อำนาจตุลาการกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

กรุงเทพธุรกิจ 7 สิงหาคม 2555 >>>




สัมมนาวิชาการ เรื่อง"อำนาจตุลาการกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" 'นิติราษฎร์' ชี้ศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยแก้ รธน.

ที่ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ได้จัดงานวันรพี ประจำปี 2555 เพื่อเทิดพระเกียรติ และรำลึกถึงพระเกียรติคุณของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ในฐานะทรงเป็นผู้พัฒนากิจการด้านนิติศาสตร์ และกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยครั้งนี้ได้จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง"อำนาจตุลาการกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" มีวิทยากรร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิการ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา สมาชิกพรรคเพื่อไทย อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และนายปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 ใน 7 นักวิชาการคณะนิติราษฎร์
นายปูนเทพ กล่าวว่า ประเด็นตุลาการจะเข้ามาคุมแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่ จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าไม่มีประเด็นไหนห้ามแก้ ศาลจะเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้ ซึ่งศาลจะเข้ามาได้ใน 3 ลักษณะ ประกอบด้วย
1. ประเทศที่ใช้ระบบการกระจายอำนาจในการตีความ
2. ประเทศที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีเขตอำนาจจำกัด ต้องมีอำนาจโดยที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจน หรือต้องมีรัฐธรรมนูญเขียนไว้ เช่น ในประเทศตุรกี โรมาเนีย และ
3. ประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมาย ให้ศาลเข้ามาตรวจสอบได้ เช่น ในประเทศเยอรมัน
ซึ่งช่องทางที่ 3 มีนักวิชาการของไทยหลายคนพยายามเสนอ แต่ภายใต้โครงสร้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปัจจุบัน กลับไม่มีช่องทางไหนที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยจะมาตรวจสอบแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ ส่วนถามว่าจะแก้รายมาตรา 291 มาตรา 291 ห้ามแค่ว่าห้ามเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือยกเลิกประชาธิปไตย แต่ถ้าจะมีการยกเลิกองค์มนตรี ศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้ เพราะไม่กระทบกับแก่นของรัฐธรรมนูญ
นายปูนเทพ กล่าวต่อว่า ขณะที่แนวคิดศาลรัฐธรรมนูญจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งอำนาจที่เกิดขึ้นนั้นองค์กรควบคุมต้องมีประชาธิปไตยหรือต้องเชื่อมโยง กับประชาชน ต้องตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับไปล้มล้างการกระทำของผู้แทนที่มาจากประชาชน ศาลจึงต้องมีความชอบธรรมเช่นเดียวกับสภา ดังนั้นการเข้าสู่ตำแหน่งของศาลจะต้องมาจากผู้แทนประชาชนเช่นกัน ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรัฐบาลได้ตั้งทีมมาพิจารณาคำวินิจฉัยศาลมาเพื่อวิเคราะห์ ว่าจะทำอย่างไรให้ระบบนี้จะอยู่ต่อไป แต่คนทำผิดต่อรัฐธรรมนูญคือศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในอนาคตถ้าอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาได้ ต้องมีการเขียนในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดการถกเถียงแบบนี้
นายคำนูณ กล่าวว่า ถ้ามีนักกฎหมายนั่งอยู่ 3-4 คน เมื่อมีประเด็นข้อกฎหมายจะมีมุมมองที่แตกต่าง หรือเหมือนกันบ้าง แต่ที่สุดไม่มีใครตอบได้ว่าความเห็นของตัวเองถูกต้อง หรือส่วนของคนอื่นผิดพลาด รัฐธรรมนูญจึงออกแบบให้มีองค์กรทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาด และผูกพันธ์ทุกองค์กร ก็คือศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันศุกร์ 13 ก.ค. ถือว่าเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา และองค์กรรัฐอื่น ส่วนใครจะเห็นต่างอย่างไรก็ได้ แต่ความเห็นขององค์กรถือว่าผูกพันธ์และต้องปฎิบัติตาม ไม่นั้นสังคมจะไม่ได้ข้อยุติ ส่วนทางการเมืองจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรเป็นอีกเรื่องต้องดำเนินการต่อ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา 4 ประเด็น ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ศาลมีอำนาจรับคำร้องของประชาชนโดยตรงตาม มาตรา 68 วรรค 2 จึงมีความชัดเจนขึ้นจากนี้
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ตามมาตรา 291 แต่การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มีสิ่งผิดปกติ แม้ว่าทางลายลักษณ์อักษรมีการแก้เพียงมาตราเดียวใน มาตรา 291 ให้เกิดหมวดใหม่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และเมื่อได้รัฐธรรมนูญก็ให้ประชาชนลงประชามติ ถ้าประชาชนรับประชามติก็ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทันที และยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือเรียกว่าฉบับมาตุฆาตร จึงมีคำถามว่าการแก้ไขมาตราเดียวแต่มีผลยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้นถูก ต้องหรือไม่ นอกจากนี้ตามมาตรา 68 ตอนแรกคิดว่าการยื่นตามมาตรานี้ ตนดูตามลายลักษณ์อักษร เหมือนจะเข้าใจว่าต้องยื่นที่อัยการก่อน แต่เมื่อศาลรับคำร้องตามคำวินิจฉัย ก็เข้าใจเหตุผลของศาล และรับได้ ซึ่งอยู่ในหมวดสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพื่อให้อำนาจศาลในการยับยั้งและเพิกถอนการกระทำนั้นได้เช่นกัน
   "สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ 2550 ถ้าฉบับนี้มีฉันทามติของคนทั้งประเทศ แต่บังเอิญมีความขัดแย้งทางการเมือง ของกลุ่มที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ต้องยกเลิก เพราะเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการปล่อยไว้ไม่ได้ แต่อีกกลุ่มเห็นต่างว่าการยกเลิกทั้งฉบับไม่ได้ เพราะล้มล้างความผิดอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 คนกลุ่มนี้จึงถูกจัดว่าพิทักษ์รัฐธรรมนูญ จึงหนีไม่พ้นปัญหาขัดแย้งในบ้านเมืองในประเด็นเดิมๆที่ว่า รัฐประหารกับประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ 2550 กับรัฐธรรมนูญ 2540 หรือเอาทักษิณ กับไม่เอาทักษิณ" นายคำนูณ กล่าว
ด้านนายคมสัน กล่าวว่า จริงๆแล้วอำนาจหลายประเทศมีมากกว่า 3 อำนาจ นอกจากฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่ก็เพิ่มการตรวจสอบเป็นอำนาจที่ 4 เข้ามาด้วย ซึ่งหลักการรัฐธรรมนูญเป็นการคุ้มครองเสรีภาพประชาชน โดยในมาตรา 68 มีวาทะกรรมโต้แย้งในสังคมค่อนข้างมากว่าศาลมีอำนาจหรือไม่ ซึ่งจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อ 13 ก.ค. นั้น ถือเป็นสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะยอมให้อัยการสูงสุดมาทอนสิทธิประชาชนโดยไม่สามารถเสนอศาลได้หรือไม่ จึงมี 3 แนวคิดจากความเห็นนักวิชาการตามมาตรา 68 แบ่งเป็น
1. การยื่นคำร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด
2. ตามมาตรา 68 วรรค 2 ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวสามารถใช้สิทธิเสนอต่ออัยการสูงสุดได้ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัย และ
3. การใช้สิทธิพิทักรัฐธรรมนูญมีสิทธิยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด หรือยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

นายคมสัน กล่าวด้วยว่า วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถือว่ายุติสงครามระหว่างสีได้ระดับหนึ่ง แต่การแก้รัฐธรรมนูญในทางการเมืองมีธงไว้อยู่แล้ว เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องการเมืองมากกว่าวิชาการ จึงของให้ทำใจ แต่เรื่องนี้จะเป็นบรรทัดฐานในคำวิจิฉัยตามาตรา 68 ในอนาคต ว่ามีความสมบูรณ์สิทธิเสรีภาพอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ประชาชนพร้อมหรือไม่ที่จะให้สิทธิพรรคการเมืองมาตัดสินรัฐธรรมนูญ ถึงการวินิจฉัยจะมีการตีความอย่างไร แต่เจตนารมณ์คือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของนัฐธรรมนูญ หรือไม่ ความจริงแล้วตนอยากให้รัฐธรรมนูญไทยมีแค่ 7 มาตรา แต่ต้องมีนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ดีกว่านี้ เพราะเมื่อใดมีเรื่องที่กระทบกับการเมืองก็จะเกิดปรากฎการณ์อย่างนี้ขึ้นมา

ขณะ ที่นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านการลงประชามติ แต่ศาลกลับไม่ได้พูดถึงว่าเป็นการลงประชามติแบบไหน ที่ผ่านมาส.ส.ได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สสร.ยกร่าง เมื่อแล้วเสร็จก็ต้องไปลงประชามติ ซึ่งคนที่ตัดสินใจขั้นสุดท้ายคือประชาชน เมื่อเสนอแบบนี้ก็มีทางเลือกชัดเจนว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แตกต่างจากการลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งทางเลือกไม่ชัดเจน ส่วนคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 นั้น ซึ่งผูกที่ถูกร้องก็ต่อสู้ว่า การที่สภาพิจารณาญัตติตามอำนาจหน้าที่ ถือว่าไม่เข้ามาตรา 68 ตั้งแต่ต้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจรับคำร้อง ซึ่งประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้พูดถึงในคำวินิจฉัยกลาง แต่มีตุลาการบางคนที่เขียนในคำวินิจฉัยส่วนตนก็มีเนื้อหาที่ไม่เข้าใจหลายคน

นาย พงศ์เทพ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีความขัดแย้งในสังคมไทย ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่สูงมาก สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถ้ามาแลกเปลี่ยนความเห็นจะเป็นการหาทางออกร่วมกัน แต่คนเป็นกรรมการคือตุลาการต้องยึดมั่นความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ไม่มีอคติ เพราะถ้าองค์กรตุลาการน่าเชื่อถือ ตัดสินเที่ยงธรรม ก็จะทำให้คนเชื่อ แต่ทุกวันศาลตัดสินผิดทุกวัน คดีสำนวนเดียวกัน ศาลชั้นต้นบอกจำเลยผิดต้องจำคุก ศาลอุทรณ์บอกจำเลยไม่ผิด แต่ศาลฎีกากลับบอกให้เริ้มต้นสืบพยานใหม่ ดังนั้นจริยธรรมตุลาการจะทำให้คนเชื่อถือได้ ถ้ามีความไม่เชื่อถือครั้งเดียว จะตัดสินกี่ครั้งคนก็ไม่เชื่อ ซึ่งศาลไทยจะเข้ามาแก้ปัญหาให้สังคมไทยได้ แต่ถ้าตัดสินแล้วไม่น่าเชื่อถือก็อย่าไปตัดสิน