ทีมข่าว นปช.
29 สิงหาคม 2555
วันนี้ (29 ส.ค. 55) ห้อง 809 ศาลอาญา (ถ.รัชดาภิเษก) มีการสืบพยานคดีแกนนำคนงานไทรอัมพ์นัดที่ 4 จากทั้งหมด 5 นัด ซึ่งวันนี้ยังคงเป็นการนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์
สิทธิชัย ซื่อสัตย์ดี (เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐสภา) ให้การว่า ในวันที่ 27 ส.ค. 2552 ตนเองเข้าเวรช่วงเวลา 8.30-20.00 น.
เวลา 12.00 น. ได้รับแจ้งว่า จะมีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาปิดล้อมรัฐสภา เมื่อถึงเวลา 13.00 น. มีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 300-400 คนเดินทางมาปิด ถ.อู่ทองใน จนทำให้รถยนต์ไม่สามารถสัญจรได้
กลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงได้ตั้งเวทีปราศรัย มีการใช้รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียง โดยกล่าวปราศรัยจนถึงเวลา 15.00 น. มีแกนนำผลัดเปลี่ยนขึ้นพูดหลายคน แต่ตนเองเห็นเพียง 3 คนคือ จำเลยทั้ง 3 คน (น.ส.บุญรอด สายวงศ์, สุนทร บุญยอด และ น.ส.จิตรา คชเดช) เพื่อประท้วงการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจ้างงานของนายจ้าง และได้ยื่นหนังสือร้องเรียนผ่าน ส.ส. ที่เป็นตัวแทนของ อภิสิทธิ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ก่อนแยกย้ายกันกลับ
การชุมนุมดังกล่าวส่งผลให้ ถ.ราชวิถี เกิดปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนัก ซึ่งในวันดังกล่าวมีตำรวจประจำอยู่ภายในรัฐสภาประมาณ 30 นาย และภายนอกรัฐสภาอีก 20 นาย
ทีมทนายความจำเลยได้ชี้ให้ศาลเห็นว่า ในแต่ละปีมีการชุมนุมของประชาชนบริเวณหน้ารัฐสภาไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง การปิดถนนแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับว่า มีจำนวนผู้ชุมนุมมากน้อยเพียงใด
บริเวณรัฐสภามีถนนผ่านหลายเส้นทาง หากมีการปิดการจราจร ถ.อู่ทองใน ก็สามารถเลี่ยงไปใช้ถนนเส้นทางอื่นได้ ซึ่งโดยปกติจะมีการปิด ถ.อู่ทองใน หากมีการจัดงานบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า, สวนอัมพร หรือมีขบวนเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์
รัฐสภาสามารถเข้า-ออกได้ 2 เส้นทางคือ ถ.อู่ทองใน และ ถ.ราชวิถี การชุมนุมดังกล่าว แม้ทำให้ต้องปิดการจราจร ถ.อู่ทองใน แต่ ส.ส. ก็ยังสามารถเข้า-ออกบริเวณ ถ.ราชวิถี ได้ จึงไม่เป็นการขัดขวางการประชุมของรัฐสภาแต่อย่างใด
การชุมนุมในวันดังกล่าวไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายใดๆเกิดขึ้น อีกทั้งยังตำรวจมาคอยอำนวยด้านการจราจร รวมทั้งการชุมนุมดังกล่าวก็ใช้เวลาไม่นาน เมื่อยืนหนังสือเรียกร้องเสร็จก็สลายการชุมนุมอย่างรวดเร็ว
พ.ต.ท.สมบัติ เหมันต์ (พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต) ให้การว่า ในวันดังกล่าวได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้มาดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล
เวลา 10.30 น. ตนเองเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่จะย้ายไปชุมนุมต่อที่หน้ารัฐสภาเวลาประมาณ 12.00 น. ตนเองได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาขอให้ศาลออกหมายจับจำเลยทั้ง 3 ในข้อหาละเมิดประมวล กม. อาญา ม.215 (มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป) และ ม.216 (เจ้าหน้าที่สั่งให้เลิก แต่ไม่ยอมเลิก)
ทีมทนายความจำเลยได้ชี้ให้ศาลเห็นว่า การชุมนุมวันดังกล่าวประกอบด้วย 3 กลุ่มหลักคือ คนงานจาก บริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ จำกัด และ บริษัทเอนี่ออน อิเล็คทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 1,959 คน จำเลยที่ 1 และ 3 เกี่ยวข้องกับไทรอัมพ์ แต่จำเลยที่ 2 พยานโจทก์ไม่แน่ใจ
พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ เป็นผู้บังคับบัญชาของพยานโจทก์ การชุมนุมวันดังกล่าวเป็นครั้งแรกที่พยานโจทก์ต้องไปดูแลการชุมนุม ทั้งนี้สาเหตุที่พยานโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ช้า เพราะเอกสารต่างๆค้างอยู่ในชั้นอัยการเป็นเวลานาน
การชุมนุมดังกล่าวมีผู้มาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากจนล้นออกมาที่ถนน (หน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล) ไม่ใช่การจงใจปิดถนนแต่อย่างใด การที่พยานโจทก์อ้างว่า จำเลยทั้ง 3 ละเมิดประมวล กม. อาญา ม.215 จึงไม่ถูกต้อง
เหตุผลในการชุมนุมดังกล่าวคือ การเรียกร้องความเป็นธรรมจากการถูกเลิกจ้าง ไม่ใช่การมั่วสุมทางการเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจควรพิจารณาถึงเหตุผลที่ผู้ชุมนุมต้องลงไปอยู่บนท้องถนน ทั้งนี้ตนเองเชื่อว่า การฟ้องร้องครั้งนี้มีสาเหตุเกิดจากความโกรธเคืองของผู้บังคับบัญชาของพยานโจทก์ เนื่องจากในวันดังกล่าวมีการปะทะคารมกันระหว่าง พล.ต.ต.วิชัย กับผู้ชุมนุม
ส่วนคำฟ้องที่อ้างว่า จำเลยละเมิด ม.216 นั้น แต่ในความเป็นจริงการชุมนุมดังกล่าวประกอบด้วยคนงานจาก 3 บริษัท แต่จำเลยทั้ง 3 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับ บริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ จำกัด และ บริษัทเอนี่ออน อิเล็คทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด จึงเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยจะสามารถสั่งการให้คนงานจาก 2 บริษัทดังกล่าวปฏิบัติตาม
หลังจากสืบพยานโจทก์ทั้งหมดเสร็จ ทีมทนายความจำเลยได้แจ้งต่อศาลว่า จำเลยจะนำพยานมาให้การต่อศาลจำนวน 11 ปาก แต่วันนัดสืบพยานเหลือเพียง 1 นัดคือวันพรุ่งนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะสืบพยานจำเลยให้เสร็จภายในวันพรุ่งนี้
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุสมควรให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยออกไป จึงกำหนดวันสืบพยานจำเลยครั้งใหม่ 3 นัดระหว่างวันที่ 28-30 พ.ค. 2556