาชุมนุมก็ได้ ให้ต่างฝ่ายต่างออกมาเล่าเหตุการณ์สำคัญว่าเกิดอะไรขึ้น ควรแก้ไขอย่างไร ซึ่งจะส่งผลดีทางด้านจิตใจในการสูญเสียได้
การนิรโทษกรรมควรเริ่มที่ผู้ชุมนุม ซึ่งจะช่วยให้อารมณ์ของสังคมเย็นลง อาจนำมาซึ่งการเห็นใจ ทหาร ตำรวจ แกนนำ รวมไปจนถึงนักการเมืองที่ควบคุมนโยบายสลายการชุมนุมด้วย
ส่วนการถกเถียงเรื่องความยุติธรรมของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมาถกแถลงกันต่อว่าจะเอาอย่างไร เพราะถ้าไปแตะ คตส. สังคมก็จะมองว่าเป็นการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร